ส.ยานยนต์ไฟฟ้าไทย หวังเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวเนื่องรับการเติบโตผู้ใช้อีวี
“สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย" ลุยหารือกทม.-กระทรวงศึกษา เพิ่มหลักสูตรเกี่ยวเนื่องรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไทย “กฟผ.” พร้อมต่อยอดนำรถจอดทิ้งกว่า 40 คันมาดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าใช้ในองค์กร ย้ำภายในปีนี้เปลี่ยนรถผู้บริหารเป็นรถอีวีครบทุกส่วน
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมคมฯ ได้ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาเขตศรีราชามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เปิดตัวโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 2 (2nd EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity) เพื่อต่อยอดในเชิงพานิชย์ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จึงต้องพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับอนาคต และเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
“เราร่วมมือกับภาครัฐ-เอกชน โดยเมื่อได้นวัตกรรมที่ดีอย่างครั้งที่ผ่านมามีบริษัทรถนำเอาไปต่อยอดเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตำรวจ ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งณะนี้เราได้หารือกับกระทรวงศึกษาในการเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวเนื่องอาทิ อิเล็กทรอนิกส์เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าเข้าไปสร้างศักยภาพให้กับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต”
นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ดำเนินภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายภาครัฐ สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งในมาตรการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ซึ่งตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือ รถ ZEV ให้ได้อย่างน้อย 30% ในปี 2573
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกฟผ.ได้สนับสนุนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเป็นประโยชน์สามารถนำมาขยายผลใช้งานภายใน กฟผ. ได้ รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และเป็นโอกาสในการเเสดงศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงตามหลักวิศวกรรมและความปลอดภัย ที่สามารถต่อยอดเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เป็นการสร้างโมเดลทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และโมเดลธุรกิจ BCG ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ที่ผ่านมา กฟผ. ส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2559 รวมถึงส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันกว่า 20 ล้านคัน โดยได้พัฒนาเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นสูงจนนำไปสู่การติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแล้วตั้งแต่ปี 2562 และต่อยอดใช้ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมอาชีพรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะในพื้นที่รอบ กฟผ. อ.บางกรวย 41 คัน และจะขยายเฟส 2 ในเขตบางพลัดอีก 50 คันในปีนี้ เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน โดยใน
“กฟผ.จะนำรถจักรยานยนต์จอดทิ้งมาดัดแปลงเป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันมีกว่า 40 ทั่วประเทศ เพื่อให้พนักงานได้ใช้ภายในองค์กร ซึ่งตอนนี้กฟผ.มีรถบัสอีวีรับส่งพนักงานทั้งหมด 11 คันทั่วประเทศ ในขณะที่รถยนต์สำหรับผู้บริหารได้เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นรถอีวีแล้ว ซึ่งภายในปีนี้จะพยายามเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งให้กับผู้บริหารครบทุกฝ่าย ส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้าปัจจุบัน กฟผ. เปิดให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT พร้อมสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 98 สถานีทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT สู่ 140- 150 สถานี ภายในสิ้นปี 2566”
สำหรับการจัดการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคตในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 เเล้ว นี้มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน 73 ทีม แบ่งเป็น ประเภททีมสถาบันการศึกษา 58 ทีม และประเภททีมประชาชนทั่วไป 15 ทีม ชิงถ้วยรางวัลชนะเลิศจากนายกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเงินรางวัลรวมมูลค่าสูงสุดกว่า 450,000 บาท การเเข่งขันจะมีขึ้นในวันที่ 5 - 7 พ.ค. 2566 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี