‘สว.ผลัดใบ’4สัญญาณเปลี่ยน ‘แก้รธน.-องค์กรอิสระ’ไพ่ตาย

‘สว.ผลัดใบ’4สัญญาณเปลี่ยน  ‘แก้รธน.-องค์กรอิสระ’ไพ่ตาย

นับถอยหลัง "สภาสูง" ผลัดใบ จากยุค “ลายพราง”สู่ “การเมืองสีเสื้อ” จับตา4สัญญาณเปลี่ยนดุลอำนาจ“ เกมแก้รัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ” ไพ่ตาย?

KEY

POINTS

  • จับตา “ตั๋วสภาสูง” 200ใบ สัญญาณชักธงรบขั้วการเมือง
  • สว.ผลัดใบ  “4สัญญาณ” เปลี่ยนดุลอำนาจ
  • “เกมแก้รัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ” ไพ่ตาย?

นับถอยหลัง "สภาสูง" ผลัดใบ จากยุค “ลายพราง”สู่ “การเมืองสีเสื้อ” จับตา4สัญญาณเปลี่ยนดุลอำนาจ“ เกมแก้รัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ” ไพ่ตาย?

นับถอยหลังอีกไม่ถึง1เดือน“สภาสูง”หรือ “วุฒิสภา” จะเข้าสู่ยุคพลัดใบ ปิดฉาก6ปี จาก“สว.ลายพราง”เปลี่ยนผ่านสู่สว.คัดสรรตามกลุ่มอาชีพ200คน

สัญญาณล่าสุดมีความชัดเจนมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่23เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสว.  โดยประกาศกำหนดรับสมัครในวันที่ 13 พ.ค.2567 วันเลือกสว.ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิ.ย.2567 วันเลือกสว. ระดับจังหวัดในวันที่ 16 มิ.ย.2567  เลือกสว.ประเทศ ในวันที่ 26 มิ.ย.2567 และวันประกาศผลรับรองการเลือกสว.ในวันที่ 2 ก.ค.2567

นั่นหมายความว่า หลังจากวันที่2ก.ค.นี้เราจะได้เห็นโฉมหน้าสว.ทั้ง200คนที่ถูกคัดสรรมาจาก20กลุ่มอาชีพ และจะเริ่มนับหนึ่งบทบาทในสภาฯนับตั้งแต่การประชุมวุฒิสภานัดแรก

จับตา “ตั๋วสภาสูง” 200ใบ เวลานี้มีสัญญาณชักธงรบมาจากฟากฝั่งการเมืองหวังส่งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

โดยเฉพาะ “พลพรรคส้ม” อย่างพรรคก้าวไกล รวมไปถึง“คณะก้าวหน้า”แนวรบนอกสภา ที่มีบาดแผล  ทั้งจากศึกโหวตนายกฯ ที่ทำให้เส้นทางสู่เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกดับฝันลง

กระทั่งนำมาสู่ซูเปอร์ดีลข้ามขั้วในท้ายที่สุด หรือแม้แต่การเสนอกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งมีด่านสภาสูงเป็นอุปสรรคขวากหนามสำคัญ

‘สว.ผลัดใบ’4สัญญาณเปลี่ยน  ‘แก้รธน.-องค์กรอิสระ’ไพ่ตาย

สว.ผลัดใบ "4สัญญาณ" เปลี่ยนดุลอำนาจ

ต้องจับตาหลังวันที่2ก.ค. ซึ่งสภาสูงจะเข้าสู่ยุคผลัดใบอย่างเต็มรูปแบบ ย่อมเป็นสัญญาณตอกย้ำว่า “4ดุลอำนาจ” ทั้ง กำลังจะเปลี่ยนไปหลังจากนี้ 

 ดุลอำนาจแรก: ดุลอำนาจนิติบัญญัติ เพราะอย่างที่รู้กันการได้มาซึ่งสว.ชุดใหม่ 200 คน จากการคัดสรรตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม จะมีอำนาจประกอบด้วย

อำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายขึ้นอยู่กับประเภท สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สว. จะเข้ามามีบทบาทเมื่อร่างได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วโดย สว.ไม่มีอำนาจในการปัดตก ทำได้เพียงยับยั้งเอาไว้ 180 วัน หลังจากนั้น สส.ก็สามารถนำมาลงคะแนนใหม่ได้

สำหรับกฎหมายประเภทอื่น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้มติของทั้งสองสภา หมายความว่า สว. จะมาร่วมลงคะแนนด้วย

ขณะเดียวกันสว.ชุดนี้ยังมี อำนาจพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้การประชุมร่วมของสองสภา โดยนอกจากจะต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งแล้ว ในวาระที่หนึ่งและสาม ยังต้องใช้เสียงของ สว. อย่างน้อย“1ใน3” ร่วมเห็นชอบด้วย

