'ย่านฝรั่งในบางกอก' เส้นทางความมั่งคั่งกรุงเทพฯ
“ย่านฝรั่งในบางกอก” ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร บอกเล่าเรื่องราวชีวิตชาวตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทด้านการต่างประเทศ วัฒนธรรม และการค้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงรัชกาลที่ 6 อย่างไรไปร่วมหาคำตอบนี้ได้กับกระทรวงการต่างประเทศ
กระทรวงต่างประเทศจัดโครงการพาสื่อมวลชนล่องเรืออิเล็กทริกส์เฟอร์รี่ย้อนรอยความรุ่งเรืองในอดีตที่บ่มเพาะความเจริญให้เกิดขึ้นในปัจุบัน เริ่มต้นกันที่ท่าน้ำวัดราชาธิวาสวิหาร ไปยังโบสถ์ซานตาครูซ ย่านกุฎีจีน โบสถ์กาลหว่าร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย และโบสถ์อัสสัมชัญ
“รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉายภาพทางประวัติศาสตร์เส้นทางสู่ความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันว่า แนวทางการพัฒนาสยามที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับประเทศไทย มาจากการเลือกสรรนำเอาความเจริญในหลายด้านของชาติตะวันตกมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความเป็นไทย
ชาวตะวันตกที่เดินทางมาสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน เข้ามาทำงานให้กับราชสำนักในรัชกาลที่4 ซึ่งแตกต่างจากสมัยอยุธยาที่ต่างชาติเดินทางมาเพื่อวัตถุประสงค์ของตนเอง ไม่ว่าจะค้าขาย หรือเผยแพร่ศาสนา
โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสนพระราชหฤทัยความเจริญและเปิดรับทำการค้ากับชาติตะวันตก และเมื่อครั้งสมัยพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงชักชวนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญของประเทศนั้นๆ มาทำงานกับสยามมากขึ้น เช่น ชาวฮอลันดามาสร้างเขื่อนและทำการรชลประทาน ชาวเยอรมนีวางระบบทางรถไฟและขุดคลองเช่นคลองรังสิต ชาวอังกฤษพัฒนาระบบไฟฟ้าและไปรษณีย์
ชาวเบลเยียมดูแลด้านกฎหมาย ศิลปินชาวอิตาลีทำหน้าที่สถาปนิกและจิตกร เช่น ภาพเขียนเฟรสโก้บนผนังในอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร นอกจากนี้ยังมีพระยาวาสุเทพหรือกุสตาฟ เป็นชาวเดนมาร์กเป็นผู้วางรากฐานงานตำรวจ
ฝรั่งรู้จัก “บางกอก” ตั้งแต่สมัยอยุธยา
ฝรั่งส่วนใหญ่ในอดีตต่างรู้จัก “เมืองบางกอก” เป็นชื่อแรกที่ใช้เรียกชื่อเมืองสำคัญแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนถึงอยุธยา หรือพูดกันง่ายๆ คือ ฝรั่งทุกคนที่เดินทางโดยเรือไปยังอยุธยา จะต้องผ่านเมืองบางกอกและเห็นความรุ่งเรืองเมืองบางกอกที่มีแม่น้ำผ่ากลาง มีเมือง 2 ฝั่งคือเมืองฝั่งตะวันออกที่เรียกว่า “ฝั่งธนฯ” เป็นฝั่งของเมืองบางกอก ส่วนเมืองทางตะวันตกเป็น "ฝั่งพระนคร" ในปัจจุบันนี้ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเมืองบางกอกในอดีต
ย่านฝรั่งสองฝากฝั่ง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
ชุมชนฝรั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา บางกลุ่มเป็นชุมชนฝรั่งดั้งเดิมในสมัยอยุธยา ขณะที่บางกลุ่มหายไปด้วยสภาพทางสังคมตอนนั้น ยกตัวอย่างชุมชนที่ตั้งเลยปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาหรือแถวพระประแดง มีหมู่บ้านชื่อ "อัมสเตอร์ดัมลอร์ด"
ขณะที่พื้นที่นับตั้งแต่ย่านสาทร ไล่มาสู่พื้นที่บริเวณสะพานซังฮี้ มีชาวฝรั่งและหลายเชื้อชาติตั้งถิ่นฐานอยู่เยอะมาก อย่างที่เห็นที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เป็นชุมชนคนไทยและคนญวนที่มาจากเวียดนาม ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์
ในอดีตชุมชนแรกที่นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาคือ กลุ่มคริสต์ญวน มีหลักฐานชัดเจนว่าเข้ามาตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยภายหลังได้ตั้งถิ่นฐานแถบสามเสน ในอดีตเป็นที่ตั้งวัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาส และวัดสมอแครงหรือวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ในย่านนี้มีชาวต่างชาติทั้งชาวฝรั่งและต่างชาติมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาช่วยพัฒนาเมือง
“อยุธยากับบางกอก มีนโยบายรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเมืองที่เหมือนกันคือ จะไม่ให้ฝรั่งอาศัยใกล้เขตชั้นในพระนคร ที่มีพระบรมมหาราชวังเป็นหัวใจหลัก อย่างดีก็อยู่แถวเจริญกรุงที่อยู่ทางใต้” รศ.ดร.ปรีดีเล่า และเสริมว่า ส่วนรูปทรงอาคารและบ้านเรือนเริ่มเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตกแบบค่อยเป็นค่อยไป เดิมบ้านทรงไทยมาเป็นเรือนปั้นหยา มาสู่สถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์เช่นวังบางขุนพรม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นแนวทางการพัฒนาก็มีความเป็นตะวันตกยิ่งๆขึ้น
