MGC-ASIA ระดมทุนขยายธุรกิจสินเชื่อ-บริการ ดันมารีน สยายปีก อาเซียน
มิลเลนเนียม กรุ๊ป หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย (MGC-ASIA) เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2000 และขยายงานอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก และผู้บริหารมองว่าถึงเวลาที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงตัดสินใจเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมเงินขยายธุรกิจ
เป้าหมายหลักๆ ในการระดมทุนของ เอ็มจีซี-เอเชีย (MGC-ASIA) คือ กลุ่มธุรกิจสินเชื่อ ที่กำลังขยายตัวอย่างโดดเด่น และธุรกิจบริการหลังการขายยานยนต์ ที่มีศักยภาพและมีผลต่อองค์กร เพราะเป็นธุรกิจสร้างรายได้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังรวมถึงการเตรียมความพร้อมรองรับความร่วมมือกับ เทสล่า (Tesla) พร้อมผลักดันธุรกิจ มารีน เป็นสปริงบอร์ดเข้าเอเชีย
สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้น IPO รวม 28 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว
เป้าหมายเพื่อระดมทุนสำหรับการขยายการขยายกิจการ การชำระหนี้เงินกู้ และเป็นเงินหมุนเวียนในบริษัท โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรอ เอฟเฟคทีฟ ไฟล์ลิ่ง คาดว่าจะพร้อมขายภายในเดือนนี้
การระดมทุนรองรับในส่วนการขยายงานนั้น หลักๆ คือ การลงทุนในบริษัท อัลฟา เอกซ์ จำกัด และบริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มเอ็มเอส บ๊อช คาร์ เซอร์วิส แอนด์ ไทร์
อัลฟา เอกซ์ เป็นบริษัทร่วมทุนกับ เอสซีบี เอ็กซ์ ดำเนินธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และรีไฟแนนซ์ กลุ่มพรีเมียม ทั้งรถยนต์ เช่น โรลส์-รอยซ์ และมารีน เช่น เรือยอชท์ อะซิมุท เป็นต้น ซึ่งหลังจากเปิดดำเนินการมา 8 เดือน (สิ้นสุดเดือน ธ.ค.2565) ปล่อยสินเชื่อรวม 3,800 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องระดมทุนมารองรับการขยายธุรกิจดังกล่าว
“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและสถานการณ์แพร่ระบาดของ โควิด-19 แต่ตลาดลักชัวรี่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเซกเมนต์อื่นๆ และในบางภูมิภาคสามารถเติบโตสวนกระแส”
การเติบโตดังกล่าว มาจากการขยายตัวของฐานลูกค้าที่มีอายุเฉลี่ยต่ำลงและมีความต้องการเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลน แต่ในกลุ่มตลาดรถยนต์ระดับลักชัวรี่ยังเป็นที่ต้องการสูง
สะท้อนจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่สร้างยอดขายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งบริษัทได้รับประโยชน์จากการมีพอร์ตธุรกิจที่หลากหลาย ครอบคลุมลูกค้าทุกเซกเมนต์ ทำให้ภาพรวมรายได้และกำไรของกลุ่มบริษัทฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ การบริการหลังกาารขาย ก็จะต้องขยายตัวตามไปด้วย จึงต้องระดมทุนสำหรับแผนการขยายงานของ เอ็มเอ็มเอสฯ ที่ปัจจุบันเปิดบริการ 22 สาขา ตั้งเป้าว่า 2-3 ปีจะต้องมี 35 สาขา
ทั้งนี้นอกจากการรองรับสินเชื่อแล้ว ธุรกิจบริการหลังการขายจัดเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และจะมีผลต่อการเติบโตขององค์กรในระยะยาว
นอกจากนี้ล่าสุดยังขยายงาน ในส่วนของเอ็มเอ็มเอสฯ คือ การลงนามกับเทสล่า ผู้จำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ อีวี ในไทยโดยเอ็มเอ็มเอส จะเป็นผู้ดูแลด้านการบริการหลังการขายให้ลูกค้าเทสล่า
สัณหวุฒิกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจและอยู่ในแผนขยายงานคือ มารีน ซึ่งบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเรือยอชท์ อะซิมุท จากอิตาลี และล่าสุดคือ การเป็นตัวแทนจำหน่ายเรือแม่น้ำ คริส-คราฟท์ (Chris-Craft) ที่บริษัทได้สิทธิทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน
โดยบริษัทมองว่ามารีน เป็นตลาดดาวรุ่ง เติบโตสูงทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะเรือเป็นกิจกรรมที่่จัดขึ้นเฉพาะกลุ่ม หลีกเลี่ยงการพบปะคนจำนวนมาก
"เรามองว่า มารีน เป็น new blue ocean มีศักยภาพการเติบโตสูง และที่สำคัญการได้สิทธิทำตลาดในเอเชียของคริสคราฟท์ จะเป็นสินค้าหลักที่เป็นแม่แบบสปริงบอร์ดให้ เอ็มจีซี-เอเชีย ขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน และนี่เป็นเอสเคิร์ฟตัวแรกของเรา จากนั้นจะมีตัวอื่นๆ ตามมา"
สำหรับ 4 กลุ่มธุรกิจหลักของ เอ็มจีซี-เอเชีย ประกอบด้วย
- กลุ่ม โมบิลิตี้ รีเทล หรือการจำหน่ายรถยนต์ ทั้ง โรลส์-รอยซ์ บีเอ็มดับเบิลยู มินิ ฮอนด้า ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด เรือยอชท์ อะซิมุท เรือแม่น้ำ คริส-คราฟท์ เป็นต้น
- กลุ่มบริการหลังการขาย และบำรุงรักษา ซึ่งรวมถึงการบริการเรือและรถดังกล่าว และเอ็มเอ็มเอสฯ
- กลุ่มธุรกิจรถเช่า และรถเช่า พร้อมคนขับ เช่น ซิกท์ มาสเตอร์คาร์เร้นเทิล เป็นต้น
- กลุ่มบริการการเงิน และบริการอื่นๆ เช่น ไฟแนนซ์ ประกันภัย ไอที ฝึกอบรม เป็นต้น
ส่วนผลประกอบการในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา เติบโตอย่างต่อเนื่อง
- ปี 2563 รายได้ 2.01 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 188.8 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 2.12 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 295.5 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 2.29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 595.6 ล้านบาท
สัณหวุฒิกล่าวว่า การที่บริษัทขยายงานอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการดำเนินธุรกิจครบวงจร สร้างอีโคซิสเทมในองค์กร
และที่สำคัญคือการเข้าถึงลูกค้า (engagement) และดึงลูกค้าให้อยู่กับบริษัทให้มากที่สุด เพราะทุกๆ สินค้าที่บริษัทมีนั้นเชื่อมโยงกัน