ลุยถิ่นจิงโจ้ ขับ 'ฟอร์ด แร็พเตอร์' ดุดันบนทางฝุ่น และงานง่ายของ 4L
เป็นรถปิกอัพสมรรถนะสูงที่่ได้รับความสนใจอย่างมาก สำหรับ "ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์" ซึ่่งเจเนอเรชั่นใหม่ มาพร้อมกับขุมพลังใหม่ที่ดุดันขึ้น และการขับขี่ในรูปแบบออฟโรด ที่เป็นจุดเด่นของแร็พเตอร์จะเป็นอย่างไร เรามาลุยถิ่นจิงโจ้ ออสเตรเลีย หาคำตอบไปด้วยกัน
ผมเคยนำเรื่องราวการลองขับหนึ่งในรถที่กำลังได้รับความสนใจสูงตอนนี้ คือ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์” (Ford Ranger Raptor) ใหม่ ที่มาพร้อมขุมพลังใหม่เครื่องยนต์เบนซินวี 6 อีโคบูสต์ เทอร์โบ 3.0 ลิตร กำลังสูงสุด 397 แรงม้า ที่ 5,650 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 583 นิวตันเมตรที่ 3,500 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด เป็นการขับขี่บนท้องถนน ทางเรียบ
เพราะว่าเรื่องของการขับแบบออฟโรดผมมีนัดกับฟอร์ดที่ออสเตรเลียว่าจะไปลองลุยกัน ทั้งการขับขี่ในแบบความเร็วต่ำ หรือ การใช้ 4L เป็นหลัก และแน่นอนเมื่อขับแร็พเตอร์ ถ้าไม่ลองขับขี่ออฟโรดแบบความเร็วสูงด้วยโหมด BAJA ก็ถือว่าเสียเที่ยว
ฟอร์ด ออสเตรเลีย เลือกพื้นที่ลองขับย่าน เมาท์ คอตตอน ควีนสแลนด์
เส้นทางลองขับแบบความเร็วสูง เส้นทางที่มีทั้งทุ่งหญ้า ทางดินที่เปียกแฉะ พร้อมให้ล้อรถตะกุยกระเด็นขึ้นมา และทางกรวดแห้งๆ ลื่นๆ เลาะไปตามทุ่ง และเลียบยอดเนินที่มีขนาดความสูงย่อมๆ ในจังหวะเป็นทางโค้งยาวๆ เพิ่มความตื่นตัว เพราะคงไม่ดีแน่ ถ้าจะไถลออกนอกโค้งลงเนินไป แม้จะย่อมๆ ก็ตาม
ช่วงล่างของแร็พเตอร์ ยังทำงานได้ดี สร้างความมั่นใจในการลุยได้ กับช่วงล่างด้านหน้า อิสระปีกนก อลูมิเนียม 2 ช้้น ช็อค แอบซอร์เบอร์ FOX Live Valve และเหล็กกันโคลง ด้านหล้ง คอยล์โอเวอร์ช็อค และ ช็อค แอบซอร์เบอร์ FOX Live Valve เช่นกัน
การควบคุมรถทำได้ดี เส้นทางที่เห็นกรวด หินลอย สามารถกดคันเร่งเติมความเร็วได้ประมาณ 120 กม./ชม. และเมื่อเป็นช่วงโค้งกว้างๆ รถก็สามารถเลี้ยงตัวเองให้ไปตามเส้นทางได้ โดยมีอาการท้ายสไลด์เล็กน้อย ก็แค่เลี้ยงพวงมาลัยเล็กน้อยให้กลับเข้าที่เข้าทาง โดยไม่ต้องผ่อนความเร็ว
และเมื่อถึงโค้งแคบๆ การเบรกแบบหนักหน่วงเพื่อลดความเร็วกะทันหันบนเส้นทางแบบนี้ ก็ไม่มีผลกับการทรงตัวของแร็พเตอร์
