"เหยื่อมนุษยธรรม" ผลพวงสงคราม "ยูเครน"

"เหยื่อมนุษยธรรม" ผลพวงสงคราม "ยูเครน"

"เหยื่อมนุษยธรรม" ผลพวงสงครามยูเครน โดยสหรัฐเริ่มยอมรับชาวยูเครนด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเวลา 1 ปีเริ่มตั้งแต่วันอังคาร (15มี.ค.) อย่างเงียบๆ

การทำสงครามในยูเครนของรัสเซียที่ล่วงเข้าสู่วันที่ 24 แล้วนั้น ทำให้เกิดกระแสอพยพออกจากประเทศทั้งจากยูเครนที่ถูกกองทัพรัสเซียโจมตีและอพยพออกจากรัสเซีย โดยพลเมืองทั้งรัสเซียและพลเมืองยูเครนพยายามลี้ภัยเข้าไปสหรัฐผ่านจากฝั่งเม็กซิโก

เมื่อวันศุกร์ (18มี.ค.) มีพลเมืองรัสเซียราว 34 คน ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐบริเวณด่านข้ามพรมแดนทางบกกั้นระหว่างเมืองติฮวนนาของเม็กซิโกปฏิเสธไม่ยอมให้เข้าเมือง ขณะที่กลุ่มผู้ลี้ภัยจากยูเครน แค่แสดงหนังสือเดินทางสัญชาติยูเครนออกมาก็ได้รับอนุญาตพาเข้าไปด้านในทันที ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความแตกต่างในการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันจากรัฐบาลสหรัฐ ที่ไม่กี่วันก่อนอนุญาตให้พลเมืองรัสเซียสามารถผ่านเข้าไปได้แต่กลับปฏิเสธพลเมืองยูเครน    

“เอริกา พินเฮโร”ผู้อำนวยการด้านนโยบายและการดำเนินการทางกฎหมายของกลุ่มเอ็นจีโอชื่อ อัล โอโทร ลาโด(Al Otro Lado) ระบุว่า สหรัฐเริ่มยอมรับชาวยูเครนด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเวลา 1 ปีเริ่มตั้งแต่วันอังคาร (15มี.ค.) อย่างเงียบๆ

ขณะที่ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (17มี.ค.)ว่า พลเมืองยูเครนได้รับการยกเว้นจากการตรวจคัดกรองความปลอดภัยเนื่องมาจากโรคโควิด-19 แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่ไม่มีการกล่าวไปถึงพลเมืองรัสเซีย

ตั้งแต่ก.ย.ปี 2564 มาจนถึงก.พ. 2565 มีพลเมืองยูเครนจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,500 คนที่เข้าสู่สหรัฐผ่านทางเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 35 เท่าจากระยะเวลาก่อนหน้าที่มีเพียงชาวยูเครนแค่ 45 คนเท่านั้นที่ผ่านเข้าสหรัฐจากเม็กซิโก และในช่วงเวลาก.ย. ปี 2564 มาจนถึงเดือนก.พ. ปี 2565 มีพลเมืองรัสเซียเข้าสู่สหรัฐจากเม็กซิโกกว่า 8,600 คน เพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่าจากระยะเวลาก่อนหน้าที่ 288 คนเท่านั้น และมีเพียง 23 คนจากทั้งหมดที่ดำเนินการภายใต้กฎหมายอนุญาตให้เข้าไปลี้ภัยในสหรัฐ

ขณะที่การสู้รบทำให้เกิดคลื่นอพยพทั้งจากรัสเซียและยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ก็กล่าวปราศรัยสดผ่านวิดีโอต่อกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านสงครามในยูเครนที่รวมตัวกันหน้ารัฐสภาในกรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันเสาร์(19มี.ค.) โดยมีประธานาธิบดีอิกนาซิโอ กัสซิส ของสวิตเซอร์แลนด์ และเอกอัครราชทูตของยูเครนและอีกหลายประเทศขึ้นเวทีปราศรัยด้วย

ประธานาธิบดีเซเลนสกี เรียกร้องให้ธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์อายัดทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรัสเซียที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง โดยกล่าวหาว่าพวกเขามีส่วนช่วยก่อสงคราม

อย่างไรก็ตาม แม้สวิตเซอร์แลนด์มีสถานะเป็นกลางและไม่ใช่สมาชิกของสหภาพยุโรป(อียู) แต่ก็ร่วมบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบเดียวกับอียูต่อบุคคลและนิติบุคคลของรัสเซียและอายัดทรัพย์สินของพวกเขาในธนาคารสวิส ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ประเมินว่า ธนาคารใน สวิตเซอร์แลนด์เป็นที่รับฝากทรัพย์สินของชาวรัสเซียรวม 213,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกี ยังตำหนิธุรกิจต่าง ๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ที่ยังดำเนินกิจการในรัสเซีย โดยระบุชื่อ เนสท์เล่ ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ด้วย แต่บริษัทยืนยันว่า ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรทุกอย่าง รวมถึงหยุดนำเข้าและส่งออกอาหารที่ไม่จำเป็นต่อรัสเซีย

ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ รายงานความสูญเสียของสงครามในยูเครนว่า มีพลเรือนเสียชีวิต 847 ราย ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วย 64 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 1,399 คนในยูเครนนับ ตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนจนถึงวันที่ 18 มี.ค.

สาเหตุหลักของการเสียชีวิตและการบาดเจ็บ คือปืนใหญ่ จรวด ขีปนาวุธ และการโจมตีทางอากาศ แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้      

นอกจากนี้ ยังมีผู้อพยพหนีภัยสงครามออกจากยูเครนจำนวนกว่า 3.3 ล้านคน และอีกเกือบ 6.5 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ในยูเครน

ในส่วนของบริษัทเนสท์เล่ ระบุว่า บริษัทได้ลดบทบาททางธุรกิจในรัสเซียลงมากแล้ว รวมทั้งหยุดนำเข้าและส่งออกสินค้าทั้งหมดจากรัสเซียยกเว้นอาหารที่จำเป็น

นอกจากนี้ ทางการยูเครน เปิดเผยด้วยว่า กองทัพรัสเซียได้ทำการโจมตีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ใช้เป็นที่หลบภัยของชาวมารีอูปอลราว 400 คน ทำให้อาคารถูกทำลาย ขณะที่ผู้คนก็ติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพัง โดยผู้ที่หลบภัยอยู่ในโรงเรียนดังกล่าวมีทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของผู้ที่หลบอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ เพราะการสื่อสารจากมารีอูปอลทำได้ยากลำบากมาก ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี ซึ่งเป็นผู้รายงานข่าวดังกล่าวรายงานว่ายังไม่สามารถตรวจสอบเพื่อยืนยันข่าวได้