กรมชลฯโชว์แผน จัดการนํ้าแล้งเมืองแปดริ้ว แก้น้ำท่วมรอยต่อ กทม.

กรมชลฯโชว์แผน  จัดการนํ้าแล้งเมืองแปดริ้ว  แก้น้ำท่วมรอยต่อ กทม.

เมื่อภัยแล้งมาเร็วกว่ากำหนดปริมาณน้ำต้นทุนมีจำกัด อีกทั้งน้ำเค็มรุกแม่น้ำบางปะกง ทำให้ปริมาณน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคทั้ง 3 สาขา ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรามีไม่เพียงพอ จากแหล่งน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)ฉะเชิงเทราในช่วงฤดูฝนจะรับน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเป็นหลัก แต่เมื่อถึงฤดูแล้งความเค็มในแม่น้ำบางปะกงเกินค่ามาตรฐานก็จะใช้น้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ส่งมาทางคลองระพีพัฒน์ และคลอง 13 เป็นหลัก แต่เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนของ 4 เขื่อนหลักมีจำกัด ประกอบกับเป็นพื้นที่ตอนล่างสุด ปริมาณน้ำที่ได้รับการจัดสรรจึงต่ำกว่าแผนไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา

กรมชลฯโชว์แผน  จัดการนํ้าแล้งเมืองแปดริ้ว  แก้น้ำท่วมรอยต่อ กทม.

นายวรวิทย์  บุณยเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 (สชป.11)กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานโดยนโยบายของ ดร.ทองเปลว  กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนและเกษตรกรมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง โดยการประสานความร่วมมือกับการประปานครหลวงเพื่อขอผันน้ำจากคลองประปาบางส่วนส่งผ่านระบบชลประทานไปยังจุดสูบน้ำดิบ ซึ่งทาง สชป. 11 ได้รับนโยบายดังกล่าวมาดำเนินการบริหารจัดการน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งทิศตะวันตก และฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยฝั่งตะวันตกได้ดำเนินการด้วยน้ำต้นทุนจากเขื่อนแม่กลอง ผ่านคลองแม่น้ำท่าจีนในการลำเลียงน้ำ อีกส่วนหนึ่งคือ ฝั่งด้านตะวันออก ต้องลำเลียงน้ำจากเขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านปทุมธานี ไปจนถึงฉะเชิงเทรา

ภารกิจนี้ท่านอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำหนดแผนงานให้อีกหนึ่งแผนคือ การรับน้ำจากคลองเปรมประชากรที่อยู่ด้านเหนือขึ้นไปผ่านระบบเข้ามาเติมน้ำลงในคลองรังสิต รวมถึงการผลักดันน้ำจากด้านแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองรังสิตประยูรศักดิ์ หลังจากนั้นจะดำเนินกระบวนการในการสูบ ส่งผ่านคลองรังสิตขึ้นไปจนไปถึงคลอง 13 เพื่อส่งไปให้กับพื้นที่การใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในเขตปทุมธานี และฉะเชิงเทรา

โดยในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทราจะลำเลียงน้ำลงไปจนถึงท่อระบายน้ำบึงฝรั่ง ส่งต่อไปยังคลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองนครเนื่องเขตที่มีจุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคทั้ง 3 สาขา ซึ่ง สชป.11 ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราได้ตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สชป. 11 ยังเป็น หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) บางส่วน และปริมณฑล โดยพื้นที่ กทม.ชั้นในตั้งแต่คันกั้นน้ำพระราชดำริไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำในคลองสายหลัก ซึ่งจะมีการวางแผนรองรับสถานการณ์น้ำหลากก่อนฤดูฝนร่วมกันเป็นประจำทุกปี

กรมชลฯโชว์แผน  จัดการนํ้าแล้งเมืองแปดริ้ว  แก้น้ำท่วมรอยต่อ กทม.

นายชัยพร พรหมสุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สชป.11 เล่าว่า เมื่อเข้าฤดูฝนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร เป็นพื้นที่ที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำในเขต  รอยต่อ กทม. ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ โดยเฉพาะสมุทรปราการเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่ติดอ่าวไทยที่จะต้องระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อรักษาระดับน้ำในพื้นที่ตอนบน

ทั้งนี้ในแนวคลองชายทะเลจะมีสถานีสูบน้ำอยู่ 9 แห่ง มีเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที จนถึง 25 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 83 เครื่อง ประสิทธิภาพในการสูบน้ำ 445 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 38 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งมีประสิทธิภาพที่จะเร่งระบายน้ำจากน้ำเหนือ จากน้ำในพื้นที่ตอนบนที่ไหลเข้ามา และจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ และจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนจากด้านล่าง ไม่ให้น้ำไหลเข้าไปท่วม

กรมชลฯโชว์แผน  จัดการนํ้าแล้งเมืองแปดริ้ว  แก้น้ำท่วมรอยต่อ กทม.