ชวนรู้จัก “BYD” บุกตลาด EV ไทย พร้อมผลิตเพื่อส่งออก
ค่ายรถยนต์บีวายดีหนึ่งในเจ้าตลาดอีวีโลกสัญชาติจีนบุกตาดไทย เตรียมตั้งโรงงานผลิตในประเทศ หลังบีโอไออนุมัติการลงทุน มูลค่า 17,891 ล้านบาท คาดเริ่มผลิตรุ่น BEV และ Hybrid ในปี 2567 หนุนไทยเป็นฐานส่งออกของภูมิภาค
รู้จักค่ายรถ BYD
บริษัท BYD เริ่มก่อตั้งในปี 2538 ด้วยการทำธุรกิจผลิตแบตเตอรี่มือถือ โดยมีคู่ค้าสำคัญเป็นอดีตเจ้าตลาดอย่างยี่ห้อโนเกีย จนกระทั่งปี 2545 เริ่มก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานอย่างต่อเนื่อง ผลิตรถยนต์นั่งทั้งเครื่องยนต์สันดาปและเครื่องยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รถบัสไฟฟ้า ระบบราง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
จนในปี 2565 BYD ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์รถอีวีที่ขายดีที่สุดในโลก เฉพาะในเดือน ก.ค. 2565 มียอดขายรถประเภท BEV และ PHEV ทั่วโลกรวม 162,216 คัน เพิ่มขึ้น 224% จากปีก่อนหน้า ทำสถิติใหม่ยอดขายสูงสุดในหนึ่งเดือน นอกจากนี้ BYD ยังเป็นหนึ่งในหกค่ายรถยนต์ที่ร่วมประกาศจุดยืนยุติการผลิตรถรุ่นเครื่องยนต์สันดาปในปี 2583 สอดรับกับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสีเขียวของจีน
ทั้งนี้ กระแสความต้องการใช้รถอีวีที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ BYD มีแผนการลงทุนตั้งโรงงานผลิตเพิ่ม โดยที่ผ่านมาได้เข้ามาศึกษาตลาดในไทยผ่านความร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายหลายแห่ง
โดยล่าสุด BYD ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ตั้งโรงงานผลิตรถอีวีแห่งแรกในไทย ด้วยมูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จและผลิตรถยนต์ BEV และ Hybrid เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 ถือเป็นสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวีส่งออกของภูมิภาค
นอกจากนี้ ในส่วนการขายและบริการหลังการขายในไทย BYD ได้แต่งตั้ง บริษัท เร–เว่ ออโตโมทีฟ จำกัด บริษัทลูกของกลุ่มสยามกลการ ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายสำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (Thailand Authorized Distributor)
ซึ่งบริษัทเร-เว่ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีการเปิดตัวรถอีวี BYD รุ่นใหม่ 1 รุ่น ที่เข้าร่วมการสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมทางภาษีของรัฐบาลซช่วยอุดหนุนราคาขาย 150,000 บาท โดยในปี 2566 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้จำนวน 10,000 คัน และขึ้นเป็น 1 ใน 5 แบรนด์รถยนต์ที่ขายดีที่สุดในไทยภายในระยะเวลา 5 ปี
ไทยนโยบายชัด ดันดีมานต์โต
สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี ประจำปี 2565-2566 โดยการใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี อาทิ ลดอากรขาเข้ารถยนต์ทั้งคันสูงสุด 40% ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% ส่วนรถกระบะเป็น 0% และให้เงินอุดหนุน 70,000-150,000 บาทต่อคัน โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อชักจูงให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในประเทศทดแทนการนำเข้าในช่วงแรก
ซึ่งภายหลังจากการประกาศมาตรการดังกล่าวทำให้ค่ายรถยนต์ให้ความสนใจและมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากยิ่งขึ้น รวมกับแผนการปูทางสร้างอีโอซิสเต็มของรถอีวียังกระตุ้นความต้องการของตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยสถิติรถยนต์ประเภท BEV จดทะเบียนใหม่ในไทย เดือน มิ.ย. พุ่งไปที่ 877 คัน เพิ่มขึ้น 431.52% จากปีก่อนหน้า รวมรถอีวีจดทะเบียนใหม่สะสม 6 เดือนแรก อยู่ที่ 3,041 คัน เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 234.91%
รวมไปถึงกลุ่มรถอีวีราคาสูงที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการรัฐก็มียอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าจะมีการสนับสนุนรถอีวีที่ชัดเจน นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ช่วงต้นปีมีส่วนสนับสนุนให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถอีวี
โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2565 มีรถ BEV สะสมในไทย 6,994 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 135.81%
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ประเภท HEV มียอดจดทะเบียนใหม่เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 5,581 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 103.91% รวมรถประเภท HEV สะสม 6 เดือนแรก 32,527 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า61.58% และรถยนต์ไฟฟ้า ประเภท PHEV มียอดจดทะเบียนใหม่ เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 1,085 คันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 59.56% รวมรถประเภท PHEV สะสม 6 เดือนแรก 5,947 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 55.88%
ขณะที่ยอดรวมยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศไทย ณ 30 มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 284,613 คัน แบ่งออกเป็น ประเภท BEV จำนวน 18,644 คัน คิดเป็น 6.55% ประเภท HEV จำนวน 228,894 คันคิดเป็น 80.42% และประเภท PHEV จำนวน 37,075 คัน คิดเป็น 13.03%