ล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ท้าทายนโยบายโควิดเป็นศูนย์
จีนรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มอีกเจ็ดคนในเซี่ยงไฮ้ จากจำนวนผู้ติดเชื้อหลายแสนคนแม้ล็อกดาวน์ยาวนานหลายสัปดาห์ ทำให้เกิดคำถามถึงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ดูแล้วต้นทุนการทำนโยบายสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ตามที่ทางการเซี่ยงไฮ้รายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ชุดแรกนับตั้งแต่ล็อกดาวน์รอบนี้สามคนเมื่อวันจันทร์ (18 เม.ย.) วันรุ่งขึ้นมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกเจ็ดคน ทำให้ตัวเลขอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 10 คน
อู๋ เชี่ยนหยู เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเซี่ยงไฮ้แถลงว่า ทั้งเจ็ดคนเป็นคนไข้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้านคณะกรรมการสุขภาพเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตอายุระหว่าง 60-101 ปี มีโรคประจำตัวมาก่อน เช่น โรคหัวใจและเบาหวาน
“คนไข้เจ็บป่วยรุนแรงหลังเข้าโรงพยาบาลแพทย์ระดมความช่วยเหลือแต่ไม่ได้ผล คนไข้เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว” คณะกรรมการกล่าว
วานนี้ (19 เม.ย.) เซี่ยงไฮ้รายงานผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่กว่า 20,000 คน ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ สวนทางความพยายามกำจัดโรคของทางการ
อย่างไรก็ตาม มีบางคนสงสัยตัวเลขที่ทางการจีนรายงาน เนื่องจากประชากรสูงอายุที่มีเป็นจำนวนมากของจีนมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ หากเทียบกับฮ่องกงซึ่งมีจำนวนประชากรสูงวัยไม่ฉีดวัคซีนสูงเช่นกัน จำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมของฮ่องกงอยู่ที่เกือบ 9,000 คนจากผู้ติดเชื้อ 1.18 ล้านคนนับตั้งแต่สายพันธุ์โอมิครอนทำให้การติดเชื้อพุ่งสูงในเดือน ม.ค.
หลายโพสต์ที่ตรวจสอบไม่ได้บนโซเชียลมีเดียอ้างว่า เซี่ยงไฮ้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ข้อความเหล่านี้ถูกลบออกจากอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว
เมื่อวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) หน่วยงานสาธารณสุขเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า ชาวเมืองอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนแล้วสองโดสมีไม่ถึงสองในสาม ส่วนคนที่ได้รับเข็มกระตุ้นมีไม่ถึง 40%
วานนี้ทางการเซี่ยงไฮ้วอนประชาชนให้ความร่วมมือการตรวจหาเชื้อจากประชาชนจำนวนมากรอบใหม่ เพื่อลดการติดเชื้อให้เหลือศูนย์หลังจากต้องล็อกดาวน์มาเกือบสามสัปดาห์
คำขอร้องเกิดขึ้นเมื่อประชาชนบางคนไม่ยอมมาเข้าแถวตรวจพีซีอาร์ เนื่องจากเบื่อหน่ายเพราะต้องทำแบบนี้มาหลายรอบ บ้างก็เกรงว่าไปเข้าแถวตรวจยิ่งทำให้ตนเองเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้น ตอนนี้ชาวเซี่ยงไฮ้พากันโพสต์บนโซเชียลมีเดีย เรื่องรถบัสบรรทุกคนเต็มคันรถพาพวกเขาจากบ้านไปยังศูนย์กักกัน ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ และคนชรา
ขณะเดียวกันทางการท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาลปักกิ่งให้เร่งย้ายผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิดไปยังศูนย์กักตัว ทำให้เกิดความเกรงกลัวมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อหยุดการกระจายไวรัสอย่างสิ้นเชิง แทนที่แค่ชะลอการติดเชื้อลงเท่านั้น
“การตรวจพีซีอาร์ติดต่อกันหลายรอบ ช่วยให้เราตรวจพบผู้ติดเชื้อได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีนี้ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายโควิดเป็นศูนย์ระดับชุมชนได้เร็วขึ้น” หู เสี่ยวโป เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเซี่ยงไฮ้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์
แหล่งข่าวหลายรายเผยกับรอยเตอร์ว่า เซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าหยุดการแพร่โรคโควิด-19 นอกพื้นที่กักกันให้ได้ภายในวันพุธ (20 เม.ย.)
