TIJ เคลื่อน ‘ยุติธรรมสมานฉันท์’ นวัตกรรมแก้อาชญากรรมยั่งยืน
“คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก” คือผลข้างเคียงประการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแบบปกติที่ยึดหลักการลงโทษเพื่อ “แก้แค้น-ทดแทน” ผลข้างเคียงนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่สำหรับบ้านเราแล้วต้องถือว่าวิกฤติสุดๆ
จากข้อมูลการจัดอันดับผู้ต้องขังของ www.prisonstudies.org พบว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ติดอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองเพียงแค่จีนกับอินเดียซึ่งมีประชากรสูงกว่าไทยมาก อีกทั้งยังเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนด้วยกัน
ที่น่าตกใจก็คือ เมื่อเอ็กซเรย์ประชากรในเรือนจำ ปรากฏว่าส่วนใหญ่ก่ออาชญากรรมไม่ร้ายแรง และไม่ว่าประเทศไทยจะเลือกใช้มาตรการลงโทษอย่างเข้มงวดเพียงใด แต่สถิติอาชญากรรมก็ไม่ได้ลดลง อัตราผู้กระทำผิดซํ้าก็ยังสูงมาก
ปัญหาและผลข้างเคียงเชิงลบเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายในระบบยุติธรรมไทยทำให้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) เดินหน้าขับเคลื่อน “นวัตกรรมด้านความยุติธรรม”เพื่อหาทางออกของปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ผ่านแนวคิด “หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” หรือ Restorative Justice (RJ)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ อธิบายว่า“หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” หรือ RJ เป็นแนวคิดที่เชื่อได้ว่าสามารถนำมาแก้ปัญหาระบบยุติธรรมไทยได้โดยเป็น “กระบวนการยุติธรรมทางเลือก” ที่ให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดสำหรับทุกฝ่าย โดยเน้นการเยียวยาชดใช้ความเสียหายให้ผู้เสียหายการสร้างความสำนึกผิดและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิดในการกระทำของตน
แนวทางในการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่านี้คือการเปิดโอกาสให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด ซึ่งอาจรวมไปถึงญาติพี่น้อง ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนของชุมชน ได้พบปะเจรจากันเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้น
“หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเอื้ออาทร มีความเชื่อในเรื่องการให้อภัยและการให้โอกาสคนที่สำนึกผิด ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีสายสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งยังนิยมใช้วิธีการที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย ฉะนั้นเรื่องนี้จึงสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย แต่ที่ผ่านมาไม่ได้นำแนวทางนี้มาใช้มากนัก แม้ในระยะหลังมีความพยายามจะนำมาใช้ และออกกฎหมายรองรับ แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด เช่น ในศาลเยาวชนและครอบครัวเท่านั้น”
ผู้อำนวยการ TIJ บอกด้วยว่า จากพื้นฐานทางวัฒนธรรม ประกอบกับเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านความเข้มแข็งของชุมชนของสังคมไทยกระบวนการ RJ จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในบริบทประเทศไทย เพียงแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้กำกับเชิงนโยบายจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ตามความเคยชินแต่เดิมเสียก่อน
เหตุนี้เอง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา TIJ จึงเป็นแม่งานในการประชุมระดับชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยการประชุมนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จากทั่วโลกซึ่ง TIJ เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNODC เมื่อวันที่ 17–19 มิ.ย. เพื่อพัฒนาคู่มือการนำหลักการ RJ มาปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาUNODC ก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาในระดับนานาชาติ
วัตถุประสงค์หลักของการประชุม คือการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและศักยภาพในด้านRJ ของเจ้าหน้าที่และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้มีการนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกนี้ไปปฏิบัติใช้อย่างแพร่หลาย โดยการส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานและสังคมเข้าใจถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ RJ และสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้กระทำผิด เหยื่อ และชุมชน
ผู้อำนวยการ TIJ ย้ำว่า ประเด็นหลักที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน โดยเฉพาะกับสังคมและประชาชนทั่วไปก็คือ กระบวนการ RJ ไม่ได้ใช้สำหรับความผิดอาญาทุกประเภท แต่ปัญหาที่เกิดในขณะนี้คือ ความผิดมีหลากหลาย กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเน้นนำคดีขึ้นสู่ศาลเท่านั้นและมุ่งใช้โทษจำคุกในทุกเรื่อง หากเทียบกับญี่ปุ่นคดี 100 เรื่องจะขึ้นสู่ศาลแค่ 8 เรื่อง หรือ 8% ซึ่งก็คือคดีที่ร้ายแรงจริงๆ หรือคดีสำคัญเท่านั้น
วิธีการที่จะเบี่ยงคดีออกไปมีหลายวิธี เช่น คุมประพฤติ ฯลฯ และกระบวนการ RJ ก็เป็นหนึ่งในมาตรการพิเศษ หรือกระบวนการทางเลือกสำหรับดำเนินการกับคดีบางประเภทที่เหมาะสม เช่น คดีเยาวชน หรือกระทำโดยประมาท เพื่อไม่ให้ทุกคดีเดินอยู่บนสายพานเดียวกัน คือเข้าสู่ศาล และจบลงที่เรือนจำ เพราะ “หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เข้ามาจัดการบางคดีได้ โดยผู้เสียหายได้รับประโยชน์สูงสุดผู้กระทำผิดสำนึกในการกระทำ และกลับคืนสู่สังคมได้โดยชุมชนพร้อมที่จะรับหน้าที่ดูแล
ไฮไลท์ของการประชุมระดับชาติครั้งนี้คือการที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับฟังความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ RJ ในประเทศต่างๆจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการและจัดการกับปัญหาในการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในประเทศไทยต่อไป