จากเวที Crime Congress ถึงไทย "ผอ. TIJ คนใหม่" กับอนาคต "ยุติธรรมทางอาญา"
แม้โลกทั้งโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ใช่ว่าทุกกิจกรรมจะต้องหยุดชะงักไปหมด โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรม และการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกชาติ ทุกประเทศ ถือว่ามีความสำคัญและต้องเดินหน้าต่อไป
เมื่อเดือนที่แล้วมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า UN Crime Congress ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ
การประชุม UN Crime Congress เป็นการประชุมรอบ 5 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกลางสำหรับผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทุกฝ่าย ทุกระดับ ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันอาชญากรรม การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงผู้แทนสหประชาชาติ และผู้รู้เกี่ยวกับประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ได้มาประชุมหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา
สำหรับหัวข้อหลักในการประชุม สมัยที่ 14 คือ "การส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรม ความยุติธรรมทางอาญา และหลักนิติธรรมเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030"
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ มีบทบาทสำคัญในการประชุม UN Crime Congress โดยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคู่ขนานในหัวข้อต่างๆ เช่น การนำกีฬามาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ, สิบปีข้อกำหนดกรุงเทพ ความก้าวหน้าความท้าทาย และโอกาส ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียน 1 ทศวรรษของการใช้ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" หรือ Bangkok Rules เพื่อยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง อันเป็นความท้าทายหลังถูกนำไปใช้จริงทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เป็นต้น
หลายเรื่องเป็นการต่อยอดจากการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 13 เมื่อปี 2558 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยเฉพาะการส่งเสริมหลักนิติธรรม การพัฒนากลไกการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในประเด็นด้านหลักนิติธรรม
หนึ่งในประเด็นไฮไลท์ที่ทุกประเทศเห็นตรงกันว่ามีความสำคัญ และกำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย คือ สถานการณ์นักโทษล้นคุก ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ยิ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหานี้ยิ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้น ซึ่ง ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ มีมุมมองต่อปัญหานี้ทั้งในมิติของการป้องกันอาชญากรรม (Crime Prevention) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)
"เรามีโทษอยู่ไม่กี่อย่าง แต่หลักใหญ่จะใช้โทษจำคุก เป็นสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญารู้จักว่าเป็นเครื่องมือ แต่เครื่องมือนี้ก็มีข้อท้าทายให้ต้องคอยทบทวนและตั้งคำถามอยู่เสมอเหมือนกันว่ามันใช้แล้วได้ผลหรือไม่ เมื่อเราย้อนไปดูเรื่องการป้องกันอาชญากรรม จะพบว่า สถิติการหวนกระทำผิดซ้ำของผู้ที่พ้นจากเรือนจำไปแล้วยังสูงอยู่ในหลายๆ ประเทศ และประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เจอปัญหานี้"
“นอกจากนั้น การจำคุกอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดในบางกรณี เช่น มีหลายคดีในประเทศไทยที่เราใช้การจำคุกเพื่อลงโทษคนที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง ทั้งที่คนเหล่านี้ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้โดยใช้มาตรการคุมประพฤติ แต่เมื่อเราใช้วิธีส่งผู้กระทำความผิดเล็กน้อยเข้าไปอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงในเรือนจำ ก็อาจทำให้เขาไปเรียนรู้วิธีการกระทำความผิดเพิ่มมาจากในเรือนจำ ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดทบทวน” ผอ.TIJ สะท้อนปัญหา