จุดเด่นในแต่ละโค้ง คือ หน้ารถแม่น เมื่อลดความเร็วในระดับที่เหมาะสม หักพวงมาลัยจิกหน้ารถเข้าไปที่โค้งด้านใน ผลที่ได้คือ มันจิกโค้งแบบอยู่หมัด จากนั้นก็เติมคันเร่ง ส่งรถออกจากโค้งได้เลย ไม่ต้องสนใจว่าท้ายจะสไลด์หรือไม่ เพราะที่สุดแล้วมันจะไม่มีปัญหาในการควบคุมรถ หรืออย่างมากก็แก้ด้วยการคืนทิศทางพวงมาลัยเล็กน้อยเท่านั้น โดยได้ของแถมคือท้ายรถที่กวาดออกไป ทำให้ตั้งลำรองรับทิศทางใหม่ที่กำลังจะพุ่งไป
สิ่งที่ทำให้ควบคุมง่ายนอกจากเรื่องของช่วงล่าง ความแม่นยำและน้ำหนักพวงมาลัยก็คือ การแสดงอาการของรถที่ถ่ายทอดมายังผู้ขับนั้นรวดเร็ว และแม่นยำ ทำให้วางแผนการขับได้ทันท่วงที เช่น รู้อาการ อันเดอร์ สเตียร์ โอเวอร์ สเตียร์ ได้รวดเร็ว และการโยนต้วของตัวถังที่น้อย ทำให้ไม่ถูกอาการของรถมันหลอกเอาได้
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของการขับในเส้นทางนี้ ที่มีทั้งกรวดหิน ดิน ทราย หลุม ร่อง คือผู้โดยสารยังนั่งได้ค่อนข้างสบาย จากการที่ช่วงล่างสามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี ถ้ามองจากด้านข้างจะเห็นได้ว่าตัวถังรถที่พุ่งไปข้างหน้า พยายามรักษาทิศทางที่ขนานกับพื้นโลกให้มากที่สุด โดยมีล้อที่ขึ้นลงตามพื้นผิวที่ไม่เรียบ หรือเป็นหลุมเป็นร่อง
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้การนั่งในห้องโดยสาร ยังสบายๆ ไม่ว่าทางจะขรุขระแค่ไหนก็ตาม
ทั้งนี้การทำงานที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของช่วงล่าง คือ ช็อค แอบซอร์เบอร์ FOX Live Valve ที่ Live Valve จะตรวจจับแรงกระแทก 500 ครั้ง/วินาที เพื่อปรับการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพเส้นทาง
การขับเส้นทางแบบนี้ชั่วโมงนี้ก็ต้องยกให้กับฟอร์ด แร็พเตอร์ ที่มีทั้งโหมดบาฮาที่รักษารอบเครื่องไว้ในระดับสูง ช่วยให้เติมความเร็วได้รวดเร็ว ทำให้การขับขี่ที่ต้องเปลี่ยความเร็วไปมาบ่อยๆ ทำได้คล่องตัว เพิ่มอารมณ์สปอร์ต และความสนุกมากขึ้น
และแน่นอนช่วงล่างที่จัดการกับเส้นทางแบบนี้ได้ดี ทำให้สามารถใช้คันเร่งแบบดุดันได้ตลอดเวลา และยิ่งได้ขุมพลังใหม่ ทำให้มันสร้างความเร้าใจได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัดครับ
การขับขี่อีกแบบหนึ่งในเส้นทางที่เหมาะสำหรับการขับช้าๆ ใช้เกียร์ 4L เป็นหลัก ก็เป็นการรีดสมรรถนะของ แร็พเตอร์ ได้ดี และก็มีโหมดให้เลือกตามความเหมาะสมกับเส้นทาง
