ส่องแผน 'เชอรี' เปิดเกมรุกตลาดไทยปี 67 ทางเลือกที่มากกว่า EV

ส่องแผน 'เชอรี' เปิดเกมรุกตลาดไทยปี 67 ทางเลือกที่มากกว่า EV

‘เชอรี’ (Chery) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ของจีน ประกาศชัดเจนว่าจะเข้าสู่ตลาดประเทศไทยปีหน้า ทั้งการทำตลาด และการตั้งโรงงานผลิต ประเดิมด้วยรถพลังงานไฟฟ้า หรือ EV อย่าง OMODA 5 EV แต่อย่างไรก็ตาม เชอรี มองว่า EV ไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับตลาดเมืองไทย

ตลาดรถยนต์ไทย ยังคงได้รับความสนใจจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ผลิตรถจากจีนที่ดาหน้ากันเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึง เชอรี (Chery)

ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนที่เข้ามาทำตลาดอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รายแรก คือ เอ็มจี เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากนั้นเว้นช่วงหลายปี ก่อนที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์​ จะขยับตัวเข้ามาซื้อโรงงาน จีเอ็ม และเชฟโรเลต ค่ายรถอเมริกันที่ตัดสินใจถอนตัวจากเมืองไทยเมื่อปี 2562

แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนธุรกิจ เกรท วอลล์ ล่าช้าเล็กน้อย ก่อนจะเริ่มทำตลาดจริงจังด้วยการเปิดตัวรุ่นแรกในปี 2564

แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่ารถจากจีน มีอัตราเร่งมากขึ้น มีรถยนต์หลายยี่ห้อเข้ามาทำตลาดในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น บีวายดี เนต้า รวมถึงรายย่อยๆ ที่ตัวแทนจำหน่ายในไทยนำเข้ามาจำหน่าย เช่น ปอคโค โวลต์ หรือว่า วู่หลิง เป็นต้น

และยังมีอีกหลายรายที่เตรียมจะเข้ามาในตลาดเร็วๆ นี้ ในรูปแบบของเจ้าของแบรนด์มาเอง เช่น ฉางอัน (Changan) จีเอซี (GAC) และเชอรี (Chery)

การเพิ่มอัตราเร่งในการเข้ามาทำตลาดของผู้ผลิตจากจีน หลักๆ มาจากกระแสความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ขณะที่จีน เป็นผู้ผลิต อีวี รายใหญ่ของโลก และมีขนาดอีวีที่ใหญ่ที่สุดของโลก และต้องการที่ขยายตลาดออกนอกประเทศมากขึ้น

ขณะเดียวกันไทยก็มีแรงดึงดูดที่น่าสนใจ ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการส่งเสริมการใช้งาน และที่สำคัญคือสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่ภาษีนำเข้าอีวีระหว่างกันอยู่ที่ 0%

อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาษีนำเข้าจะ 0% แต่ก็มีหลายรายที่สนใจและเตรียมการที่จะประกอบอีวีในไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจระดับโลก ที่ต้องการแบ่งส่วนการผลิตที่ชัดเจน อย่างน้อยคือฐานการผลิตพวงมาลัยขวา ขณะที่โรงงานในจีนจะลุยการผลิตพวงมาลัยซ้ายเป็นหลัก

ทั้งนี้สำหรับผู้ผลิตจากจีนที่เข้ามาในไทยในยุคแรกและยุคคาบเกี่ยวยุคใหม่ อย่างเอ็มจี และเกรท วอลล์ เลือกที่จะทำตลาดรถหลายประเภท แต่ช่วงหลังความสนใจอยู่ที่ อีวี เป็นหลัก

แต่ก็มีรายใหม่ที่เตรียมเข้ามาในไทย แสดงความคิดเห็นชัดเจนว่าจะทำตลาดรถที่หลากหลายพลังงาน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า นั่นคือ เชอรี