แน่นอนว่าในการประชุม UN Crime Congress หนนี้ ก็มีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับสมาชิกว่า อยากให้พิจารณาถึงมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากการจำคุกด้วย และสร้างให้มีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะส่งไปเรือนจำอย่างเดียว เช่น มาตรการคุมประพฤติ หรือ การใช้กำไล EM เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่ ดร.พิเศษ ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ก็คือ ต้องไม่ลืมเรื่องการปฏิรูปเรือนจำ และการทำความเข้าใจกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมด้วย
"ในเรือนจำก็ต้องมีการปฏิรูปให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นฟูแก้ไขได้จริง ๆ เพิ่มมาตรการทางเลือกให้มากขึ้นแต่การที่จะเลือกว่าจะไปช่องทางไหน เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกันในหมู่ผู้มีอำนาจและสังคมด้วย เพราะถ้าศาลเห็นว่ามีมาตรการทางเลือกอื่นที่ให้ผลดี ท่านก็น่าจะอยากสั่งให้ไปในช่องทางนั้นมากขึ้นแต่ถ้าท่านไม่มีทางเลือก หรือไม่มั่นใจว่าจะมีการลงโทษแบบใดที่ดีกว่าโทษจำคุก หากว่ามีผู้กระทำผิดไปก่ออาชญากรรมร้ายแรง สร้างความไม่สงบกับสังคม ก็อาจจะทำให้ท่านต้องเลือกตัวเลือกเดิม คือ การลงโทษจำคุก ฉะนั้นการทำความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก" ผอ.TIJ กล่าว
อีกหนึ่งประเด็นที่มีการหารือกันในการประชุม UN Crime Congress ทุกครั้ง รวมทั้งสมัยที่ 14 นี้ด้วย ก็คือเรื่อง "หลักนิติธรรม" มีแนวคิดใหม่ที่ยังถกเถียงกันกว้างขวางที่เรียกกันว่า "วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา" หรือ Culture of Lawfulness ซึ่ง TIJ ผลักดันและขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งแล้ว
"แนวคิดนี้เริ่มจะลงหลักปักฐานในประชาคมนานาชาติมากขึ้น แต่เดิมเขามองกันว่ามันค่อนข้างจับต้องยากแต่จริงๆ มันเป็นพื้นฐานของหลักนิติธรรม เพราะหลักนิติธรรมเป็นกระบวนการใช้อำนาจรัฐในขอบเขตที่เหมาะสม และประชาชนก็เชื่อมั่น เหตุนี้เอง 'วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา' จึงเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าประชาชนมีความพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ในสังคม เชื่อมั่นว่ากติกามันทำงานได้ดี ซึ่งในเวที Crime Congress ประเทศต่างๆ จะพูดถึงวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาโดยเชื่อมโยงกับบริบทการให้ความรู้กับเยาวชน การเสริมพลังให้กับเยาวชน" ดร.พิเศษ กล่าว
แนวคิดการเสริมพลังให้เยาวชน เป็นแนวทางที่ TIJ ทำมาตลอด อย่างเช่น ในการประชุมคู่ขนานระหว่างการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 13 TIJ ได้คัดเลือกเยาวชนไทย 2 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการของสถาบันฯ เข้าร่วมประชุมในฐานะ "ทูตเยาวชนนิติธรรม" ด้วย
ขณะที่ประเด็น "การนำกีฬามาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน" TIJ ก็เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคู่ขนานหัวข้อนี้ใน UN Crime Congress สมัยที่ 14 ด้วย โดยสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากความเสี่ยงต่างๆ ที่จะถูกกระทำ พร้อมๆ กับเน้นเรื่องการเสริมพลังแก่เด็กและเยาวชนให้มีบทบาทในการป้องกันอาชญากรรมมากขึ้น
"หลักนิติธรรมเป็นหัวใจสำคัญ มันก็จะมี Alignment ที่กว้างขึ้น มีผู้เล่นเข้ามาร่วมขึ้น ไม่ใช่แค่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม แต่หน่วยงานในภาคเอ็นจีโอ ก็มีส่วนร่วมมากขึ้น" ผอ. TIJ ระบุ
เพราะการลงทุนในมนุษย์ ทั้งคนที่เคยก้าวพลาด และไม่เคยก้าวพลาด ย่อมส่งผลดีต่อการป้องกันอาชญากรรม เนื่องจากการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมมีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับสังคม ด้วยการให้ "คนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน" ก้าวข้ามอคติเรื่องเพศ เรื่องเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อมโยงกับการพัฒนา...
ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นคำตอบของอนาคตกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งของไทยและโลก