ส่องชะตากรรมศรีลังกา ‘รัฐบาลตัดสินใจผิด ประเทศพัง’
ชาวศรีลังกาโกรธแค้นการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมากขึ้นทุก ขณะ การประท้วงเมื่อคืนวันพฤหัสบดีกลายเป็นความรุนแรง ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจยาวนานหลายชั่วโมง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ไม่สามารถจ่ายเงินซื้อสินค้านำเข้าที่จำเป็นได้ เช่น พลังงาน จนต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้านานถึง 13 ชั่วโมง
ส่วนชาวบ้านธรรมดาสามัญก็ต้องรับมือกับการขาดแคลนสินค้าจำเป็นและเงินเฟ้อพุ่งสูง หลังรัฐบาลอ่อนค่าเงินรูปีศรีลังกาลงอย่างรุนแรงเมื่อเดือนก่อน ก่อนการเจรจากู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
นักวิจารณ์กล่าวว่ารากเหง้าของวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี มาจากการจัดการเศรษฐกิจผิดพลาดจากรัฐบาลที่ผ่านๆมา เกิดการขาดดุลแฝดตลอดมาทั้งขาดดุลงบประมาณพร้อมๆ กับขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
รายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เมื่อปี 2562 ระบุ “ศรีลังกาคือเศรษฐกิจขาดดุลแฝดอย่างแท้จริง การขาดดุลแฝดส่งสัญญาณว่า ประเทศใช้จ่ายเกินรายได้ และการผลิตสินค้าและบริการไม่เพียงพอ”
แต่ประธานาธิบดีราชปักษาก็เร่งวิกฤติปัจจุบันให้เลวร้ายลงไปอีกด้วยการลดภาษีลงอย่างมากไม่กี่เดือนก่อนโควิด-19 ระบาดตามที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 ซึ่งโควิดทำลายเศรษฐกิจศรีลงกาเสียหายหนัก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและแรงงานศรีลังกาในต่างแดนที่เคยส่งเงินกลับประเทศหดหายไปเพราะโรคระบาดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดอันดับศรีลังกา เท่ากับถูกตัดออกจากตลาดทุนระหว่างประเทศทันที ในทางกลับกันโครงการจัดการหนี้ของศรีลังกาที่ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงตลาดดังกล่าวไม่เป็นไปตามแผน ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศดิ่งลงเกือบ 70% ในสองปี
ปี 2564 รัฐบาลประธานาธิบดีราชปักษาตัดสินใจห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด แม้เปลี่ยนใจภายหลัง แต่ก็ทำลายภาคการเกษตรของประเทศฉุดให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างมาก
เกิดอะไรขึ้นกับหนี้ต่างประเทศ
นับถึงเดือน ก.พ. ศรีลังกามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเหลือเพียง 2.31 พันล้านดอลลาร์ แต่ต้องจ่ายหนี้ราว 4 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ รวมถึงพันธบัตรต่างประเทศ (ไอเอสบี) 1 พันล้านดอลลาร์ที่ครบกำหนดในเดือน ก.ค.
ไอเอสบีคิดเป็นหนี้ต่างประเทศก้อนใหญ่สุดของศรีลังกาที่ 1.255 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเอดีบี ญี่ปุ่น และจีน เป็นหนึ่งในผู้ให้กู้รายใหญ่
ในรายงานทบทวนเศรษฐกิจศรีลังกาเผยแพร่เมื่อเดือนก่อน ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า หนี้สาธารณะศรีลังกาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ “ไม่ยั่งยืน” ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไม่พอชำระหนี้ระยะสั้น
ในรายงานเมื่อปลายเดือน มี.ค. ซิตีรีเสิร์ช กล่าวว่า ข้อสรุปในรายงานไอเอ็มเอฟและมาตรการล่าสุดของรัฐบาลไม่เพียงพอฟื้นฟูความยั่งยืนของหนี้สิน พร้อมทั้งชี้แนะอย่างชัดเจนว่า “ศรีลังกาจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้”
จีน-อินเดียแข่งช่วยศรีลังกา
หลายเดือนมาแล้วที่รัฐบาลประธานาธิบดีราชปักษาและธนาคารกลางศรีลังกาไม่ยอมทำตามเสียงเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญและผู้นำฝ่ายค้าน เรื่องการไปขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟแม้ความเสี่ยงสูงขึ้นทุกขณะก็ตาม แต่หลังจากราคาน้ำมันพุ่งพรวดหลังรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ. รัฐบาลก็ค่อยๆ ร่างแผนเข้าหาไอเอ็มเอฟในเดือน เม.ย.
โฆษกไอเอ็มเอฟเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ไอเอ็มเอฟจะหารือเบื้องต้นกับทางการศรีลังกาเรื่องโครงการปล่อยกู้ “ในไม่กี่วันข้างหน้า”
ก่อนกู้ไอเอ็มเอฟ ศรีลังกาลดค่าเงินลงอย่างมากยิ่งดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และสร้างความเสียหายให้กับประชาชน หลายคนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากต้องเข้าแถวยาวรอซื้อสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมัน
เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น ประธานาธิบดีราชปักษาพยายามขอความช่วยเหลือจากจีนและอินเดีย โดยเฉพาะความช่วยเหลือเรื่องเชื้อเพลิงจากฝ่ายหลัง
เดือน ก.พ.ศรีลังกาลงนามซื้อน้ำมันเงินเชื่อ 500 ล้านดอลลาร์จากอินเดียคาดว่าของจะมาถึงในวันนี้ (2 เม.ย.) นอกจากนี้ยังลงนามนำเข้าสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและยากับอินเดียอีก 1 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงสินเชื่ออีกอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลนิวเดลี
สำหรับจีนหลังจากสวอปเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์และเงินกู้ร่วม 1.3 พันล้านดอลลาร์ให้รัฐบาลศรีลังกาแล้ว ตอนนี้กำลังพิจารณาวงเงินสินเชื่อ 1.5 พันล้านดอลลาร์ และเงินกู้อีกก้อนหนึ่งมากถึง 1 พันล้านดอลลาร์