“องค์กรมนุษยธรรม” ค้านข้อเสนอขับรัสเซียพ้น G20 หวั่นวิกฤติอาหาร

“องค์กรมนุษยธรรม” ค้านข้อเสนอขับรัสเซียพ้น G20 หวั่นวิกฤติอาหาร

"Welthungerhilfe" องค์กรด้านมนุษยธรรมในเยอรมนี เผย ข้อเสนอตัดรัสเซียออกจากกลุ่มประเทศ G20 และอื่น ๆ อาจทำให้ความพยายามแก้วิกฤติอาหารโลกช้าออกไปอีก ขณะที่วิกฤติดังกล่าวรุนแรงขึ้น เนื่องจากผลพวงของสงครามในยูเครน

องค์กร Welthungerhilfe (WHH) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเยอรมนีเปิดเผยว่า ข้อเสนอที่จะตัดรัสเซียออกจากกลุ่มประเทศ G20 รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ นั้น อาจทำให้ความพยายามในการแก้วิกฤติอาหารโลกล่าช้าออกไปอีก ขณะที่วิกฤติดังกล่าวรุนแรงขึ้น  เนื่องจากผลพวงของสงครามในยูเครน 

นายมาธิอัส มอกเก ประธานของ WHH กล่าวว่า การเจรจากับรัสเซียเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก

นายมอกเกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “แม้รัสเซียจะเป็นผู้รุกราน และสมควรได้รับการคว่ำบาตรก็ตาม แต่สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เราเผชิญกันทุกวันนี้ จำเป็นต้องมีการเจรจา” นอกจากนี้ ยังคาดว่า ผู้นำกลุ่ม G7 จะยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติอาหารในการประชุมนัดถัดไป

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังระบุว่า การเปิดฉากรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อเดือนก.พ. ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกดีดตัวสูงขึ้น และทำให้เกิดการขาดแคลนธัญพืชในบางประเทศของเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

นายมอกเกยังกล่าวว่า เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤติอาหารล่าสุดในปี 2550-2551 ซึ่งขณะนั้นรัสเซียยังเป็นสมาชิกกลุ่ม G8 และมีบทบาทสำคัญในการช่วยคลี่คลายปัญหาความหิวโหยทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ระบุว่า รัสเซียควรถูกถอดถอนออกจากกลุ่ม G20 แม้ผู้เชี่ยวชาญจะมองว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากอินเดีย จีน และสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่ม G20