รักนี้ ให้ “ผัก” นำ

รักนี้ ให้ “ผัก” นำ

แม้บ้านเราได้ชื่อเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ความมีชื่อเสียงในความอุดมสมบูรณ์ของเรื่องอาหารการกินที่ทั้งหลากหลายและมีเอกลักษณ์ในเรื่องรสชาติจนคนทั่วโลกยังต้องอิจฉา

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ทุกวันนี้ สถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้ของคนไทยกำลังตกอยู่ในภาวะที่นำเป็นห่วงไม่แพ้กัน

แล้วเราจะทำอย่างไรเมื่อคนไทยกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพ เพราะวิกฤตโรค“ไม่กินผัก”

 

เราต้องเผชิญอะไรเมื่อไม่กินผัก?

ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มรับประทานอาหารที่เป็นแป้งไขมัน น้ำตาล และเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อวัว เนื้อหมูและเนื้อสัตว์แปรรูปมากเกินไป แต่บริโภคอาหารที่มีกากใยน้อยลง ผลลัพธ์จึงสะท้อนโดยอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยสูงขึ้นอันมีปัจจัยสำคัญมาจากสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สมดุลนั่นเอง

มีผลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5ผลสำรวจระบุว่า คนไทยอายุ 15 ขึ้นไป รับประทานผักในปริมาณเฉลี่ยเพียง2.2 ส่วนต่อวันซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลกแนะนำ ว่าควรบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 400 กรัม หรือประมาณ ส่วนต่อวัน

แต่ผลจากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกที่น่าสนใจ คือมีการคาดประมาณว่า การเสียชีวิตของประชากรโลกกว่า 5.2 ล้านคนมีสาเหตุสำคัญของการตายด้วยโรคมะเร็งของประชากรโลกเพราะเกิดจากการบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอด้วยส่วนหนึ่ง

ย้ำด้วยงานวิจัยล่าสุดที่นำเสนอในการประชุมประจำปีของสมาคมโภชนาการอเมริกัน (American Society for Nutrition) ประจำปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ระบุว่า คนจำนวน 2.8 ล้านคนเสียชีวิต ด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งทั้งหมดนี้มีข้อมูลเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมการกินที่ไม่สมดุล หนึ่งในนั้นคือการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ

ความจริงผักมีประโยชน์หลายอย่าง ผักช่วยลดความเสี่ยงโรค NCDs และยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินเกลือแร่ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูล

 “แต่ตอนนี้ทั้งโลกมีคนเสียชีวิตจากโรคที่ไม่กินผัก 2.8  ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหลอดเลือด องค์การอนามัยโลกจึงแนะว่าควรบริโภคผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม แต่จากการที่เราลองสำรวจให้คนไทยตอบคำถามแต่ละวันว่ากินอะไรบ้าง พบมีเพียงร้อยละ 34 ที่บริโภคผักได้เพียงพอตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แม้สถิติจะดีขึ้นจากปี 2557 ที่เราเคยสำรวจไว้ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 25 แต่ก็ยังพบว่ามีคนไทยไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่บริโภคผักเพียงพอ” ดร.นพ.ไพโรจน์ระบุ

รักนี้ ให้ “ผัก” นำ

เพียง1 serving ลดเสี่ยงมากกว่า 1 โรค

รู้หรือไม่ หากเรากินผักไม่เพียงพอ ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนออกมา ไม่ว่าจะเป็น ความผิดปกติของระบบขับถ่าย เนื่องมาจากการขาดเส้นใยอาหาร เกิดอาการท้องผูก ขับถ่ายยาก หรืออุจจาระเป็นก้อนแข็ง เสียดสีกับลำไส้จนอาจทำให้เยื่อบุผิวของสำไส้อักเสบ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งลำไส้

ส่วนระบบภูมิคุ้มกันก็แย่ หากไม่กินผักไปนาน ๆ เข้าก็จะนำไปสู่อาการไม่สบายเล็กๆ น้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น ไข้หวัด และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ร่างกายก็อาจเกิดความบกพร่องที่เฉพาะเจาะจง เช่น อาการขาดธาตุเหล็ก เกิดภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาการขาดวิตามินชี ทำให้เลือดออกตามไรฟัน เป็นหวัดบ่อย

รวมถึงยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือแม้แต่โรคมะเร็งบางชนิด โรคเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่หากเราไม่กินผักผลไม้เลย ก็ย่อมมีโอกาสและความเสี่ยงสูง นั่นเพราะในผักผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลาย ต่อสู้กับสารก่อมะเร็ง และช่วยลดอาการอักเสบของเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งหากร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากผักผลไม้อย่างเพียงพอ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ ได้

