เปิดเหตุผล ซื้อ ‘EV’ ค่าน้ำมัน เรื่องใหญ่ อากาศโลก เรื่องรอง
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ได้รับความนิยมมากขึ้น จากหลายปัจจัย ทั้งตัวผู้บริโภคเอง และภาครัฐของประเทศต่างๆ ที่มีแนวทางส่งเสริม ผ่านหลายมาตรการ ทั้งจูงใจ และการลงโทษรถที่ปล่อยไอเเสีย แต่เหตุผลที่แท้จริงในการเลือกซื้อคืออะไร มาดูรายงานชิ้นนี้กัน
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไทย ทั้งด้านผู้จำหน่ายที่มีทั้งรายเก่าและรายใหม่ส่งผลิตภัณฑ์เข้ามาทำตลาด และผู้บริโภคก็มีความสนใจที่จะซื้อ อีวี เพิ่มขึ้น
ซึ่งจากการสำรวจของ ดีลอยท์ พบว่า คนไทย 31% บอกว่าหากจะซื้อรถคันใหม่จะซื้อ อีวี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับผู้ที่บอกว่าจะซื้อรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งอยู่ที่ 36%
ผลสำรวจดังกล่าว อยู่ในรายงาน "Global Automotive Consumer Study 2023" ซึ่งเป็นการสำรวจความเห็นและพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกเกี่ยวกับยานยนต์ ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. 2565 กว่า 26,000 คนจาก 24 ประเทศทั่วโลก โดยเจาะลึกประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 6,000 คน
มีข้อมูลจากการวิจัยครั้งนี้หลายส่วนที่น่าสนใจ และหนึ่งในนั้นคือ เหตุผลในการซื้อ อีวี
เป็นที่รู้กันว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้อีวี เติบโตทั่วโลก มาจากทั้ง การจูงใจ และบังคับ ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ต้องการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาะอากาศโลก มลภาวะ ซึ่งมีผลต่อการกำหนดเงื่อนไขในหลายๆ ด้าน ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น
- ลดภาษีรถที่ปล่อยไอเสียน้อย
- เพิ่มภาษีรถที่ปล่อยไอเสียมาก
- การสนับสนุนตรงๆ เช่น ในไทยเองที่มีมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวีระยะเร่งด่วน ทั้งการลดภาษีสรรพสามิต และสนับสนุนเงินให้กับผู้ซื้อโดยตรง
มาตรการต่างๆ ที่แต่ละประทเศกำหนดออกมา บวกกับความซับซ้อนของ อีวี ที่น้อยกว่ารถ ICE เปิดโอกาสให้กับผู้เล่นรายใหม่เข้ามาสู่ตลาด ขณะที่ผู้เล่นรายเดิมก็ต้องปรับตัว ทั้งการประกาศแผนเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่ อีวี เช่นกัน หรือ การพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อลดค่าเฉลี่ยในการปล่อยไอเสีย เป็นต้น
แต่การสำรวจกลุ่มตัวอย่างในไทย และอาเซียนรวม 6 ประเทศ พบว่า มุมมองของผู้ที่ตอบว่าจะซื้อ อีวี เป็นรถคันต่อไปนั้น เรื่องของความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ แต่เป็นเหตุผลที่อยู่ระดับกลางๆ และท้ายๆ
โดยเหตุผลในการเลือกซื้อที่ผู้จัดทำแบบสำรวจกำหนดไว้ 9 หัวข้อนั้น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ในอันดับที่ 8 ตามมาด้วยสิงโปร์ อันดับ 7 ฟิลิปปินส์ 6 โดยมีไทย กับ เวียดนามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สูงสุดในอาเซียน แต่ก็อยู่ในอันดับที่ 5 เท่านั้น
เช่นดียวกับความกังวลต่อปัญหาสุขภาพ ก็อยู่ระดับกลางๆ และล่างๆ เช่นกัน ยกเว้นเวียดนาม ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ในอันดับที่ 2
สิงคโปร์ ให้ความสำคัญน้อยที่สุดใน 6 ชาติอาเซียน คือ อันดับ 8 ซึ่งอาจะเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะปัจจุบันประเทศนี้มีคุณภาพอากาศที่ค่อนข้างดี แม้จะไม่ใช่ยุคของ อีวี ก็ตาม ตามมาด้วย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อันดับ 7 ไทย อันดับ 6 ฟิลิปปินส์ 4 และเวียดนาม 2
ด้านเหตุผลเรื่องการใช้ อีวี เป็นแหล่งสำรองไฟฟ้า น่าสนใจ เพราะมีหลายประเทศให้ความสำคัญอันดับต้นๆ เช่น อินโดนีเซีย อันดับ 3 ไทย และเวียดนาม อันดับ 4 มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อันดับ 5 ส่วนสิงคโปร์อันดับ 6 ซึ่งเป็นไปได้ว่า ปัญหาด้านไฟฟ้าขัดข้องในสิงคโปร์อาจไม่มากนัก อีกทั้งการใช้ไฟ้สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น แคมปิ้ง คงไม่มากนัก ในประเทศนี้
เหตุผลที่ทุกชาติมีความคิดเห็นเอกฉันท์ในการเลือกซื้อ อีวี เป็นคันต่อไป คือ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต่ำ โดยทุกประเทศยกให้เป็นเหตุผลแรกที่จะตัดสินใจซื้อ
ส่วนเหตุผลที่มีค่าเฉลี่ยเป็นอันดับที่ 2 คือ การบำรุงรักษาที่ต่ำ โดยมาเลเซียเลือกเป็นอันดับที่ 2 ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย อันดับ 3 อินโดนีเซีย อันดับ 4 โดยมีเวียดนามที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ต่ำสุดในกลุ่มคืออันดับ 7
ขณะที่เหตุผลเรื่องการสนับสนุนของภาครัฐ ส่วนใหญ่รวมถึงไทย มองเป็นเหตุผลที่สำคัญอันดับท้ายๆ โดยผู้บริโภคชาวไทยมองมาตรการสนับสนุนภาครัฐมีความสำคัญอันดับ 8
หากเป็นไปตามผลสำรวจนี้ ในเชิงการตลาดก็เชื่อว่าจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ผลิต/จำหน่าย อีวี อุ่นใจได้บ้าง ว่าสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญคือ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานนั้น อีวี ได้เปรียบ ICE อยู่แล้ว แต่มาตรการสนับสนุนภาครัฐที่วันหนึ่งจะต้องหมดไป ไม่ใช่ความสำคัญอันดับต้นๆ
แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูว่าเมื่อถึงวันนี้ โครงสร้างราคาที่อาจจะเปลี่ยนไป จะทำให้เปลี่ยนใจหรือไม่ เรื่องนี้นักการตลาดต้องประเมินอย่างใกล้ชิด
ส่วนประเด็นเรื่องสภาวะอากาศโลก เป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะที่สุดแล้ว ก็ดูเหมือนหลายคนจะมองแค่เรื่องส่วนตัวมากกว่าภาพรวมอยู่ดี จึงไม่แปลกใจที่การใช้ อีวี ปัจจุบัน หลายคนใช้เป็นเหมือนห้องแอร์เคลื่อนที่ ไม่เว้นแม้แต่ตอนจอดชาร์จไฟ