‘ขาดแคลนยา-ถูกตัดไฟ’วิกฤติสาธารณสุขศรีลังกา

‘ขาดแคลนยา-ถูกตัดไฟ’วิกฤติสาธารณสุขศรีลังกา

บรรดาหมอในศรีลังกาเตือนว่าอาจเกิดหายนะจากการที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากวิกฤตสาธารณสุขล่มทั้งระบบ อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนยารักษาชีวิตและการตัดไฟวันละ 13 ชม.

เจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วประเทศกำลังขาดแคลนยารักษาโรคหัวใจ และท่อช่วยหายใจสำหรับทารกแรกเกิด และการตัดไฟทำให้แพทย์คนหนึ่งต้องเย็บแผลให้ผู้ป่วยมากกว่า 20 คน ท่ามกลางความมืด หรือหมอบางคนต้องจุดตะเกียงเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มาหาในช่วงกลางคืน 

ปัจจุบัน  โรงพยาบาลในเมืองหลวงของประเทศ จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการตัดไฟ แต่ก็ได้รับคำสั่งจากภาครัฐให้ระงับการผ่าตัด และลดการทดสอบในห้องแล็บ เพราะยาสลบและน้ำยาที่เป็นตัวทำปฏิกิริยามีปริมาณจำกัด

นอกจากนี้  กุมารเวชของศรีลังกาต้องออกมาเรียกร้องนานาชาติให้ความช่วยเหลือทารกแรกเกิด เนื่องจากกำลังขาดแคลนท่อช่วยหายใจ และโรงพยาบาลทั้งหลายได้รับคำแนะนำให้อย่าทิ้งท่อที่ใช้แล้ว และนำไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ

“ดร. เซนาล เฟอร์นันโด” เลขาธิการแพทยสมาคม เตือนว่า โรงพยาบาลทั้งหมดทั่วประเทศเสี่ยงล่มสลาย และสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีกในช่วงสองสัปดาห์ข้างหน้า ประชาชนจะเริ่มทยอยเสียชีวิตหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ พร้อมทั้งบอกว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการขาดแคลนยา อาจกลายนำไปสู่จลาจลในโรงพยาบาลและตำหนิด้วยว่ารัฐบาลไม่ยอมรับความจริง หรือขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับความรุนแรงของวิกฤต รวมทั้งไม่ยอมเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ออกมาเดินขบวนประท้วงในกรุงโคลอมโบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขวิกฤต และบางส่วนก็สนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงอื่น ๆ ที่ต้องการให้ประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ลาออก 

ปัจจุบัน ศรีลังกาเผชิญวิกฤตการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้และไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นอย่างเชื้อเพลิงและยา

ชาวศรีลังกาจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่าประธานาธิบดีราชปักษาจะฟื้นฟูเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ เนื่องจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังเหตุก่อการร้ายในวันอีสเตอร์ เมื่อปี 2562 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 ราย 

แต่หลายฝ่ายมองว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ผู้นำจากตระกูลราชปักษายิ่งตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องที่สำคัญ และชัดเจนที่ตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศเป็นปัญหาระดับวิกฤติ ขณะที่รัฐบาลเองวิ่งวุ่นกับการขอเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ว่า “จอห์นสตัน เฟอร์นันโด” ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า ประธานาธิบดีราชปักษา จะไม่ลาออกจากตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม 

ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาทำให้อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ที่สุด ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการทยอยส่งข้าว ยารักษาโรคพื้นฐาน และเชื้อเพลิงให้แก่ศรีลังกาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงให้ความช่วยเหลือมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์

ขณะนี้ศรีลังกากำลังขาดแคลนยาจำเป็น 40 ชนิดอย่างหนัก และสต็อกของยาสำคัญอีก 140 ชนิด ร่อยหรอลงอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุขกำลังขอความช่วยเหลือจากอินเดียและองค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ) และแม้มีการสั่งซื้อยาไปแล้วยังต้องรออีก 1-2 เดือน กว่าจะได้รับมอบยา กระทรวงฯ จึงขอให้โรงพยาบาลต่าง ๆ บริหารจัดการยาอย่างเหมาะสม และเลื่อนการรักษาอาการป่วยที่ไม่อันตรายถึงชีวิตไว้ก่อน

แพทยสภาของศรีลังกา ได้ออกหนังสือเตือนไปยังประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 7 เม.ย. และเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ระบุว่า สถานการณ์ที่ไม่ฉุกเฉิน อาจกลายเป็นปัญหาที่อันตรายถึงชีวิตในอีกไม่กี่ชั่วโมง

และหากไม่เร่งจัดสรรยาและเวชภัณฑ์อย่างเร่งด่วน การรักษาฉุกเฉินอาจต้องระงับบริการภายในไม่กี่สัปดาห์ และจะส่งผลให้เกิดหายนะที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เกินกว่ายอดรวมของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19, สึนามิในปี 2547 และสงครามกลางเมืองระหว่างกบฏแบ่งแยกดินแดนทมิฬและกองทัพที่ยาวนาน 26 ปีรวมกัน

ขณะนี้ศรีลังกามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 16,489 ราย ผู้เสียชีวิตจากสึนามิ 31,229 ราย และผู้เสียชีวิตจากสงครามกลางเมืองประมาณ 100,000  ราย นี่จึงเป็นเหตุผลให้บุคลากรการแพทย์ทั้งหลายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์โดยด่วน พร้อมทั้งร้องขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป