ดร.มัณฑนา รังสิโยภาส เลขาธิการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า (EVAT ) ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวแทนนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บริษัท อรุณ พลัส จำกัด, บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จํากัด, บริษัท ชาร์จแมเนจเม้นท์ จำกัด, บริษัท โชเซ่น เทคโนโลยี จํากัด, บริษัท พลังงานมหานคร จํากัด, บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด, และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อการเชื่อมต่อการใช้งานของแต่ละเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าเเบบแบตเตอรี่ (BEV) ในประเทศไทย
ทั้งนี้ สมาคมฯ เเละเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ12 องค์กร มีความประสงค์จะเข้าทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อ ดำเนินการและประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าและแสวงหา แนวทางความร่วมมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และเพื่อให้สามารถใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าได้ในทุกเครือข่ายฯ และมีระบบการ
นอกจากนี้ ยังร่วมกันแสวงหาแนวทางในความร่วมมือเพื่อให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สามารถใช้เครื่องมือ เช่น บัตร หรือ QR code โปรแกรม หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สามารถอัดประจุไฟฟ้าได้ข้ามเครือข่ายๆ โดยไม่จํากัดเฉพาะของเครือข่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงระบบการเก็บค่าบริการจากผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้บริการต่างเครือข่ายๆ ที่สามารถบริหารจัดการทั้งรายรับและรายจ่ายให้กับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจได้อย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ภายในงานกลุ่ม Charging Consortium ของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ยังได้เปิดตัว EV charging station map กลาง ที่รวบรวมโลเคชั่น ของทุกสถานีอัดประจุไฟฟ้าในกลุ่ม Charging Consortium บนเว็บไซต์ http://www.evat.or.th ซึ่งกลุ่ม Charging Consortium ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เป็นผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อีกทั้ง ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเริ่มเห็นการเติบโตของจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ สถานีอัดประจุไฟ้ฟ้าเติบโตไปในทิศทางเดียวกันด้วย
“การเปิดตัวเว็บไซต์กลางที่รวบรวบสถานีอัดประจุไฟฟ้าจากทุกค่าย ที่ตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย ไว้ในเว็บไซต์เดียว จะช่วยประหยัดเวลาค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านเว็บไซต์สมาคมฯคาดว่าช่วงสิ้นปีนี้ จะสามารถชำระเงินข้ามเครือข่ายได้ และปีต่อไปจะแลกเปลี่ยนไปยังเครือข่ายไปยังต่างประเทศ”
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะฯ ได้มอบหมายให้ 5 หน่วยงาน อันได้เเก่ กฟผ. กฟภ. กฟน.OR เเละ EA พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์มกลางของสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้าซึ่งจะมีการนำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูลสถานีอัดประจุไฟฟ้า กลุ่มแรก ในเดือนส.ค. 2565
นายฉันทกร เดวิชญ์ กริดวิชญยาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จํากัด ในฐานะอุปนายกฯ ฝ่ายส่งเสริมการใช้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า จากข้อมูลการจดทะเบียนรถอีวี มียอดโตขึ้นกว่า 100% ดังนั้น การสนับสนุนสถานีชาร์จรถอีวีถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นแบตเตอรี่ 100% มากกว่า 22 รุ่น ที่ขายในตลาด ถือว่าเติบโตมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2015-2018 โดยส่วนหนึ่งมาจากจำนวนทางเลือกที่เพิ่มขึ้นส่งผลถึงการตัดสินใจของประชาชน อาทิ ราคาที่ไม่สูงมากนักหากเทียบกับรถยนต์สันดาป โดยส่วนหนึ่งมาจากนโยบายสนับสนุนด้านการเงินของรัฐบาล
สำหรับจำนวนรถอีวีที่จดทะเบียนใหม่ปี 2022 พบว่า รถ BEV มีจำนวน 7,325 แบ่งเป็นรถยนต์อีวี 4 ล้อที่ 3,042 คัน ในขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามีจำนวนสูงสุดที่ 4,106 คัน และที่เหลือเป็นรถ Tuk Tuk สามล้อ รถบัสโดยสาร และรถบรรทุก เป็นต้น ส่วนรถ PHEV เป็นรถยนต์ 4 ล้อทั้งสิ้นรวม 5,947 คัน ในขณะที่รถ HEV มีจำนวน 32,527 คัน และรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ 191 คัน
อย่างไรก็ตาม ตามเป้าหมายนโยบาย 30@30 ของรัฐบาลรัฐต้องมีนโยบายกระตุ้นให้ยอดเป็นไปตามเป้าหมายประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย
“การจะก้าวสู่เป้าหมายของรัฐบาลนั้น สิ่งสำคัญคือ มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ จะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของภาษีต่างๆ ที่ภาครัฐดำเนินการ อีกทั้ง ราคาน้ำมันก็เป็นตัวกระตุ้นการตัดสินใจใช้รถอีวีได้ แต่จะถึงเป้าหมายรัฐบาลก็ต้องวางโครงสร้างพื้นฐาน อย่างสถานีชาร์จต้องด้วย เพราะการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตตามเทคโนโลยีตลาด จากความร่วมมือพบว่าขณะนี้มีสถานีชาร์จรวม 855 สถานี กว่า 2,000 หัวจ่าย ซึ่งนโยบายและการสนับสนุนด้านราคาค่าบริการถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะการคือนทุนของผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องง่าย มองว่าใช้เวลาถึง 8 ปี”