EEC ปักธงศูนย์กลาง EV BYD-GWM เร่งเครื่องแผนลงทุน
“อีอีซี” เดินเครื่องดันไทยสู่ ฮับยานยนต์ไฟฟ้า หลังดีมานด์เติบโตก้าวกระโดด "สกพอ.-บีโอไอ" เร่งดึงซัพพลายเชน หนุนตั้งโรงงานแบต ‘บีวายดี’ ลุยแผนตั้งโรงงานทุ่มงบ 1.7 หมื่นล้าน ด้าน ‘เกรทวอลล์’ วางแผนขยายไลน์โปรดักส์ผลิตรถกระบะไฟฟ้า อยู่ระหว่างเจรจาบีโอไอ
ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี เป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญของประเทศไทย ในการก้าวไปสู่ฮับอีวีภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมามีการผลักดันมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย และการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ ด้วยการคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล หากเป้าหมายของการเป็นฮับอีวีสำเร็จเป็นรูปธรรม จะยิ่งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างมหาศาล
นายเพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและในภูมิภาค ด้วยทิศทางความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดทั่วโลก รวมถึงในไทยจากการผลักดันเชิงนโยบายและการสนับสนุนสิทธิประโยชน์
ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ระบุประเด็นหมุดหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐ ที่มีความต่อเนื่องชัดเจน และตัดสินใจลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการกำหนดเขตส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้า
บีวายดีลุยตอกเสาเข็ม-เกรทวอลล์ฯลุยกะบะอีวี
ความคืบหน้าล่าสุดของโรงงานผลิตรถยนต์ของ บีวายดี ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 พื้นที่ 600 ไร่ ที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไปตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 เริ่มมีการเกลี่ยหน้าดินปรับพื้นที่ พร้อมเริ่มตอกเสาเข็มโรงงานภายในปีนี้ โดยคาดว่าทีมผู้บริหารจากจีนจะเดินทางเข้ามาอีกครั้งในเดือนมี.ค. นี้ เพื่อเดินหน้าแผนต่อไป ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวเป็นการลงทุนจากจีน 100% โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าจำนวน 150,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป
สำหรับการลงทุนในระยะแรก บีวายดี ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่า 17,891 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด และอีกหนึ่งโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ของบริษัท บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 3,893 ล้านบาท
โดยบีวายดี เคยประกาศไว้ว่า จะให้ความสำคัญที่ตลาดรถยนต์ประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศไทยก่อน พร้อมกับศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการลงทุนอื่นๆ อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด
"บีวายดีมีความชัดเจนที่จะทำตลาดในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การนำเข้ารถมาทดลองตลาด 2,000 คัน ผ่านตัวแทนจำหน่ายคือ บริษัทเร-เว่ออโตโมทีฟ จำกัด ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีทำให้มียอดจองรวม 10,000 คัน ในปีที่่ผ่านมา จึงเชื่อว่าบีวายดีจะเร่งการก่อสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จเพื่อผลิตชดเชยในประเทศ 1.5 เท่า ตามกำหนดของมาตรการอุดหนุนอีวี"
ขณะที่ บริษัท เกรทวอลล์ มอเตอร์ ที่มีรถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริดหลายรุ่นที่ได้รับความนิยมจากตลาดในประเทศ ได้เตรียมแผนขยายไลน์โปรดักส์ผลิตรถกระบะไฟฟ้า โดยอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอและเข้าร่วมมาตรการอุดหนุนอีวีของภาครัฐ
ซัพพลายเชนมา หนุนเงินสะพัด
“สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปี 2566 ในพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะได้รับเม็ดเงินลงทุนที่เกี่ยวกับซัพพลายเชนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะตามเข้ามาหลังจากมีผู้นำอุตสาหกรรมได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ รวมทั้งการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสีเขียวและโมเดลบีซีจี เช่น ธุรกิจกำจัดของเสีย ซึ่งถือเป็นไฟล์ทบังคับของภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน”
โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในซัพพลายเชนของยานยนต์ไฟฟ้าได้ประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ อาทิ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ซึ่งนำโดยบริษัทอีเอ ได้ลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเที่ยมรวมถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ซึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทในระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการผลิตและการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) และรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV conversion) เป็นต้น ควรมุ่งเน้นไปที่การสร้าง อีโค่ซิสเต็มสำหรับยานยนต์พลังงานสะอาด และการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต
เช่น เทคโนโลยีด้าน connected and autonomous vehicle เทคโนโลยีอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ (AI, Internet of Vehicle – IoV, Cloud Computing, Block Chain, Satellite) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและยกระดับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์รายย่อยในประเทศให้มีโอกาสปรับตัวและพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ไทยสามารถก้าวเป็นผู้นำของประเทศผู้ผลิตยานยนต์สมัยใหม่ได้ในอนาคต
ปัจจุบัน บีโอไอ ได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท คิดเป็นยอดกำลังการผลิตรถไฟฟ้า 830,000 คัน และคาดการณ์ว่าภายในต้นปี 2566 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งล้านคันและภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 700,000 คันต่อปี
เกรทวอลล์วางแผนผู้นำตลาดxEV
สำหรับ เกรท วอลล์ ผู้ผลิตรถยนต์จากจีน เข้ามาทำธุรกิจในไทย ด้วยการซื้อโรงงานผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ที่ระยองจากจีเอ็ม ประเทศไทย และเชฟโรเลต ประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2562 ก่อนจะเริ่มดำเนินธุรกิจจริงในปี 2563โดยการลงทุนทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นมีกำลังการผลิต 80,000 คัน/ปี
โรงงานในไทยเป็นโรงงานผลิตเต็มรูปแบบแห่งที่ 12 และแห่งที่ 2 นอกประเทศจีน โดยมีการผลิตตั้งแต่ชิ้นส่วนจนถึงการประกอบรถสำเร็จรูปขณะที่อีก 5 แห่งนอกจีน เป็นโรงงาน KD (Knock Down) ที่ทำแค่การประกอบรถ จากชิ้นส่วนที่ส่งมาจากที่อื่นเท่านั้น
โดยเกรท วอลล์ กำหนดให้โรงงานระยองเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวา สำหรับทำตลาดในประเทศ 60% และส่งออกไปยังตลาดที่ใช้รถพวงมาลัยขวาอีก 40%
ด้านผลิตภัณฑ์ เปิดตัวรถรุ่นแรกในปี 2564 คือ “ฮาวาล เอช6 ไฮบริด” พร้อมกับการประกาศแผนธุรกิจว่าต้องการเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน (xEV) และจะเปิดตัว 9 รุ่นภายใน 3 ปี
ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มองว่าทิศทางของพลังงานไฟฟ้าจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังไม่ใช่พลังงานไฟฟ้า 100% ดังนั้น จึงมีทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ด้วยเทคโนโลยีลูกผสมทั้ง ไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด รวมถึงรถพลังงานไฟฟ้า (EV)