เชอรี มีแผนที่จะเปิดตลาดประเทศไทยปี 2567 ด้วยรถรุ่นแรกคือ OMODA 5 EV

แน่นอน มันคืออีวี แต่จากการได้นั่งพูดคุยกับผู้บริหาร เชอรี ออโตโมบิล ประเทศจีน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย  “ชอว์น ซู” รองประธานฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งเดินทางมาร่วมงานเปิดตัวบริษัทและรถยนต์ในมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันศุกร์ที่ 6 ก.ค.​ ระบุชัดเจนว่า ตลาดเมืองไทยจะไม่มีแต่อีวีเท่านั้น แต่จะมีรถพลังงานอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด หรือ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด

ส่องแผน \'เชอรี\' เปิดเกมรุกตลาดไทยปี 67 ทางเลือกที่มากกว่า EV

ซู ระบุว่า แม้ว่าตลาดอีวี ไทยจะเติบโตรวดเร็ว และน่าสนใจ แต่ตลาดกลุ่มไฮบริดยังมีความแข็งแกร่ง และมีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถมองข้ามไปได้

อย่างไรก็ตามแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเชอรี จะเป็นในรูปแบบ หลายพลังงานบนแพลทฟอร์มเดียวกัน นั่นหมายถึงเป็นการเปิดทางเลือกให้ลูกค้าว่ารถหนึ่งรุ่นจะต้องการใช้พลังงานแบบไหน

และแน่นอนว่าในแง่ของการทำธุรกิจ และภาคการผลิตความยืดหยุ่นของรถโมเดลเดียวกัน ต่างกันหลายชนิดพลังงาน แต่สามารถผลิตบนสายพานเดียวกันได้ ทำให้บริษัทสามารถปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้รวดเร็ว

โดยรถรุ่นที่ 2 ที่คาดว่าจะเปิดตัวในไทยตาม OMODA 5 EV ก็คือ TIGGO 8 PRO  PHEV 

ส่วนแนวทางการทำตลาดในไทยปี 2567 นอกจากนำเข้า OMODA 5 EV จากจีน แล้วก็จะเตรียมการด้านการผลิตในไทย โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกำหนดแนวทางลงทุน

ส่องแผน \'เชอรี\' เปิดเกมรุกตลาดไทยปี 67 ทางเลือกที่มากกว่า EV

โดยเชอรี มอง 2 แนวทางคือ การหาพันธมิตรร่วมทุน หรือไม่ก็เป็นการลงทุนโดยเชอรีเอง 100% ซึ่งไม่ว่าจะออกมาแนวทางไหน บริษัทก็มีความพร้อมทั้งสิ้น แม้ว่าจะลงทุนเองทั้งหมด บริษัทก็มีทุนเพียงพอ

ปัจจุบันเชอรีมีโรงงานประกอบรวม 10 แห่งทั่วโลก และในภูมิภาคอาเซียนมีการประกอบที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดอาเซียนแห่งแรกที่เชอรีเข้ามาบุกตลาด และล่าสุดที่มาเลเซียที่เป็นการร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ “ไซม์ ดาร์บี้”

โดยสายการประกอบของ เชอรี เป็นส่วนหนึ่งของโรงงานไซม์ ดาร์บี้ ที่ปัจจุบันผลิตรถหลายยี่ห้อ โดยเข้าไปลงทุนในส่วนสายการผลิตเชอรี

การประกอบรถในมาเลเซีย เป็นไปตามแผนการขยายตลาดอาเซียน และตลาดมาเลเซีย ที่เริ่มต้นเปิดตัวรถเป็นครั้งแรกในวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา 2 รุ่น คือ OMODA 5 และ TIGGO 8 PRO ซึ่งทั้ง 2 รุ่นเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เนื่องจากมาเลเซียยังไม่นิยม อีวี มากนัก

โดย OMODA 5 ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร มี 2 รุ่นย่อย ราคา 108,800 - 118,800 ริงกิต หรือประมาณ 8.22-8.97 แสนบาท ส่วน TIGGO 8 PRO ราคา 159,800 บาท หรือ ประมาณ 1.2 ล้านบาท

ซู ไขข้อสงสัยว่าในอนาคต เชอรี จะสร้างโรงงานในไทย ซึ่งจะทำให้มี 3 โรงงานในอาเซียนจะทับซ้อนกันหรือไม่ว่า แต่ละโรงงานมีบทบาทต่างกันออกไป โดยอินโดนีเซียจะเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก มาเลเซียก็เช่นกัน แต่จะส่งออกไปบางตลาดบ้าง เช่น สิงคโปร์