ถึงขณะนี้เซี่ยงไฮ้ยังไม่เผยว่าจะเปิดเมืองเมื่อใด แต่ก็กำลังมุ่งหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวด้วยการตรวจพีซีอาร์และแอนติเจนรายวันจากประชากรหลายล้านคน และเร่งส่งคนเข้าศูนย์กักกันโรค
อย่างไรก็ดี เซี่ยงไฮ้ผ่อนคลายข้อจำกัดลงบ้างแล้วสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำ แต่ประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมด 25 ล้านคนยังคงถูกล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด
การส่งข้าวส่งน้ำประชาชนและธุรกิจบางแห่งในเซี่ยงไฮ้ระหว่างถูกล็อกดาวน์ทำให้เกิดข้อโต้แย้งว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนมีต้นทุนสูงกว่าประโยชชน์ที่ได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับตั้งข้อสงสัย
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. จง หนานชาน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินหายใจ ผู้ช่วยทำยุทธศาสตร์โควิดให้จีนเมื่อต้นปี 2563 ร่วมเผยแพร่บทบรรณาธิการภาษาอังกฤษในวารสาร National Science Review ที่เขาแย้งว่า กลยุทธ์กวาดล้างโควิดเป็นศูนย์อย่างเป็นพลวัตยืดเยื้อนั้นไม่สามารถทำได้
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า บทบรรณาธิการนี้ถูกแปลเป็นภาษาจีน แล้วเว็บไซต์ข่าวจีนบางแห่งนำมาเผยแพร่ซ้ำแต่ก็ถูกลบไป
ตอนที่โควิดปรากฏขึ้นครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นทางภาคกลางของจีนเมื่อปลายปี 2562 มาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีนช่วยชะลอการติดเชื้อใหม่ได้จริง แต่ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทางการต้องดิ้นรนสกัดการระบาดที่แพร่ไปยังหลายพื้นที่ สาเหตุหลักมาจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่เร็ว
การประเมินเมื่อวันจันทร์ พบว่า ขณะนี้ประชาชนจีนราว 350 ล้านคนใน 44 เมืองเป็นอย่างน้อยต้องถูกล็อกดาวน์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยืนกรานว่า จีนยึดมั่นกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ในขณะที่ประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่และระบบสาธารณสุขไม่มั่นคง
ด้วยเหตุนี้เซี่ยงไฮ้จึงต้องเร่งขนย้ายผู้ป่วยไปยังศูนย์กักกันโรค เช่น โรงเรียนและอพาร์ตเมนต์ที่ถูกดัดแปลงเป็นศูนย์โควิด แล้วถูกผู้ป่วยวิจารณ์ว่าแออัดและไม่ถูกสุขลักษณะ
ขณะเดียวกันอินเดียมีข้อโต้แย้งกับองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)
เรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อินเดียรายงานตัวเลขทางการผู้เสียชีวิตจากโควิดที่ 520,000 คน แต่การตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์เชิงลึกของดับเบิลยูเอชโอพบว่า ตัวเลขเกิน 4 ล้านคน เท่ากับว่าอินเดียมีผู้เสียชีวิตจากโควิดมากที่สุดในโลกนับถึงขณะนี้
ขณะที่ตัวเลขประเมินครั้งก่อนโดยนักวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล และวารสารการแพทย์หลายฉบับชี้ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดในอินเดียจริงๆ แล้วสูงกว่าสถิติทางการถึง 10 เท่า
เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า อินเดียเสียหายอย่างหนักจากการระบาดของโควิดระลอกสองในเดือน เม.ย.2564 รัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐถูกกล่าวหาว่าปิดบังตัวเลขผู้เสียชีวิตเพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการรับมือการระบาดไม่ดีพอ หรือจัดหายา ออกซิเจน บริการดูแลสุขภาพได้ไม่มากพอ
รายงานข่าวระบุว่า ดับเบิลยูเอชโอต้องการเผยแพร่ข้อมูลเมื่อเดือน ม.ค. แต่ถูกต่อต้านจากรัฐบาลอินเดียที่ไม่ยอมรับว่าตัวเลขและระเบียบวิธีของดับเบิลยูเอชโอถูกต้อง