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลกระบุให้บริโภคผักและผลไม้วันละ 400 กรัม หรือเทียบเท่ากับ 5 (=ผัก 3 +ผลไม้ 2) หน่วยบริโภค หรือ servings (1 serving โดยประมาณเท่ากับ 80 กรัม) สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้แก่ หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองตีบ และมะเร็งต่างๆ ซึ่งมาจากหลักฐานทางระบาดวิทยาที่พบว่าการบริโภคผักและผลไม้น้อยเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง ในขณะที่เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ 1 serving สามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองได้ร้อยละ 10 และ 6  ตามลำดับ และยังลดความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร และปอด ร้อยละ 1-6

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังรายงานว่าผักและผลไม้เป็นแหล่งที่ดีของสารอาหารมากมาย มีใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุสูง ขณะที่ให้พลังงานน้อย ดังนั้นผักและผลไม้จึงเป็นกลุ่มอาหารที่ทำให้เกิดความสมดุลทางโภชนาการ

จึงคงไม่ต้องบอกถึงความจำเป็นแค่ไหน ที่คนเราควรต้องบริโภค “ผักและผลไม้” ให้เพียงพอในแต่ละวัน

รักนี้ ให้ “ผัก” นำ

ช่อกุหลาบหลบไป  “ช่อผักนำรัก” กำลังมา

จากวิกฤตสุขภาพดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้คนไทยกินผักปลอดภัยอย่างเพียงพอ วาเลนไทน์ปีนี้ ทางสสส. โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ จึงได้รณรงค์ให้คนไทยหันมามีหัวใจสีเขียว ผ่านโครงการ “ผลักดันให้ผักนำ”

โครงการนี้ กำลังสร้างเทรนด์ใหม่ของเทศกาลแห่งความรักที่จะเปลี่ยนไปเพราะ สสส.ได้เชิญชวนคู่รักคนไทยมาร่วมส่งความรักด้วย “ช่อผัก” แทนช่อดอกไม้เหมือนที่ผ่านมา

ซึ่งไม่เพียงจะเป็นช่อส่งความรักที่คุ้มค่าเพราะมีประโยชน์ต่อผู้รับจริง แต่ช่อรักผักนำยังช่วยลดปัญหาการเจ็บป่วยและการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเกี่ยวกับอาหารด้วยการชวนทุกคนให้หันมาปรับพฤติกรรมการกินแต่ละครั้งให้ “เน้น” ผัก “นำ” ไว้ก่อน

โดยล่าสุด ทาง สสส. นำโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. และภาคียังเดินหน้ารณรงค์ต่อเนื่อง โดยโอกาสนี้ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมมอบ“ช่อผักนำรัก” ช่อผักแทนความรักเนื่องในช่วงวาเลนไทน์ ที่บริเวณหน้าตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล พร้อมร่วมประกอบอาหารผักอินทรีย์จากโครงการเด็กไทยแก้มใส เมนูสลัดโรล "ผักนำรัก"  ร่วมกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมให้ประชากรไทยบริโภคอาหารทุกมื้อให้ผักนำ

“เมสเสสสำคัญคือการส่งเสริมให้คนไทยมอบผักเป็นของขวัญแห่งความรักเราจึงมอบช่อผัก ซึ่งสามารถรับประทานได้หมด” ดร.นพ.ไพโรจน์เล่าถึงเป้าหมายการจัดกิจกรรมครั้งนี้

ด้านผู้จัดการกองทุน สสส. ยังกล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนในโครงการว่า

สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการจัดการระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยส่งเสริมมาตรการการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกผักปลอดภัยหรืออินทรีย์ เชื่อมโยงผลผลิตผ่านการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเข้าครัวโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อส่งเสริมการกินผักปลอดภัยหรืออินทรีย์มากขึ้น อาทิ โรงเรียนส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัย โรงพยาบาล รับซื้อผักปลอดภัยหรืออินทรีย์ จากเกษตรกรในชุมชน จัดตลาดสีเขียว ให้ประชาชนเข้าถึงผักปลอดภัยมากขึ้น ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2579”ดร.สุปรีดา กล่าว                  

รักนี้ ให้ “ผัก” นำ

รักใคร เราให้ “ผัก”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสริมต่อว่า “โครงการนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือ หนึ่ง ให้ความรู้ สองแคมเปญรณรงค์ และสามจัดการสร้างสิ่งแวดล้อมต้องสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารกลุ่มผัก เพราะลำพังรณรงค์ให้คนกินผักแต่ไม่มีอาหารที่เป็นผักให้เขากินเลยก็ไม่ได้ เราต้องสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่มีผักผลไม้อยู่”

