SCIENCE PARK

SCIENCE PARK

SCIENCE PARK

จรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ ความได้เปรียบเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติหรือแรงงานราคาถูกไม่ใช่ปัจจัยที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอีกต่อไป โลกกำลังเปลี่ยนจากความเจริญที่ขับเคลื่อนด้วยความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยการผลิตไปสู่ความเจริญที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่างๆ

Science Park หรือ อุทยานวิทยาศาสตร์ จึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญทางนโยบายที่รัฐบาลของหลายประเทศเลือกใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรบุคคลอันจะนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการ หรือโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้จริง ทั้งนี้แนวคิดของการพัฒนา Science Park ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด โดย Science Park นั้นมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่

ปี 1950 ที่มีการจัดตั้ง Stanford Research Park ขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Stanford และรัฐบาลเมือง Palo Alto ของรัฐ California ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าให้กับงานศึกษาวิจัยจำนวนมากที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนามของ Silicon Valley นั่นเอง

ความสำเร็จของ Stanford Research Park รวมถึง Science Park อื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมา อาทิ Research Triangle Park (RTP) ในรัฐ North Carolina ได้กลายมาเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ผู้ประกอบการ และมหาวิทยาลัยในการพัฒนาและผลักดันงานวิจัยออกสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ที่เริ่มแพร่หลายและกระจายไปทั่วโลก อาทิ ทวีปยุโรปในช่วงทศวรรษ 1960  ถึง 1970 หรือ ประเทศแถบเอเชียช่วงทศวรรษ 1980 เช่น การจัดตั้ง Tsukuba Science Park (ญี่ปุ่น) Hsinchu Science Park (ไต้หวัน) Singapore Science Park (สิงคโปร์) เป็นต้น

SCIENCE PARK

SCIENCE PARK

รวมถึงประเทศจีนที่เริ่มมีแผนการพัฒนา Science Park ตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ซึ่งสอดคล้องเป็นอย่างมากกับแผนการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฉบับแรกของจีนที่เริ่มต้นเมื่อปี 1997 ในสมัยของท่าน Deng Xiaoping มาจนถึงยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของประธานาธิบดี Xi Jinping ที่รัฐบาลจีนตั้งใจกำหนดนโยบายเพื่อผลักดันและเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงรุกจนทำให้วงการเทคโนโลยีของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับจำนวน Science Park ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ

ช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ผู้เขียนเองก็มีโอกาสเดินทางไปดูงานโครงการ Science Park ของจีน อาทิ Z-Park, Tsinghua University Science Park (TusPark), Caohejing Science Park และ Zizhu Science Park ที่ตั้งอยู่ในเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้พร้อมกับร่วมประชุมทางธุรกิจกับผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม Tus Holdings ซึ่งจากการเยี่ยมชมและพูดคุยผู้เขียนพบว่า Science Park ของจีนได้ถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นทำธุรกิจของ Startup และผู้ประกอบการชาวจีนผ่านการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก

SCIENCE PARK

SCIENCE PARK

ทั้งด้านพื้นที่ประกอบกิจการ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ตลอดจนเครือข่ายความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย บริษัทขนาดใหญ่ นักลงทุนกลุ่มต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริม Startup ของจีนให้สามารถ scale up และ scale out จนกลายเป็นขุมพลังสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ปัจจุบันประเทศไทยของเราก็อยู่ระหว่างการ transform เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยก็มีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ Digital Thailand ในระดับหนึ่ง

แล้วโดยเฉพาะส่วน Hard Infrastructure ด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้ครอบคลุมมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งพัฒนาในส่วน Soft Infrastructure ทั้งการวิจัยและพัฒนาในส่วน Deep Technology การสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดและประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง อาทิ อุตสาหกรรมการแพทย์ การท่องเที่ยว การเกษตรและอาหาร ฯลฯ การพัฒนาแรงงานและทรัพยากรบุคคล เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่ยังมีจำนวนน้อยทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจ Startup ให้สามารถเติบโตในตลาดภูมิภาคและตลาดโลกต่อไป

SCIENCE PARK

SCIENCE PARK

WHA Group ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศก็เล็งเห็นถึงความจำเป็นนี้จึงได้พัฒนาความร่วมมือกับบริษัท ทัส โฮลดิ้งส์ จำกัด (TUS) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาศูนย์ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศจีนเพื่อพัฒนาศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม “ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ” ขึ้น โดยศูนย์ทัสพาร์ค

ดับบลิวเอชเอ (TusPark WHA Incubation Center) แห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสนับสนุนการเริ่มต้นทำธุรกิจ เช่น บริการบ่มเพาะ การให้คำแนะนำ รวมถึงการจับคู่ทางธุรกิจให้แก่ Startup สายต่างๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติอันจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดกลายเป็น Science Park ในระยะถัดไป

ซึ่งในอนาคต WHA-TUS Science Park ก็จะเป็นตัวกลางสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย บริษัทเอกชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่จะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้ให้แก่บริษัท Startup และบุคลากรชาวไทย รวมถึงการเป็นศูนย์กลางเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถเข้าถึงนักลงทุน บริษัทคู่ค้า และตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเซียโดยเฉพาะประเทศจีนที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนอีกด้วย

แม้ว่ากระแสการตื่นตัวของ Digital Economy และ Digital Society ในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้ภาคเอกชนหลายรายตัดสินใจเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในเรื่องนี้มากขึ้นแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็ต้องขอฝากไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่า ภาครัฐก็ยังคงเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในฐานะผู้กำหนดยุทธศาสตร์และเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายในระดับประเทศที่จะเป็นตัวตัดสินคำตอบสุดท้ายว่าประเทศไทยของเราจะชนะหรือแพ้ในสนามการแข่งขันของโลกยุคดิจิทัลใหม่นี้นั่นเอง