“ศาสตร์พระราชา” หนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 21

“ศาสตร์พระราชา” หนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 21

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และยังไม่สามารถหาวิธีบรรเทาและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เหมาะสมและยั่งยืน

แนวทางการพัฒนาตามศาสตร์พระราชาถือเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วในพื้นที่พัฒนาดอยตุงจังหวัดเชียงรายว่าเป็นหนทางที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

โดยก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ประจำปี 2558 ซึ่งจะมีวาระสำคัญของ ประชาคมโลกในการกำหนดเป้าหมายแห่งการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนปี 2559 - 2573 ได้มีงานเสวนาคู่ขนานของเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองในการประชุมประจำปีของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ(ECOSOC)วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มูลนิธิมั่นพัฒนาได้รับเชิญจากกรมองค์การระหว่างประเทศกระทรวงต่างประเทศในการส่งผู้แทนเข้าร่วมหารือในงานเสวนาคู่ขนานนี้ที่มีคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP)เป็นเจ้าภาพจัดงานภายใต้หัวข้อ “Outcome of Regional Consultation on Sustainable Development & Post-2015 Development  Agenda in Asia and the Pacific”ซึ่งม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรองประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาได้เข้าร่วมงานเสวนาและนำเสนอตัวอย่างของการใช้ศาสตร์พระราชาในการพัฒนาชุมชนที่ดอยตุงในงานดังกล่าว

ม.ร.ว.ดิศนัดดาได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการนำหลักการพัฒนาที่มีต้นแบบจากศาสตร์ของพระราชามาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาต่างๆในพื้นที่ดอยตุง เช่น ปัญหาความมั่นคง การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูก การค้ายาเสพย์ติดและอาวุธ  ปัญหาสุขภาพ การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน การขาดที่ดินทำกิน และปัญหาสิทธิความเป็นพลเมืองของชนกลุ่มน้อยโดยสาเหตุสำคัญที่เป็นรากเหง้าของปัญหาเหล่านี้คือความยากจน และการขาดโอกาสในการทำมาหากิน จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดการแบบยั่งยืน

ศาสตร์ของพระราชา เน้นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างความสุขแบบยั่งยืนภายใต้หลัก 3S ได้แก่ Survival (การอยู่รอด) Sufficiency (พอเพียง) และ Sustainability (ยั่งยืน)การทำงานในพื้นที่ดอยตุงเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนอยู่รอด มีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวโดยได้ริเริ่มโครงการป่าเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถหารายได้จากการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร และปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในท้องถิ่นทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอนการพัฒนา เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยเริ่มจากการระบุปัญหา ความต้องการ และสิ่งที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน และร่วมกันออกแบบโครงการ วิธีการดำเนินงาน และการประเมินผล กระตุ้นให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักคิดและลงมือทำเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาได้ด้วยตัวเอง

ม.ร.ว.ดิศนัดดาได้กล่าวต่อไปว่า หลักการสำคัญอีกประการของศาสตร์พระราชาคือ “การพัฒนาแบบองค์รวมและการบูรณาการ”  การทำงานในพื้นที่ดอยตุง เป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยราชการกว่า 35 หน่วยงานภาคเอกชนและองค์กรท้องถิ่นโดยงานพัฒนาครอบคลุมตั้งแต่การสร้างความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การชลประทาน ถนนและไฟฟ้า เพื่อปูทางไปสู่โครงการพัฒนาในระยะยาว นอกจากนั้นยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาคน สุขภาวะ การดำรงชีวิต และการศึกษา อย่างมีบูรณาการและเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่รอบด้านและยั่งยืน

ผลของการใช้ศาสตร์ของพระราชาในการพัฒนาพื้นที่ดอยตุง คือการสามารถช่วยเหลือปลดแอกความทุกข์ยากและสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า และที่สำคัญ เกิดธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้แบรนด์ดอยตุงที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนได้

ในด้านสังคม คนในพื้นที่จำนวนมากที่เคยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และระดับที่สูงกว่าขึ้นไป หลายคนได้ทำงานในระดับหัวหน้าและสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ในชุมชนบ้านเกิดได้

ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟู เป็นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ต้นตอของปัญหา โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้คิดเองทำเองและสามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน ทั้งยังสามารถรักษามรดกทางวัฒนธรรม ได้รับศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในตนเองกลับคืนมา

ต้นแบบของการใช้ศาสตร์ของพระราชาในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนดังกล่าวไม่เพียงปรากฏผลสัมฤทธิ์ที่ดอยตุงเท่านั้น หากยังมีการนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นของประเทศไทยซึ่งยังคงยึดหลักการและแนวทางในการปฏิบัติแบบเดียวกัน เพียงแต่ปรับให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงด้านภูมิสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ มีความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อนำต้นแบบแห่งการพัฒนายั่งยืนดังกล่าวบรรจุไว้ในนโยบายระดับชาติของประเทศ โดยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้มีอำนาจในท้องถิ่นนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินโครงการพัฒนาเพื่อให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ

ม.ร.ว.ดิศนัดดาเล่าให้ตัวแทนจากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมเสวนาฟังว่า นอกจากความสำเร็จระดับประเทศต้นแบบของการพัฒนาดังกล่าวยังก้าวไปสู่ระดับสากลโดยได้มีการริเริ่มโครงการพัฒนาต้นแบบในอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ประเทศอัฟกานิสถานเมียนมาร์และอาเจะห์ – อินโดนีเซียจนทำให้ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น

ผลจากการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงทำให้ประเทศไทยได้รับการถอดรายชื่อออกจากประเทศที่มีการปลูกพืชเสพติดในปี พ.ศ. 2546 โครงการพัฒนาดอยตุงยังได้รับการยกย่องจาก UNODC ให้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาชนบทอย่างครบวงจรที่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันเป็นหัวใจหลักของวิถีการพัฒนาแห่งความยั่งยืน

ตลอดระยะเวลาเกือบสามสิบปีที่โครงการพัฒนาดอยตุงได้พยายามนำแนวคิดของศาสตร์พระราชามาต่อยอดสู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งได้รับการพิสูจน์และการยอมรับแล้วว่า สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆได้จริงทั้งในระดับประเทศและสากลโดยนายโคฟีอันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549

ด้วยแนวคิดการพัฒนาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางและการสร้างอาชีพที่หลากหลาย นำมาสู่วิถีการพัฒนาทางเลือกที่ทั่วโลกให้การยอมรับ โดยภายหลังการแสดงปาฐกถาดังกล่าว ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวว่าผู้เข้าร่วมงานเสวนาให้ความสนใจกับแนวคิดดังกล่าวเป็นอย่างมากโดยหลายประเทศแสดงความต้องการให้นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในประเทศของตน

งานเสวนาที่เกิดขึ้นในเวทีระดับประชาคมโลกเช่นนี้ ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญและโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการสร้างให้เกิดการรับรู้รับทราบในเวทีระดับโลกถึงการนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปปรับใช้ในงานพัฒนาชุมชนชนบทจนเกิดผลเป็นรูปธรรม ได้รับการยอมรับและมีการขยายผลไปยังหลายประเทศ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญของงานพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ประชาคมโลกกำลังแสวงหาสำหรับศตวรรษที่ 21 นี้