'สงครามรัสเซีย-ยูเครน-โควิด-ซัพพลายเชน'หนุนต้นทุนชีวิตคนเอเชียพุ่ง
'สงครามรัสเซีย-ยูเครน-โควิด19-ซัพพลายเชน'หนุนต้นทุนชีวิตคนเอเชียพุ่ง ประกอบกับการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่นในเอเชียในช่วงที่สหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้้ยอาจทำให้เศรษฐกิจของเอเชียอยู่ในภาวะชะงักงัน
พลเมืองในภูมิภาคเอเชียกำลังเจอปัญหาต้นทุนการใช้ชีวิตแพงขึ้นเพราะผลพวงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาคอขวดในระบบซัพพลายเชน และปัญหานี้จะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่พอใจ จนกลายเป็นบททดสอบสำคัญต่อรัฐบาลก่อนหน้าที่จะเกิดการเลือกตั้งในหลายประเทศ
เว็บไซต์นิกเคอิ นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยอ้างถึง “ฮิโรมิจิ อากิบะ” เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวที่ดำเนินธุรกิจภายใต้คติพจน์“นำเสนออาหารสด รสชาติดีในราคาถูก”แก่ลูกค้ามานาน30ปี ที่กำลังถูกทดสอบ เพราะต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาคอขวดในระบบซัพพลายเชน การทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากเผชิญวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 มานานสองปีเต็ม
“ตอนนี้เรามีต้นทุนเพิ่มขึ้นเดือนละ 1 ล้านเยน(8,300 ดอลลาร์)เท่ากับมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 2% ”อากิบะ ซึ่งเป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ต5แห่งในย่านซูกินามิและเนริมะในกรุงโตเกียว กล่าว และบอกว่ามีรายได้ในแต่ละเดือนประมาณ 300 ล้านเยน
เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ต วัย 53ปี บอกว่าตอนนี้มีค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำมันที่ต้องเติมรถบรรทุก20คันเพิ่มขึ้น และบิลล์ค่าน้ำมันและแก๊สที่ต้องรับผิดชอบก็เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก เช่นเดียวกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากประชากรวัยทำงานในญี่ปุ่นมีน้อยลง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้การประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปเป็นไปได้ยากมากขึ้น
ราคาค้าส่งอาหารก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนด้านการขนส่งและต้นทุนด้านอื่นๆเพิ่มขึ้น เรียกว่าอากิบะกำลังรับมือกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางธุรกิจ
“ต้นทุนอาหารทำให้เกิดภาวะตึงตัวในการจัดสรรงบประมาณครัวเรือนและผู้บริโภคก็เซนซิทีฟมากในเรื่องของราคาในทางหนึ่งเราต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นปีละ 12 ล้านเยน แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ และที่สำคัญเรายังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของสถานการณ์นี้”อากิบะ กล่าว
ต้นทุนด้านต่างๆเพิ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครนแล้ว ตอนนี้ ภาคธุรกิจของเอเชียและภาคครัวเรือนจึงถูกซ้ำเติมจากปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้นหนักข้อขึ้นไปอีก ประกอบกับสกุลเงินเอเชียอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและธนาคารกลางประเทศต่างๆพากันขึ้นดอกเบี้ย
ส่งผลให้ภูมิภาค ซึ่งมีกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่การบริโภคของประชากรในประเทศเป็นหลักกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตต้นทุนชีวิตและนี่อาจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงการเลือกตั้งในปีหน้าของบรรดาผู้นำประเทศต่างๆในภูมิภาค
“ต้นทุนการใช้ชีวิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่นในเอเชียในช่วงที่สหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้้ยอาจทำให้เศรษฐกิจของเอเชียอยู่ในภาวะชะงักงัน ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรายได้ที่แท้จริงปรับตัวร่วงลง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจในการซื้อของเอเชีย”เคนตะ โกโตะ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคันไซในโอซาก้า ให้ความเห็น
บริษัทบางแห่งตัดสินใจขึ้นค่าสินค้าและบริการแล้ว ยกตัวอย่างกรณีคอมฟอร์ทเดลโกร ผู้ให้บริการแท็กซี่รายใหญ่สุดของสิงคโปร์ ที่ขึ้นค่าโดยสารครั้งแรกในรอบ10ปีในเดือนนี้ โดยให้เหตุผลว่าแบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 10%
ส่วนในไทย บริษัทไทย เพรสิเดนท์ ฟู้ด ผู้ผลิตบะหมี่ปรุงสำเร็จมาม่า ก็ประกาศปรับราคาสินค้าขึ้นประมาณ 9% เป็นซองละ 6 บาท (0.18 ดอลลาร์)
เช่นเดียวกับ "หลุยซา คอฟฟี" เชนกาแฟสัญชาติไต้หวันที่ขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ 40 รายการ และ"คามา คาเฟ่" ก็เตรียมขึ้นราคาเป็นครั้งแรกในรอบ 5ปีและภาวะต้นทุนเพิ่มยังส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์อื่นๆตั้งแต่กระดาษชำระไปจนถึงไก่ทอดและชานมไข่มุก
ดังจะเห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคในหลายประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในไทยเพิ่มขึ้น 5.28% ในเดือนก.พ. ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วนไต้หวันเพิ่มขึ้น 2.36% ถือเป็นการปรับตัวขึ้นมากกว่า2%ติดต่อกันเป็นเดือนที่7
ในการสำรวจความคิดเห็นจัดทำโดยแบงก์ชาติสิงคโปร์เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า 94% ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในบริษัทเอกชน มองว่าเงินเฟ้อคือปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 56% ในการสำรวจเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว
“กัน คิม ยง”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เตือนว่า ชาวสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าไฟแพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ราคาที่เพิ่มขึ้นสร้างความกังวลใจแก่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อราคาเนื้อหมู ไข่ หรือแม้แต่ราคาอาหารที่ถูกมากอย่างบะหมี่สำเร็จรูปยังปรับตัวเพิ่มขึ้น
“ผมไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตยังไงในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้”สมชาย บัวเงิน คนขับรถตุ๊กตุ๊ก วัย 39 ปี ซึ่งมีรายได้วันละประมาณ 200 บาท (ประมาณ 6 ดอลลาร์) กล่าว
ขณะที่ผลสำรวจจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อเดือนก.พ.บ่งชี้ว่า 92%ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่าต้นทุนการใช้ชีวิตจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า
“ริวทาโร โคโนะ”หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบีเอ็นพี พาริบาส์ ในญี่ปุ่น กล่าวว่า ตามปกติบรรดาบริษัทญี่ปุ่นจะเลือกทำกำไรลดลงเพื่อชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแต่ถ้าต้นทุนการทำธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้มากว่าบริษัทจะผลักภาระไปให้ผู้บริโภค