เปอโยต์ สู้ศึก EV ลุ้นแผนประกอบมาเลเซีย แข่งรถจีน
เปอโยต์ โดยการทำตลาดของ เบลฟอร์ด ในกลุ่ม เอ็มจีซี-เอเชีย เริ่มต้นทำตลาดในไทย ปี 2562 และเตรียมขยับตัวอีกครั้ง กับการโดดเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV
กระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกขณะ รวมถึงยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ เปอโยต์ โดย เบลฟอร์ด ตัดสินใจโดดเข้าตลาดนี้อีกราย
โดยปี 2565 ที่ผ่านมา EV ในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล มียอดประมาณ 13,000 คัน สูงกว่าปี 2564 ที่มียอดประมาณ 1,400 คัน
และปี 2566 เริ่มต้นได้อย่างค่อนข้างตื่นเต้นเลยทีเดียว โดยข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่าเดือน มค. มียอดจดทะเบียนรถใหม่รวม 4,707 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.ที่แล้ว 649.52%
หากแบ่งประเภทพบว่า รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 2,945 คัน เพิ่มขึ้น 1,019.77% โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง 2,930 คัน ที่เหลืออีก 15 คัน เป็นรถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คน
ส่วนรถอื่นๆ ก็เช่น ปิกอัพ, แวน 23 คัน รถยนต์สามล้อ 32 คัน รถจักรยานยนต์ 1,543 คัน เป็นต้น
ในกลุ่มรถยนต์นั่งปีนี้ผู้ประกอบการหลายรายประเมินกันว่าจะม่ียอดโตแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 40,000-50,000 คัน
โดยผู้ประกอบการแต่ละรายต่างก็มีแผนธุรกิจ ทั้งการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ เสริมตลาด การขยายเครือข่ายกันอย่างคึกคัก
แต่ส่วนใหญ่เป็นความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตจากจีน เช่น เอ็มจี, บีวายดี, โอร่า, เนต้า, โวลต์ ฯลฯ หรือ รถทีมีแหล่งผลิตจากจีน ไม่ว่าจะเป็นวอลโว่, บีเอ็มดับเบิลยู หรือว่า เทสล่า ที่กุมความได้เปรียบจากความตกลงการค้าอาเซียน-จีน ที่การส่งออก-นำเข้า อีวี ระหว่างกันไม่ต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กระแสของ อีวี แรง ทั้งในเวทีโลก และไทย ผู้ประกอบการหลายรายจึงไม่สามารถที่จะปล่อยให้ขบวนรถไฟนี้ผ่านไปแบบหน้าตาเฉย ต้องเกาะติดไว้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาตลาดได้เห็นความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการใหญ่ เช่น โตโยต้า ที่เปิดตัว bZ4X แต่ก็เหมือนยังไม่เน้นตลาดนัก ด้วยม่ีโควต้ารถไม่กี่คัน แต่อย่างน้อยก็ส่งข้อความไปถึงผู้บริโภคว่า โตโยต้า ก็มี อีวี และพร้อมที่จะทำตลาด
หรือว่า ฮอนด้า ที่ส่งข้อความออกมาทางอ้อมว่าเตรียมจะทำตลาด อีวี ในไทย แต่จะไม่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้งานอีวีระยะเร่งด่วนของภาครัฐที่อนุญาตให้นำเข้ารถ (CBU) จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดได้ด้วยการลดภาษีนำเข้าให้ ก่อนที่จะผลิตชดเชยภายในปี 2567-2568 โดยฮอนด้าจะเริ่มทำตลาดด้วยรถที่ผลิตในประเทศ (CKD) ที่โรงงาน ปราจีนบุรีเลย
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากรถยุโรปอีก 1 รายที่ตัดสินใจทำตลาดอีวี นั่นคือ เปอโยต์ ภายใต้การทำตลาดของ บริษัท เบลฟอร์ต ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจของคนไทย
โดยเบลฟอร์ด เตรียมเผยโฉม อีวี รุ่นแรก คือ เปอโยต์ e-2008 ซึ่งเป็นอีวีที่ได้รับการตอบรับที่ดีในยุโรป
เป็นรถในกลุ่ม บี-เอสยูวี หรือ เอสยูวีขนาดเล็กทีไ่ด้รับความนิยม ทั้งในเวทีโลก หรือในประเทศไทยเอง ที่เห็นได้ว่ามีหลายรุ่นที่อยู่ในตลาดนี้ เช่น เอ็มจี แซดเอส อีวี หรือว่า บีวายดี แอตโต 3
โดยเปอโยต์ e-2008 มีขนาดความยาวตัวถัง 4,300 มม. ความกว้าง 1,770 มม. และความสูง 1,550 มม.
เป็น อีวี ที่พิสัยการใช้งานระดับกลางๆ คือ 310 กม. ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ตามมาตรฐาน WLTP จากแบตเตอรีลิเธียม ไอออนขนาดความจุ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง
โดยเบลฟอร์ด เตรียมเผยโฉม และเปิดรับจองอย่างเป็นทางการในงาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือน มี.ค. นี้
ความท้าทายคือ e-2008 จะตั้งราคาจำหน่ายเท่าไร และจะจูงใจได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะต้องไม่ลืมว่า อีวี ที่ประสบความสำเร็จด้วยดีในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นรถที่นำเข้าจากระเทศจีน ซึ่งภาษีคือ 0%
แต่เปอโยต์ e-2008 จะทำตลาดด้วยการนำเข้าจากโรงงานผลิตที่ฝรั่งเศส นั่นทำให้ต้องมีภาระภาษีศุลกากรเมื่อเข้าประเทศไทยคือ 80%
เทียบกับรถนำเข้าจากจีน 0% นั่นหมายถึงภาระต้นทางของ เปอโยต์จะสูงกว่ามาก เพราะต้องคิดภาษีศุลกากรก่อนรวมเข้าไปเป็นต้นทุน เพื่อนำไปคิดภาษีสรรพสามิต ภาษาท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อไป
ก็ต้องลุ้นว่าราคาต้นทางที่บริษัทแม่ตั้งมาจะอยู่ที่เท่าไร และช่วยได้มากน้อยแค่ไหน
แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความตั้งใจของทั้งบริษัทแม่ และเบลฟอร์ด ในการรุกตลาดอีวีในไทย เพราะปัจจุบันรถที่เปอโยต์ทำตลาดในไทยซึ่งเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ไม่ว่าจะเป็น 3008, 5008 และ 2008 ล้วนแต่เป็นการผลิตในโรงงานเพื่อนบ้านมาเลเซีย ซึ่งได้สิทธิพิเศษจากเขตการค้าเสรี อาเซียนที่อัตราภาษ่ีอยู่ที่ 0%
แต่เมื่อเปอโยต์พร้อมสู้กับรถที่มีฐานผลิตในจีนครั้งนี้ ก็ทำให้แฟนๆ แอบลุ้นได้ว่า นี่แค่การสื่อให้ลูกค้ารับรู้ แต่ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง สิงโตไฟฟ้า จะเข้ามาผลิตที่มาเลเซียก็เป็นได้เช่นกัน