วิกฤติขาด “ชิป” คลี่คลาย หนุนยานยนต์เพิ่มกำลังผลิต
อุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีความเสี่ยง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่ยังยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การคลายล็อกดาวน์และการกลับมาทำงานปกติ มีแนวโน้มทำให้ดีมานด์ของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยขยายตัวอย่างมากในช่วงโควิด-19 เริ่มชะลอตัวลง
ทำให้ยานยนต์จะได้รับจัดสรรชิปมากขึ้น และสามารถทยอยส่งมอบรถตามคำสั่งซื้อ
ความร้ายแรงของวิกฤติขาดแคลนชิป เริ่มต้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังการผลิตบางส่วนต้องหยุดชะงัก หลายบริษัทเริ่มกักตุนชิปขณะที่ยังคงมีออเดอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง จากเทรนด์การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล และดีมานด์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในช่วงทำงานที่บ้าน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการผลิตในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์
ในปี 2564 ปัญหาการขาดแคลนชิปทำให้อุตสาหกรรมการผลิตยนตรกรรมทั่วโลกพร้อมใจกันลดกำลังการผลิต เริ่มจากฟอร์ด มอเตอร์ โค วางแผนยุติการผลิตที่โรงงานแห่งหนึ่งในหลุยส์วิลล์ รัฐเคนตั๊กกี้ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ส่วนฮอนด้า มอเตอร์โค เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ เอ็นวี และค่ายรถอื่นๆ พยายามแก้ปัญหาขาดแคลนชิป จนนำไปสู่การบังคับให้ต้องลดกำลังการผลิตรถยนต์ทุกประเภทตั้งแต่รถบรรทุกปิ๊คอัพขนาดใหญ่จนถึงรถเก๋งซีดานคอมแพค
ทั้งนี้ ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถยนต์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใช้ชิปคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่เป็นคู่แข่งกับภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ความต้องการชิปในอุตสาหกรรมรถเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทต่างๆพากันพัฒนาเทคโนโลยีในรถยนต์กันมากขึ้น หวังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับยุคใหม่ที่นิยมเทคโนโลยีล้ำสมัย
นอกจากนี้ การที่อุตสาหกรรมรถยนต์หันไปเน้นผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคันก็ทำให้มีความจำเป็นมากขึ้นที่อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องใช้ระบบต่างๆ บนพื้นฐานของซอฟต์แวร์มากขึ้น “รถส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีชิปประเภทต่างๆ อย่างน้อย 40 ประเภท และแบ่งเป็นชิปสำหรับรถรุ่นไฮเอนด์มากถึง 150 ประเภท ถ้ากระบวนการผลิตของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกิดปัญหาคุณจะจัดส่งรถไม่ได้เลย” แซม อะบูเอลซามิด นักวิเคราะห์จากไกด์เฮาส์ อินไซต์ส กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตชิพหลายแห่งมีแผนขยายโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิต แต่คาดว่าจะใช้เวลาถึงปี 2565-2566 กว่าจะผลิตได้ ทำให้ปี 2565 มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ขาดแคลนชิปจะเริ่มคลี่คลาย แต่แล้วปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ กลับทำให้เดือนส.ค. 2565 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯ จาก 1.80 ล้านคัน เป็น 1.75 ล้านคัน ลดลง 50,000 คัน ประกอบด้วย
1.สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่เกิดขี้นปลายเดือน ก.พ.2565 คงยืดเยื้อนาน ทำให้การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วขาดแคลนมากขึ้น เพราะทั้งสองประเทศส่งออกรายใหญ่ก๊าซนีออนที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยผลจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้การส่งออกรถยนต์ไปทั้งสองประเทศลดลงกว่า 20,000 คัน
2.การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในเดือน เม.ย.-พ.ค.2565 ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น เพราะโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้
3.ประเทศเมียนมาประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์ เมื่อปลายเดือน ก.ค.2565 ทำให้ส่งออกรถยนต์ลดลงกว่า 2,000 คัน
4.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ไต้หวัน ตะวันออกกลาง เป็นต้น
5.อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของประเทศชั้นนำของโลกอาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ปัจจัยของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทะลุ 1 แสนคัน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือน หลังจากสถานการณ์ขาดแคลนชิปคลี่คลาย เมื่อดีมานด์ของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เริ่มลดลง ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับส่งมอบชิปมากขึ้น โดยยอดส่งออกรถยนต์ในทุกประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับฐานต่ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีก่อนหน้า
ขณะที่มูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 91,067.74 ล้านบาท จาก 66,095.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าเนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกรถกระบะและรถ PPV มากขึ้น ซึ่งมีราคาสูงกว่ารถอีโคคาร์
โดยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปช่วง 9 เดือนแรกของตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.2565 อยู่ที่ 706,444 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.28% โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 642,551 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.48%
สำหรับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือน ก.ย.2565 มีจำนวน 179,237 คัน สูงสุดในรอบ 9 เดือน เพิ่มขึ้น 27.99% จากเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.37% จากเดือน ส.ค.2565 โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกได้ถึง 106,190 คัน เท่ากับ59.25% ของยอดผลิตทั้งหมด เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นในรถยนต์บางรุ่นที่ผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะรถกระบะและรถ PPV ที่เพิ่มขึ้น 52.27% และ 132.97% จากเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าตามลำดับ และผลิตเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้น 39.92% ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,364,037 คัน เพิ่มขึ้น 12.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้อาจกลับไปได้ตามเป้าเดิม คือ 1.8 ล้านคัน ขึ้นอยู่กับการส่งมอบชิปในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์อีก 1 เดือนก่อน ว่าจะปรับเป้าหรือไม่”
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ก.ย.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 74,150 คัน เพิ่มขึ้น 15.64% จากเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้นหลายล้านคน การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่นคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น การส่งออกที่เติบโตต่อเนื่องมาหลายเดือน การประกันรายได้เกษตรกร รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น
รวมทั้งมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาขายด้วย และเพิ่มขึ้น 8.71% จากเดือนก่อนหน้า และช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มียอดขายรวม633,687 คัน เพิ่มขึ้น 19.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับยอดจดทะเบียนยานยนต์ประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ในเดือน ก.ย.2565 จดทะเบียนใหม่ 2,210 คัน เพิ่มขึ้น275.85% จากเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทผสม (HEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,718 คัน เพิ่มขึ้น176.01% และยานยนต์ไฟฟ้าประเภทเสียบปลั๊กแบบผสม (PHEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 1,083 คัน เพิ่มขึ้น 79.60%
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 มีจำนวนรถยนต์นั่งไฟฟ้าประเภท BEV จดทะเบียนสะสม 9,806 คัน เพิ่มขึ้น 176.46% จากปีก่อนหน้า รถยนต์นั่งประเภท HEV จำนวน 236,225 คัน เพิ่มขึ้น 31.11% และรถยนต์นั่งไฟฟ้าประเภท PHEV จำนวน39,834 คัน เพิ่มขึ้น 35.47%
“ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้ายังมีอัตราการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะรถโดยสารและรถบรรทุก ภาพรวมทั้งประเทศมีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 11.9% ต่อยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ขณะที่ทั่วโลกตั้งเป้าว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโต 13%”