'WE RISE Together' จัดซื้อจัดจ้างอย่างเท่าเทียม

'WE RISE Together'  จัดซื้อจัดจ้างอย่างเท่าเทียม

ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศมีอยู่ในหลายๆ เรื่องรอบตัว รัฐบาลออสเตรเลียร่วมกับ UN Women เปิดตัวโครงการใหม่ WE RISE Together เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่มีอยู่ในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง

WE RISE Together เป็นโครงการระยะเวลาสามปี พัฒนาโดยองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ    (UN WOMEN) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศออสเตรเลีย  ภายใต้กรอบความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง-ออสเตรเลีย (Mekong-Australia Partnership) WE RISE Together จะแก้ไขปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมกันเชิงโครงสร้างที่ผู้ประกอบการหญิงต้องเผชิญในการเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความเสมอภาคทางเพศ (Gender- responsive procurement: GRP)  มีวัตถุประสงค์โดยรวมเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าถึงตลาด เป็นผู้นำ และได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมากยิ่งขึ้น

ศิริพร ราธี ผู้จัดการทีม WE RISE Together  ประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมกับ World Pulse ว่า  จีอาร์พีเป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปที่หลายๆ บริษัททั่วโลกกำลังทำเรื่องความหลากหลายของซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

"เมื่อพูดถึงความหลากหลายทำให้นึกถึงประชากรบางกลุ่มที่ไม่ได้มีโอกาสมากเหมือนผู้ชาย หรือคนที่มีฐานะดีกว่า พอมาแยกแยะ พบว่า มีทั้งผู้หญิง คนพิการ คนชนบท ชนเผ่า เยาวชน  โครงการเราโฟกัสที่กลุ่มผู้หญิงผู้ประกอบการ" ศิริพรกล่าว 

ทั้งนี้ แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความเสมอภาคทางเพศมุ่งเป้าไปที่การจัดซื้อจัดจ้างจากธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของและผู้ประกอบการที่มีความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น ซึ่งในห่วงโซ่การจัดซื้อจัดจ้างทั่วโลกในปัจจุบัน มีการจัดซื้อจัดจ้างจากธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของเพียงแค่ 1% เท่านั้น 

ศิริพรกล่าวต่อว่า จีอาร์พีเป็นคอนเซ็ปใหม่มากในเอเชีย จึงต้องส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักว่าดีต่อธุรกิจอย่างไร ตอนนี้หลายบริษัทตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเรื่องดีมาก แต่ควรใส่เรื่องเพศ (gender) เข้าไปด้วยเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้บริษัทเข้าใจ 

กรณีประเทศไทยธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่มูลค่าทางธุรกิจน้อยกว่าผู้ชาย จึงเกิดเป็นความพยายามให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของผู้หญิงเข้าไปแข่งในซัพพลายเชนได้มากขึ้นทั้งในบริษัทขนาดใหญ่และภาครัฐ 

"การเข้าถึงตลาด มันต้องมีเน็ตเวิร์ก  ต้องมีกินเหล้า เล่นกีฬา ที่ผู้หญิงกับผู้ชายต่างกัน ซึ่งไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี  เมื่อทุกอย่างนำโดยผู้ชาย คณะกรรมการเป็นผู้ชาย เสียงก็เอน กิจกรรมก็เอนไปทางนั้น ถ้าเราทะลายตรงนี้มาได้บ้างผู้หญิงก็จะมีโอกาสเข้าตลาดได้มากขึ้น"

  อัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดตัวโครงการ ณ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำกรุงเทพมหานคร ระบุ 

“WE RISE Together จะแก้ไขปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมกันเชิงโครงสร้างที่ผู้ประกอบการหญิงต้องเผชิญในการเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างในประเทศไทยและเวียดนาม” 

รัฐบาลออสเตรเลียมีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงานทั้งในและต่างประเทศ

ในออสเตรเลีย เพื่อให้ได้รับการพิจารณาสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลออสเตรเลียที่มีมูลค่าเท่ากับหรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด นายจ้างภาคเอกชนที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนขึ้นไปจะต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขาปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงาน พ.ศ.2555

ที่ระบุว่า หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด นายจ้างอาจไม่มีสิทธิ์แข่งขันในสัญญาภายใต้กรอบการจัดซื้อจัดจ้างของเครือจักรภพและอาจไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือจากเครือจักรภพหรือความช่วยเหลือทางการเงินอื่น ๆ

ด้านซาร่าห์ นิบบซ์ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจาก UN Women Asia and the Pacific กล่าว

 “การตัดริบบิ้นในวันนี้เป็นมากกว่าแค่การจัดซื้อจัดจ้าง มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งนโยบายและกระบวนการที่สนับสนุนธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของ โดยการส่งเสริมปัจจัยด้านอุปทานและอุปสงค์ที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ และพิจารณาถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยทั้งสองด้านอย่างรัดกุม”

\'WE RISE Together\'  จัดซื้อจัดจ้างอย่างเท่าเทียม ( ซาร่าห์ นิบบซ์ และ อัลลัน แมคคินนอน)

โครงการ WE RISE Together  ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลออสเตรเลีย 2.85 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (72.6 ล้านบาท) ช่วยกระตุ้นการรับรู้และส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยและเวียดนามนำแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความเสมอภาคทางเพศไปปฏิบัติ 

"ผู้ประกอบการหญิงที่เวียดนามเล็กกว่าเรามาก เป็นร้านค้ารายย่อยทำในหมู่บ้าน ไม่เข้าไปในโกลบอลซัพพลายเชนอย่างของไทย ภาครัฐของเขาจะมีบทบาทเยอะในการนำธุรกิจ มีกฎหมาย SME ที่ค่อนข้างก้าวหน้า ส่วนไทยธุรกิจของผู้หญิงอยู่ในภาคท่องเที่ยว อาหาร การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลซึ่งสามารถเข้าไปอยู่ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน" ศิริพรกล่าวทิ้งท้ายถึงความแตกต่างของธุรกิจในสองประเทศเป้าหมายของ WE RISE Together