โดยแนะนำว่าการกินผักให้ถูกต้อง อาจเริ่มด้วยวิธีการกะปริมาณแบบง่ายๆ โดยกิน “ผักนำ” ทุกมื้อ หรือให้มี “ผักครึ่งจาน” เป็นหลัก ส่วนอีกครึ่งจานจะเป็น “คาร์โบไฮเดรท” บวกกับ “โปรตีน”อีกอย่างละครึ่งของครึ่งที่เหลือ และเพิ่มเติมผลไม้ปิดท้าย หรือเป็นของว่างก็ได้

จำง่ายๆ ว่าในจานข้าวเราแต่ละมื้อ ให้เราแบ่ง ส่วน ควรกินผัก 2 ใน 4 ส่วน หรือใช้สูตร 2:1:1 คือผัก 2 ส่วน โปรตีนเนื้อสัตว์ 1 ส่วน และคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน  ถ้ากินได้อย่างนี้เราจะกินได้ผักครบ 400 กรัม”ดร.นพ.ไพโรจน์เอ่ย

“ไม่ว่าจะผักหรือผลไม้กินได้หมดเลย มีคำแนะนำอย่างเดียวคืออย่ากินผลไม้ที่มีความหวานสูง ผักผลไม้กินชดเชยกันได้ แต่หลากหลายดีกว่าผมว่าคนไทยโชคดีนะ เพราะอาหารไทยเป็นอาหารที่มีความหลากหลายและมีส่วนประกอบเยอะ ยกตัวอย่างในแกงหนึ่งถ้วยเราจะพบว่ามีวัตถุดิบประกอบถึง  20-30 ชนิดแต่คนไทยเราอาจไม่รู้ตัว ว่าเราเองกินอาหารหลากหลายค่อนข้างมาก ถือเป็นข้อดีของอาหารไทย

“แต่หลายคนอาจไม่มั่นใจว่าตัวเองกินครบ ก็ต้องไปดูตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งอีกหนึ่งในทางเลือกคือการกินผักตามฤดูกาล” ดร.นพ.ไพโรจน์แจกแจง

รักนี้ ให้ “ผัก” นำ

ทำไมต้องกินผักตามฤดูกาล

ดร.ไพโรจน์เอ่ยต่อว่า โดยปกติแล้ว ธรรมชาติไม่ได้สร้างให้ผักทุกชนิดโตได้ดีตลอดปี การที่เราเห็นผักนอกฤดูกาลบางชนิดเรียงรายในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือท้องตลาดตลอดปี เราจึงไม่รู้ว่าผักเหล่านี้ปลอดภัยไหม แต่สำหรับผักที่ออกตามฤดูกาล ธรรมชาติสร้างให้โตในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ แข็งแรงทนทาน และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์

“กินผักตามฤดูกาล ช่วยลดเสี่ยงสารเคมี เพราะผักตามฤดูกาล สามารถให้ผลผลิตและเจริญเติบโตได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีหรือสารเร่ง ต่างจากการปลูกผักนอกฤดูกาลที่มีโอกาสใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมากกว่า และอาจมีการใส่สารกันเสียเพื่อเก็บรักษา และยังทำให้ได้สารอาหารที่หลากหลายจากผักแตกต่างชนิดไปในแต่ละฤดูกาลอีกด้วย”

ทั้งนี้ สสส. ได้พัฒนาชุดความรู้ สื่อสารรณรงค์ รวมทั้งได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาในช่องทางสื่อหลัก คือ โฆษณาชุด “ผักนำ” และสื่อออนไลน์ 2 เรื่อง คือ ชุด “ผักบุ้ง” และ “กวางตุ้ง” ซึ่งยังเลือกหนึ่งในข้อดีของการกินผัก คือ “กินผักช่วยกวาดสิ่งหมักหมมในลำไส้” มาเป็น Key Message  นำเสนอในการสื่อสารครั้งนี้ ทั้งในภาพยนตร์โฆษณา ชุด ผักนำ และสื่อออนไลน์ และสื่อสนับสนุนให้ความรู้ต่างๆ

พร้อมทั้งมีปฏิทินผักตามฤดูกาล เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดของผัก ที่จะมีให้ดาวน์โหลดได้ในสื่อออนไลน์www.thaihealthlifestyle.comและอย่าลืมติดตามเพลง “เพราะรักจึงผักนำ” เรียบเรียงโดย สิงโต นำโชค ที่กำลังเปิดตัวในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์นี้