ซึ่งในส่วนของ อีวี เกรท วอลล์ เปิดตัวรุ่นแรก คือ โอร่า กู๊ดแคท ในปี 2564 ซึ่งได้รับการตอบรับจำนวนมาก และจัดเป็นอีวียี่ห้อที่ 2 ที่มีบทบาทกับตลาดรถยนต์ไทยในกลุ่ม mass market ต่อจาก เอ็มจี ที่เป็นค่ายที่ผลักดันให้ อีวี ไทยกระโดดขึ้นไปเป็นหลักพันคัน จากก่อนหน้านั้นอยู่ในหลักสิบคัน หรือ หลักร้อยคันต้นๆ
จากนั้นปี 2565 เกรท วอลล์ เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าด้วยการเปิดตัว โอร่า กู๊ด แคท จีทีอย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดจะตอบรับดีแต่เกรท วอลล์ ก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ คือ ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบ โดยเฉพาะ เซมิคอนดัคเตอร์ ทำให้ต้องหยุดรับจองชั่วคราวมในเดือน เม.ย. 2565 เพื่อเคลียร์ยอดค้างจอง
ล่าสุด เกรท วอลล์ ระบุว่าสามารถจัดการส่งมอบได้ครบแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จึงพร้อมกับมาเปิดรับจองใหม่อีกครั้งในวันนี้ (9 ก.พ.) ผ่านช่องทางออนไลน์
แต่ทั้งนี้ การเปิดจองรอบใหม่ เกรท วอลล์ จำกัดเวลา แค่ 1 ชม. คือระหว่าง 19.00-20.00 น. เท่านั้น
ขณะที่ประชากรของโอร่า กู๊ดแคทที่สามารถส่งมอบให้กับลูกค้าชาวไทย มียอดสะสม 4,788 คัน
นอกจากนี้เกรท วอลล์ ยังมีแผนเสริมตลาด อีวี อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้จะเปิดตัวอย่างน้อย 2 รุ่น หนึ่งในนั้น คือ โอร่า แกรนด์แคท ที่มีขนาดใหญ่กว่า กู๊ด แคท ในปัจจุบัน
ปัจจุบันรถยนต์ของเกรท วอลล์ ที่จำหน่ายในไทย ส่วนใหญ่เป็นการผลิตในประเทศ ยกเว้น โอร่า กู๊ดแคทที่ยังนำเข้าจากจีนโดยใช้สิทธิพิเศษภาษีนำเข้า 0% จากความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน แต่เกรท วอลล์ มีแผนจะเริ่มต้นผลิตในไทยในปี2567
บีวายดี’หวัง 5 ปีขึ้นแท่นบริษัทรถยนต์เบอร์ 5
บริษัทรถยนต์อีกรายหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับตลาดอีวี ก็คือ “บีวายดี” โดยการทำงานของ บริษัท เรเว่ ออโตโมโทีฟจำกัด (Rever Automotive) ซึ่งเป็นธุรกิจของคนไทยในตระกูลพรประภา
เรเว่ฯ เปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค. 2565 ก่อนจะเปิดตัวสินค้ารุ่นแรกตามมาคือ แอทโต 3 (ATTO3) ที่เกิดปรากฏการณ์ลูกค้าไปรอที่โชว์รูมตั้งแต่ช่วงดึก หรือบางรายรอข้ามวัน
โดยเบื้องต้น บีวายดี ระบุว่ามีโควต้ารถที่สารถส่งมอบในปี 2565 จำนวน 5,000 คัน อย่างไรก็ตามกระแสการตอบรับแอทโต 3 มีมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะทะลุ 1 หมื่นคันในเดือนธ.ค. ทำให้ประกาศหยุดรับจองในวันที่ 13 ธ.ค.2565 ก่อนกลับมาเปิดรับจองอีกครั้งวันที่ 2 ก.พ.2566 ด้วยโควต้า 7,000 คัน พร้อมยืนยันพร้อมส่งมอบก่อนเทศกาลสงกรานต์
ส่วนยอดค้างส่งมอบก่อนหน้านี้ จะส่งมอบได้ครบ 1 หมื่นคันภายในเดือน ก.พ.
สำหรับเป้าหมายด้านการตลาดของ บีวายดี กำหนดว่าภายใน 5 ปีจะก้าวขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายอันดับที่ 5 ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ปีนี้ บีวายดีมีแผนจะเสริมตลาดเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 รุ่น
ทั้งนี้การเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยของ บีวายดี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การทำตลาดโดยเรเว่ ขณะที่ด้านการผลิต ซึ่งมีแผนเริ่มต้นในปี 2567 ดำเนินการโดยบีวายดี ประเทศจีน ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ มูลค่า 1.79 หมื่นล้านบาท มีกำลังการผลิตเบื้องต้น 1.5 แสนคัน/ปี และเป็นโรงงานผลิตนอกประเทศจีนเป็นแห่งแรก
ขณะที่การทำตลาดปัจจุบัน เป็นการนำเข้าจากจีน ใช้สิทธิพิเศษภาษีนำเข้า 0% จากความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน