ถอดบทเรียน-เปิดใจ 34 ปี คนทำงานสู้ภัยบุหรี่
การรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่กว่าสามสิบปีสำหรับประเทศไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเครือข่ายต่อเนื่อง แม้วันนี้จะยังไม่ถึงเส้นชัย แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ทัศนคติและพฤติกรรมการสูบในสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายมิติ
คนทำงานเปิดใจ เส้นทางต่อสู้กับยาสูบ
ในเรื่องนี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในฐานะคนทำงานด้านนี้ต่อเนื่อง กล่าวว่า การทำงานอย่างหนักตลอด 34 ปีของเรื่องนี้ ให้ผลที่ดีพอสมควร เมื่อเทียบกับประเทศในระดับการพัฒนาเท่ากัน ถือว่าค่อนข้างดี คือลดเปอร์เซ็นต์การสูบบุหรี่ในประชากรอายุ15 ปีขึ้นไป ลงจาก32% ในปี 2534 เหลือ 19% ในปี 2560 หรือลดลงไป 40%
“แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย 30 กว่าปีที่ผ่านมาด้วยประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น18 ล้านคน จะทำให้เรามีคนสูบบุหรี่ มากกว่านี้อีก 7.1 ล้านคน นี่จึงทำให้องค์การอนามัยโลกชมว่าประเทศไทยทำได้ดีพอสมควร แต่ควรจะดีกว่านี้ เพราะขณะนี้ไทยถือว่าดีเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และบรูไน จริงๆ เรามีกฎหมายที่ค่อนข้างดี แต่สอบตกเรื่องการบังคับใช้ และปัญหาคือรัฐบาลยังไม่ได้ให้สิทธิการรักษาเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ประกันสังคมและบัตรทองนี่คือจุดอ่อนหลักๆ" นพ.ประกิต กล่าว
เผยต้านยาสูบไทย ได้ผลดี แต่ยังมีอุปสรรค
แต่เมื่อเปิดเผยถึงสิ่งเป็นอุปสรรคทำให้ต้องทำงานกันหนักมาก คือการต่อสู้กับสิ่งเสพติด และธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งสรุปได้เป็น 4 ประเด็น คือ1.บริษัทบุหรี่จะขัดขวางนโยบาย ขัดขวางการขึ้นภาษี กฎหมายต่างๆ ที่จะมาควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น ตั้งแต่ปี 2535 มีการผลักดันกฎหมายห้ามไม่ให้เติมสารใดๆ อย่างเช่น เมนทอล เพราะทำให้เด็กติดและเลิกยากจนป่านนี้ก็ยังออกกฎนี้ไม่ได้ 2. ความไม่แน่นอนของการเมืองบางรัฐบาลก็เอาจริงแต่หลายรัฐบาลก็ไม่สนใจเรื่องการควบคุมยาสูบ เช่น มีกฎหมายแต่ก็ไม่สนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย 3. ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ เช่น การส่งเสริมให้หน่วยงานปลอดบุหรี่ ยิ่งกระทรวงการคลังไม่ได้ขึ้นภาษีบุหรี่ ยาเส้น อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ในภาคองค์กรเอกชน ภาคประชาชนก็เข้ามามีส่วนร่วมน้อย โดยเฉพาะ 17 ปีแรกที่ยังไม่มีงบประมาณจาก สสส. ภาคีภาคประชาชนที่ทำงานอย่างต่อเนื่องยังมีน้อยมาก แม้ว่าทุกคนจะบอกว่า การควบคุมยาสูบเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นด้วยที่จะมีการรณรงค์ แต่เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุน จึงยังไม่มีใครมาร่วมทำงานด้วย และ 4. งบประมาณไม่เพียงพอ ในส่วนที่ สสส.ให้มา 300 กว่าล้านบาทต่อปี รวมกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ถือว่าน้อยมากในการทำงานควบคุมยาสูบทั่วประเทศ ถ้าเทียบกับอังกฤษใช้ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