และยังมีเทคโนโลยีที่่ช่วยให้การขับขี่ง่ายขึ้น อย่างเช่น Trail Control หรือระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้เท้าเลี้ยงคันเร่งเอง เช่น การขับขี่ในเส้นทางเนินสลับ ก็ใช้โหมดนี้ได้เลย หรือจะเป็นทางดินทางโคลนก็ได้หมด โดยสามารถปรับเพิ่ม-ลด ความเร็วได้ตามความเหมาะสม
และเมื่อขับลงเนินชันๆ ซึ่งโดยปกติหลายคนที่ชอบใช้ระบบช่วยเหลือ อาจคุ้นกับระบบช่วยลงเนิน หรือ Hill Descent Control แต่สำหรับแร็พเตอร์ ใช้ Trail Control ก็ครอบคลุมระบบช่วยลงเขาไปด้วย
ซึ่งระบบทำงานได้ดี แม่นยำ ลงเนินชันได้สบายๆ
ส่วนการขับขี่เส้นทางดิน ทางร่อง ทางโคลน หรือช่วงผ่านลำธารซึ่งไม่ลึกนัก มันกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับ แร็พเตอร์ เพราะตลอดเส้นทางที่ฟอร์ด ออสเตรเลีย จัดไว้ให้ ผมแตะคันเร่งเบาๆ ไม่มีจังหวะไหนที่ต้องเค้นเครื่องยนต์ ก็สามารถผ่านไปได้ง่ายๆ
จุดขายอีกอย่างที่มีในแร็พเตอร์ ไม่มีในปิกอัพคันไหน คือ ดิฟล็อค ล้อหน้า ซึ่งควบคุมด้วยไฟฟ้า ใช้งานง่าย ดังนั้นเมื่อใช้ดิฟล็อคทั้งล้อหน้าและล้อหลัง และก็ช่วยให้การขับขี่ในบางเส้นทางง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การไต่เนินชันมาๆ ก็แค่กดคันเร่งพอประมาณ รถก็ไต่ขึ้นไปไม่ยากอะไร และแม้แต่ลองจอดกลางเนินแล้วออกตัวใหม่ ก็ไปแบบนุ่มๆ ไม่ต้องกดคันเร่งรุนแรง
ทั้งระบบช่วยเหลือการขับขี่ ทั้งสมรรถนะเครื่องยนต์ ช่วยให้ทุกอย่างมันดูง่ายไปหมด
ส่วนในด้านมุมมอง เมื่อเลือกโหมดแสดงผลออฟโรด หน้าจอก็จะปรับให้เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ทั้งกล้องรอบคนที่สามารถเลือกมุมองได้หลายแบบ ช่วยได้เยอะ โดยเฉพาะด้านหน้าเมื่อจะไต่ลงเนินที่ผู้ขับมองไม่เห็นทาง ก็ไม่จำเป็นต้องจอดรถลงมาดูทาง แต่ใช้ดูผ่านหน้าจอ ที่เห็นชัดเจนพร้อมเส้นนำสายตาให้รู้ว่ารถกำลังมุ่งหน้าไปตรงไหน มีอุปสรรคหรือไม่ พร้อมทั้งข้อมูลองศาของรถว่าไต่ขึ้น ลงเนิน หรือเอียงกี่องศา
หรือจะกดเลือกการทำงานอื่นๆ เช่น ดิฟ ล็อค ก็ทำได้ที่หน้าจอ
ซึ่งการออกแบบการเลือกการขับขี่ควบคุมทั้งที่หน้าจอ หรือว่าปุ่มควบคุมระบบขับเคลื่อน โหมดการขับขี่ ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ปรับเปลี่ยนได้ระหว่างการขับขี่ หรือถ้าต้องจอดให้บางโหมด เช่น สลับไปมาระหว่าง 4L กับ 4H หรือ 2H ก็ปรับได้รวดเร็ว
นั่นทำให้การขับขี่ออฟโรดเป็นเรื่องสะดวกและง่ายสำหรับ ฟอร์ด แร็พเตอร์ครับ