น่าสังเกตว่า ชาวต่างชาติจะอาศัยอยู่แค่บางกอก ไม่ได้ตั้งรกรากขึ้นไปถึง จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี เพราะจะเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง เช่น ไทย จีน มอญ ดังนั้นจะเห็นว่า การตั้งชุมชนฝรั่งในบางกอกขึ้นอยู่กับความสะดวกที่มีต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยพบว่าริมแม่น้ำเจ้าพระยามีคลังสินค้าของชาวตะวันตกตั้งอยู่ เช่น คาร์โก้บริษัทอีสต์เอเชียติกของอังกฤษ ในปัจจุบันคือ “เอเชียทีค” นี่ก็เป็นอีกหนึ่งร่องรอยความเจริญทางเศรษฐกิจตาม สะท้อนจากสถาปัตยกรรมของอาคาร ร้านค้า ธนาคารและสถานกงสุลของต่างชาติ
“ชาวตะวันตก” กับการทูตไทย
ขณะที่โบสถ์บ้านญวนสามเสน หรือโบสถ์คอนเซ็ปชัญ เป็นที่พักของบาทหลวงปัลเลอกัวซ์เป็นชาวฝรั่งเศสมีความรอบรู้และความสามารถเดินทางมาไทยในช่วงรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 4 โดยเข้ามาตั้งชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดที่นี่และยังเป็นผู้บูรณะโบสถ์คอนเซ็ปชัญขึ้นมาใหม่อีกครั้งทั้งนี้บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ ยังเป็นพระสหายของรัชกาลที่ 4 และเขียนพจนานุกรมสี่ภาษาเล่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือ “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท” เป็นพจนานุกรมที่รวมภาษาละติน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี และภาษาไทย โดยได้นำไปตีพิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย
บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ ยังเป็นผู้บุกเบิกความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส รวมทั้งคอยแนะนำรัชกาลที่ 4 ดูแลบรรดาทูตต่างชาติที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม ไม่ว่าชาร์ลส์ เดอ มงตีญี่ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเป็นตัวแทนจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เดินทางมาสานสัมพันธ์ทางการทูตในสมัยรัชการที่ 4
ขณะเดียวกัน บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ในฐานะทูตสยามที่ส่งไปยังฝรั่งเศสในปี 2403 นอกจากนี้ยังตรวจดูพระราชสาส์นของรัชกาลที่ 4 ที่เขียนถึงจักรพรรดินโปเลียนด้วย
“บางกอก” ศูนย์กลางการค้าในสมัยรัตนโกสินทร์
รศ.ดร.ปรีดี เล่าด้วยว่า หลังจากเซอร์จอห์น เบาว์ริงได้เข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษและประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วจะเห็นว่า สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไปเพราะทำการค้ากับต่างชาติมากขึ้น และมีการจัดผังเมืองเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งสินค้าของสยามเป็นที่ต้องการของทั่วโลก และได้รับความนิยมในหลายประเทศ เพราะคุณภาพสูงเหมาะสมกับราคา ขณะเดียวกันตลาดการค้าในสยามมีหลายระดับตอบโจทย์ที่หลากหลาย
"บางกอกเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญและคึกคักที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นทั้งผู้จัดหา ผลิตสินค้า และเส้นทางการค้าไปยังพม่า สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน ดังนั้นชาวต่างชาติแวะเมืองบางกอกเพียงจุดเดียว สามารถหาซื้อสินค้าได้ครบสรรพ ไม่ว่าเป็นข้าวสารเกรดเอ ผลไม้เมืองร้อน เครื่องปั้นดินเผาทนทานเป็นต้น หากจะไปหาของป่าก็ต้องขึ้นไปซื้อได้ที่อยุธยา นอกจากนี้บางกอกก็เป็นศูนย์กลางด้านอาหาร เพื่อรองรับต่างชาติที่มาถึงและจอดเรือพักเป็นแรมเดือน ดูจากร่องรอยที่มีตลาดเก่าแก่ที่หลงเหลืออยู่อย่างเยาวราช และตลาดน้อย ด้วยความเพียบพร้อมทุกด้าน ทั้งมีแนวโน้มความเจริญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสูงมากในภูมิภาคนี้ ถึงขั้นฝรั่งเศสเอ่ยปากขอบางกอกจากสยาม นั่นหมายถึงอยากได้กุญแจปิดปากทางเข้าสยาม แต่กษัตริย์ไทยไม่ยอมและปกป้องบางกอก" รศ.ดร.ปรีดีกล่าว
การเดินทางย้อนรอยประวัติศาสตร์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับเศรษฐกิจของบางกอกในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน รวมถึงความเป็นพหุสังคมวัฒนธรรม ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และภาคภูมิใจร่วมกัน