ขณะที่ประเทศไทย กำหนดให้เป็นฐานการผลิตพวงมาลัยขวาที่ครึ่งหนึ่งทำตลาดในประเทศ และอีกครึ่งหนึ่งจะส่งไปยังตลาดใหญ่ เช่น ออสเตรเลีย

ส่วนด้านการทำตลาดนั้น รองประธาน ระบุว่า ก่อนจะเปิดตัวรถรุ่นแรกอย่างเป็นทางการ เชอรี จะต้องมีความพร้อมทางด้านตัวแทนจำหน่าย ที่มีทั้งการขายและบริการหลังการขายเสียก่อน โดยขณะนี้คืบหน้าไปมากแล้ว

โดยเป้าหมายในปีแรกสำหรับตลาดประเทศไทย ก็คือจะต้องมีเครือข่ายที่เสร็จสมบูรณ์ก่อนการเปิดตัว OMODA 5 EV

“ที่มาเลเซียเราเปิดตัวเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ก็เกิดขึ้นหลังจากมีเครือข่ายที่พร้อมเปิดบริการแล้ว 32 แห่ง ในไทยก็เช่นกัน จะต้องพร้อมก่อนขายรถ และไทยเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า ดังนั้นต้องมีอย่างน้อย 40-50 แห่งขึ้นไป” ซู กล่าว

มาดูรายละเอียดคร่าวๆ ของรถที่มีแผนประเดิมเปิดตลาดในไทย 

OMODA 5 EV เป็นรถในรูปแบบครอสโอเวอร์ มีมิติตัวถังขนาดความยาว 4,400 มม. ความกว้าง 1,824 มม. ความสูง 1,588 มม. ระยะฐานล้อ 2,630 มม.

แบตเตอรีรองรับการขับขี่ระยะทางสูงสุด 510 กม. ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง

โดยการชาร์จ ชาร์จได้ทั้งแบบ ปกติ (AC) ใช้เวลาประมาณ 6-7 ชม. และการชาร์จเร็ว (DC) จาก 10-80%ในระยะเวลา30 นาที

ด้านขุมพลัง มอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 201 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด340 นิวตันเมตร

ส่องแผน \'เชอรี\' เปิดเกมรุกตลาดไทยปี 67 ทางเลือกที่มากกว่า EV

ขณะที่ TIGGO 8 Pro PHEV มีขนาดที่ใหญ่กว่า ด้วยความยาวตัวถัง 4,722 มม. กว้าง 1,860 มม. สูง 1,705 มม.

ระบบปลั๊ก-อินไฮบริด ทำงานรวมกันระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 1.5 ลิตร กับมอเตอร์ไฟฟ้า และสามารถขับขี่ด้วยไฟฟ้าอย่างเดียว ได้ระยะทางสูงสุด 75 กม.

สำหรับเชอรี เป็นบริษัทจีนที่เริ่มต้นทำตลาดต่างประเทศเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเป็นบริษัทจีนที่มีตลาดส่งออกสูงสุด 20 ปีต่อเนื่อง

ส่องแผน \'เชอรี\' เปิดเกมรุกตลาดไทยปี 67 ทางเลือกที่มากกว่า EV

ปัจจุบัน เชอรี มีศูนย์วิจัยและพัฒนา 5 แห่งในโลก มีพนักงานแผนกนี้กว่า 7,000 คน มีโรงงานหลัก 10 แห่งทั่วโลก ยอดขายทั่วโลกเกิน 11.5 ล้านคัน

ตลาดหลัก คือ ชิลี บราซิล ตะวันออกกลาง และเม็กซิโก เป็นต้น

ในปี 2565 เชอรีมีตลาดต่างประเทศที่เติบโต 68% มียอดขายในกว่า 80 ประเทศมากกว่า 4.5 แสนคัน ส่วนยอดขายรวมทั้งหมด 1.23 ล้านคัน เติบโต 28.2% จากปี 2564