เปิดแผนอีโคซิสเต็ม “อีวี” ดัน “อีอีซี”ศูนย์กลางผลิตอาเซียน
โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันสภาพแวดล้อมการลงทุน New S-Curve โดยเฉพาะการต่อยอดศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อให้ไทยรักษาตำแหน่งฐานผลิตและส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของโลก
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รายงานว่าที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตรถอีวีและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องระดับโลกหลายแห่ง อาทิ ABB, BMW, Siemens, REMODDIS, ALBA group และ BYD ได้แสดงความสนใจและพร้อมเข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี
สกพอ.เตรียมเสนอตั้งพื้นที่พิเศษ (Special Zone) เพื่อรองรับคลัสเตอร์การลงทุนอุตสาหกรรมอีวีตลอดทั้งซัพพลายเชน โดยกำหนดเงื่อนไขให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโนยี การร่วมทุนกับนักลงทุนไทย รวมทั้งการใช้ซัพพลายเชนในประเทศบางส่วน ตอบสนองเป้าหมายให้ไทยสามารถสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง
นงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ สกพอ. กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “EEC Economic Forum : การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์กับผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย” ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและราคาพลังงานที่ยังผันผวน กระตุ้นให้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเติบโตในหลายประเทศทั่วโลก
รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสู่การเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
ทั้งนี้ การปรับตัวสู่การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ จากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะผู้ผลิตและประกอบยานยนต์ (OEM) รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใน Tier ต่างๆ กว่า1,500 โรงงานในพื้นที่อีอีซี ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะต้องมีการปรับตัวอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ อีอีซี ได้เตรียมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญรวมทั้งผลักดันให้เกิดสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมสมัยใหม่และอีวี รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ดังนี้
1.การลงทุนของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA), บริษัท จีพีเอสซี (GPSC) และ บริษัท EVlomo จากสหรัฐ รวมมีกำลังการผลิต 5 กิกะวัตต์ ภายในปี 2566 ซึ่งถือว่ามีกำลังการผลิตที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในขณะนี้
2.การเพิ่มสถานีอัดประจุ (EV Charging Station) โดยกระทรวงพลังงานและภาคเอกชนเร่งผลักดันให้เกิดสถานีอัดปะจุเพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อรองรับความต้องการใช้รถอีวีในอนาคต และเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี 300 แห่งภายในปี 2565 โดยมีผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์ที่สำคัญ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, EA, PTT OR และ ABB ในขณะที่ผู้ผลิตหัวชาร์จที่เป็นระบบจ่ายไฟขนาดเล็กที่ใช้สำหรับที่พักอาศัยและอาคารสำนักงาน อาทิ Huawei และ SEIMENS กำลังเริ่มการผลิตในพื้นที่อีอีซีแล้ว
3.การดัดแปลงรถเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถแบตเตอร์รี่ไฟฟ้า (EV Conversion) โดยความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการสร้างโครงการต้นแบบดัดแปลงรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ และรถสองแถว รวมทั้งการพัฒนาบุคคลากรผ่านสถาบัน ARAI Academy ในการฝึกอบรมทักษะการดัดแปลงรถของอู่รถยนต์ในอีอีซี
ทั้งนี้ การสนับสนุนให้มีการดัดแปลงเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นไฟฟ้าเพื่อเร่งผลักดันให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการมีสัดส่วนการใช้รถอีวีในประเทศเป็น 30% ภายในปี 2030 สอดคลองกับเป้าหมายการลดปริมาณการปล้อยก๊าซเรือนกระจกของไทย
4.การพัฒนาทักษะบุคคลากรทักษะสูงรองรับอุตสาหกรรมอีวีตามแนวทาง Demand-Driven โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและไทย ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตชิ้นส่วนรถอีวี และแบตเตอรี่ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและการพัฒนาความสามารถโดยความร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี อาทิ ABB Academy ฝึกทักษะบุคคลากรด้านระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
ทั้งนี้มีเป้าหมายการพัฒนาบุคคลากรให้ได้ 30,000 คนเพิ่มโอกาสและสร้างงานรองรับบุคลากรให้มีทักษะสูง ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สร้างรายได้ให้คนพื้นที่อีอีซีอย่างมั่นคง
5.การตั้งศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานยานยนต์ รวมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ภายในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยียานยนต์ของไทย อาทิ ศูนย์ทดสอบยางยนต์และยางล้อแห่งชาติ จ.ฉะเชิงเทรา และ EECi-Aripolis เมืองนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติและระบบอัจฉริยะ ซึ่งเป็นสนามทดสอบสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ
6.การสนับสนุนอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ หรือการแปรสภาพแบตเตอรี่เคลื่อนที่ซึ่งหมดอายุแล้วเป็นแหล่งกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการสกัดวัตถุดิบภายในแบตเตอรี่เพื่อนำมาใช้ใหม่ ซึ่งมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่แสดงความสนใจ
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะเกิดการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตอันใกล้ และจะเป็นโอกาสสำคัญดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจหวุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว-และเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) เป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปีพร้อมสร้างความมั่นใจนักลงทุนต่อเนื่อง