มีบางคนมองว่า สสส.ทำเรื่องลดยาสูบช้า แต่บทบาท สสส.คือการสนับสนุนและให้ทุน ซึ่งเรามีงบประมาณเรื่องยาสูบรวมทั้งประเทศประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ประเทศอังกฤษมีงบประมาณด้านนี้ถึง 12,000 ล้านบาทต่อปี เพราะเขามองว่าการรณรงค์แต่แรกเริ่มคุ้มค่ากว่าการรักษา ซึ่งวันนี้อังกฤษเขาใกล้ End Game แล้ว เขาสามารถทำให้อัตราผู้สูบลดลงจาก 13% มาอยู่ที่ 5%
“ถ้าเราดูการระบาดยาสูบจะมี 4 ระยะ ตอนนี้ทั่วโลกเฟสแรกกำลังเกิดที่ในแถบแอฟริกา เริ่มมีอัตราสูงขึ้นต่อเนื่อง อังกฤษ ยุโรป ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ที่อยู่ในเฟส 4 คือสามารถลดลงได้ตามเป้าหมาย ส่วนไทยอยู่ระยะ 3 การสูบยังทรง ทั้งที่สิงคโปร์กฎหมายสู้เราไม่ได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายเขาดีกว่าไทย”
มองภาพรวมวันนี้สถิติคนไทยมีอัตราการสูบอยู่ที่19% การจะเดินทางไปถึง5% อาจจะต้องใช้เวลานานกว่า30ปี เพราะทุกวันนี้เราลดลงเพียงปีละ0.4% แต่หลังๆมานี้แทบจะไม่ลดลงเลย
“แต่อย่างก็ดีสามสิบกว่าปี เราสามารถผลักดันในส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบได้ตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบ แต่สำหรับในกระทรวงอื่น ๆ อาจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่นเรื่องภาษียาสูบ การจัดบุคลากรทำงานขับเคลื่อน และยังมีจุดอ่อนสนับสนุนเรื่องการเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง
ที่สำคัญเรามีกฎหมายควบคุมยาสูบที่ดีเป็นมาตรฐานระดับโลก แต่ยังขาดเรื่องการลงลึกและการลงมือปฏิบัติตามกฎหมาย”
ศ.พน.ประกิต เอ่ยต่อว่า จุดเปลี่ยนการทำงานเรื่องยาสูบไม่ได้อยู่ที่ สสส.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่จังหวัดต้องร่วมมือกันให้ได้ในการรณรงค์เรื่องนี้ ถ้าการทำงานตรงนี้ไม่เกิดขึ้นการแก้ปัญหาจะยาก แต่ขณะนี้คือยังเกิดความคืบหน้าล่าช้า แม้กฎหมายจะเอื้อให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากท้องถิ่นและจังหวัดมองว่า กฎหมายไทยไม่เคยมีนโยบายให้ประเทศไทยจัดอัตรากำลังบุคลากรด้านการรณรงค์ลดยาสูบในจังหวัด จึงไม่มีคนดำเนินการ ซึ่งเรามองว่าปัญหานี้จะแก้ได้หากทางแต่ละจังหวัดสั่งการหรือมีนโยบายมอบหมาย
“เราทำนโยบายมหภาคได้ดีแล้ว แต่คนสูบอยู่ในพื้นที่หากเราไม่ลงไปจัดการแล้ว ก็จะเกิดนักสูบหน้าใหม่หรือคนยังสูบเหมือนเดิม
ถอดบทเรียนคนทำงานรณรงค์บุหรี่
สำหรับในเวที “Virtual Talk แรงบันดาลใจจากเครือข่ายงานรณรงค์เหล้าบุหรี่” ที่จัดขึ้นโดย สสส.และเครือข่าย ยังได้ถอดบทเรียนคนทำงานรณรงค์บุหรี่ พร้อมเปิดมุมมองแง่คิดสู่การสร้างแรงบันดาลใจ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสู่ความสำเร็จหลากหลาย โดยเฉพาะในระดับเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่ทุกฝ่ายมองว่าน่าเป็นห่วงใยที่สุด
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส.พยายามอย่างยิ่งในการร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติดต่างๆ เพราะปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมกับบุคคลอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงในสังคม เช่นเดียวกับบุหรี่ที่จะเข้าไปทำลายสมรรถนะการทำงานของปอด เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่ายังมีควันบุหรี่มือสอง มือสาม ที่ทำลายสุขภาพคนใกล้ชิดอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันรณรงค์ลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเหล่านี้ลงให้ได้ เพื่อเป็นการปกป้องสุขภาพของคนในสังคมโดยรวม ซึ่งการกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้กับคนทำงานรณรงค์ทั่วประเทศ ที่มาร่วมถอดบทเรียน สะท้อนมุมมองแง่คิดเรื่องเหล้าบุหรี่ร่วมกัน