เท่ากับว่า หากมีสว. ชุดใหม่ 200 คนจะต้องได้เสียง สว.ที่เห็นชอบ อย่างน้อย 67 เสียง จากเดิม สว.250 คนต้องใช้ 84 เสียง

แน่นอนว่า หากฝ่ายไหนกุมเสียงในสภาสูงได้มากกว่าก็ย่อมเป็นต่อในการเสนอกฎหมาย

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ ณ เวลานี้พรรคแกนนำกางโรดแมพ ประชามติ3รอบอาจกินเวลาลากยาว4ปีครบอายุรัฐบาล 

ไม่ต่างจากข้อถกเถียงประเด็นการแก้-ไม่แก้ หมวด1 หมวด2 ซึ่งพรรคก้าวไกลเสมือนถูกโดดเดี่ยวในสภา หลังขั้วรัฐบาลหรือแม้แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรคยืนยันเสียงแข็งไม่แตะต้องมาตราดังกล่าวอย่างแน่นอน  

 

‘สว.ผลัดใบ’4สัญญาณเปลี่ยน  ‘แก้รธน.-องค์กรอิสระ’ไพ่ตาย

เช่นนี้ย่อมเป็นความหวังพรรคก้าวไกล ในการวางหมากในสภาสูงเพื่อสานฝันสูตรแก้รัฐธรรมนูญ

ยังไม่นับรวมอำนาจสว.ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผ่านกลไกการตั้งกระทู้ถามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องถึงปัญหา ไปจนถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปให้คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้วย

ดุลอำนาจที่สอง: ดุลอำนาจบริหาร ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดเจน สว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาหลังวันที่2ก.ค. จะไม่มีอำนาจลงมติ“เลือกนายกฯ”ได้เหมือนชุดเก่าที่ต้องรอสัญญาณจาก “บุคคลหลังม่าน”   เช่นนี้ก็จะไม่มีหมากสว.มาเป็นอุปสรรคขวากหนามอีกต่อไป 

ฉะนั้น ในวันที่รู้ผลแพ้-ชนะเลือกตั้งก็จะได้วัดกันในสภาผู้แทนราษฎรไปเลยว่า ฝ่ายไหนรวบรวมเสียงได้มากกว่าฝ่ายนั้นก็สามารถชิงเกมจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน 

"องค์กรอิสระ" หมากตัวใหม่ คาน "อำนาจเก่า"

ดุลอำนาจที่สาม : ดุลอำนาจตุลาการ ตามรัฐธรรมนูญยังให้สว.ชุดใหม่ มีอำนาจให้ความความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้ความเห็นชอบตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เช่น อัยการสูงสุด

โดยเฉพาะในยามที่บรรดาคดีความของ “บิ๊กเนมการเมือง”  ที่คั่งค้างอยู่ในองค์กรต่างๆ เหล่านี้ โฟกัสไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่สามารถ“ชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง”ได้เลยทีเดียว

ฉะนั้นจากยุค “สว.ลายพราง” เปลี่ยนผ่านสู่ยุค “สว.คัดสรร” หากฝ่ายไหนกุมเสียงในสภาสูงได้ก็ย่อมเป็นต่อในการเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระเหล่านี้ตามไปด้วย

แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ปัจจุบันยังคงหลงเหลือ “สายตรง”ที่ได้รับแรงหนุนจาก “ขั้วอำนาจเก่า”ทำหน้าที่คานอำนาจอยู่ 

‘สว.ผลัดใบ’4สัญญาณเปลี่ยน  ‘แก้รธน.-องค์กรอิสระ’ไพ่ตาย

 ต้องจับตาหลังจากวันที่ 2ก.ค.นี้เป็นต้นไป หากการเมืองสีไหน-ขั้วไหน สามารถคุมเสียงในสภาสูงได้ ก็ย่อมถือแต้มต่อที่อาจไม่ใช่แค่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  แต่เพียงเท่านั้น แต่อาจส่งผลไปถึง ดุลอำนาจที่สี่ นั่นคือ “ดุลอำนาจการเมือง” ทั้งหมดหลังจากนี้อีกด้วย 

จับตาสภาสูงยุคผลัดใบจาก “สว.ลายพราง”สู่ “สว.สีต่างๆ” อย่างเต็มรูปแบบไม่ต่างจากเกมอำนาจ ที่อาจแปรเปลี่ยนตามไปด้วย จากเดิมฝ่ายไหนชิงเสียง “โหวตนายกฯ” ได้ก็ย่อมมีชัยทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

แต่ต่อไปจะไม่ใช่เพราะ “ไพ่ตาย” จะกลับกลายไปอยู่ที่ “เกมแก้รัฐธรรมนูญ” และการตั้งบุคคลเพื่อเข้าไปอยู่ใน “องค์กรอิสระ” แทน