นวัตกรรม “นาฎมวยไทยต้านภัยบุหรี่”
“นาฎมวยไทยต้านภัยบุหรี่” เป็นนวัตกรรมที่ทางโรงเรียนต่อยอดมาจากศิลปะการต่อสู้มวยไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์กับวัยของเด็กรุ่นใหม่ที่สังคมและโรงเรียนมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่วังวนบุหรี่
ศศิธร โคตรคันทา คุณครูผู้ดูแลโครงการ จากโรงเรียน 60 พรรษาวิทยาคม อุบลราชธานีเล่าว่า แนวคิดโครงการเกิดจากทางโรงเรียนวิเคราะห์พฤติกรรมเด็กวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ชอบการใช้ชีวิตกลางแจ้งนอกห้องเรียนมากกว่าการท่องจำ ทางโรงเรียนจึงจัดเด็กในกลุ่มเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่มาใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ ด้วยการนำแม่ไม้มวยไทยมาสร้างสรรค์เป็นการแสดงแบบนาฏกรรม
“ในกระบวนการ เราใช้ มวยโมเดล ประกอบด้วย “ม” คือความเป็นมากกว่าครู นั่นคือเป็นเหมือนแม่ที่คอยดูแลใกล้ชิด “ว” วิเคราะห์จุดแข็งหาคุณค่าของเด็กแต่ละคนในตัวเองและนำคุณค่าดังกล่าวมาสร้างวิวัฒนาการ เพื่อนำไปสู่ “ย” คือพัฒนาศักยภาพในตัวเองจนมีความยอดเยี่ยมและยั่งยืน พร้อมทั้งจัดสรรบทบาทตามความสามารถและความถนัดของเด็กแต่ละคน ส่งเสริมความเป็นทีม
ตลอดระยะเวลาสามปี ผลจากการให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบเรื่องราว สำหรับชุดการแสดงนาฎกรรมมวยไทย สอดแทรกเนื้อหาเรื่องบุหรี่ และนำไปออกแสดงในชุมชนและในงานกิจกรรมต่างๆ
นวัตกรรมดังกล่าวยังได้ความเปลี่ยนแปลงในด้านทักษะชีวิต กลายเป็นเยาวชนที่มีจิตอาสา คิดเพื่อส่วนร่วม ได้รับการยอมรับจากโรงเรียนที่เริ่มมองเห็นคุณค่าของเยาวชนที่เคยอยู่ท้ายแถวเหล่านี้
หลักสูตรบุหรี่ศึกษา รู้ภัยยาสูบจากห้องทดลอง
ขณะที่อีกหนึ่งโรงเรียนที่นำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์เรื่องพิษภัยบุหรี่
ผศ.เทอด แก้วคีรี อดีตอาจารย์ผู้สอนวิทยาศาสตร์และเคมีจากสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ และปัจจุบันได้ใช้เวลาหลังเกษียณเป็นอาจารย์พิเศษที่โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา ราชบุรี ผู้ที่เกิดไอเดียอยากนำเสนอกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เน้นให้เด็กปฏิบัติทดลองจริง และขณะเดียวกันยังกระตุ้นให้เยาวชนทราบถึงและตระหนักถึงภัยบุหรี่จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง
“เราได้รับเอกสารเกี่ยวกับเรื่องโทษของบุหรี่มาศึกษา มองว่า ในบทเรียนมีเรื่องที่ต้องเรียนเกี่ยวกับสุขภาพอยู่แล้ว จึงน่าจะนำมาประยุกต์นำเสนอเนื้อหาที่สัมพันธ์กับบุหรี่เป็นรูปแบบการทดลองในห้องเรียนสำหรับเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย เด็กเขาเองก็สนใจชอบการทดลองเรียนรู้อยู่แล้ว ผลลัพธ์คือจากเดิมที่เขาไม่เคยทราบหรือสนใจเกี่ยวกับเรื่องพิษภัยโทษบุหรี่ต่อตัวเอง แต่การเห็นผลทดลองและทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับผลเสียของร่างกายจากการสูบบุหรี่”
หลังจากนั้นจึงได้มองถึงการขยายผล สร้างเยาวชนกลุ่มแกนนำ ที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้อง ๆ รุ่นต่อรุ่น ถือเป็นแนวทางการขยายผลสู่กลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่ได้ประสิทธิภาพ