Mercedes-Benz E-Class ใหม่ เติมหรู-ไฮเทค 2 ทางเลือกบุคลิก Modernity Tradition
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจสำหรับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส โฉมใหม่ (Mercedes-Benz E-Class) รหัส W214 ที่ผมเพิ่งได้สัมผัสกับตัวจริงและลองขับ ที่เวียนนา ออสเตรีย แต่ว่ารถคันนี้มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ เรามาคุยกันในภาพรวมกันก่อน
เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส (Mercedes-Benz E-Class) โฉมใหม่ เปลี่ยนแปลงไปจาก W213 อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี และภาษาการออกแบบ
แนวทางการออกแบบ เมื่อได้ดูตัวจริง เมื่อเทียบกับโฉมเดิม มีความเรียบหรูมากขึ้น เส้นสายต่างๆ รอบคันรถ ลดลง เน้นความโค้งมนมากขึ้น ลดรอยต่อในส่วนต่างๆ รวมถึง รอยต่อระหว่างตัวถังรถกับโครงสร้างอื่นๆ เช่น โคมไฟ ทั้งไฟหน้า ไฟท้าย หรือว่าบรรดากระจังหน้า กันชน
รูปทรงโดยรวม แนวคิดกลมกลืนกับ ซี-คลาส ใหม่ ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ และมีกลิ่นอายของยุคใหม่ อย่าง อีคิว-เอส (EQS) รวมถึงเพิ่มความหรูหรา และแรงดึงดูดลูกค้าเพิ่มขึ้นกับมือจับเปิดประตู ที่เหมือนกับ อีคิว-เอส นั่นคือ ซ่อนเข้าไปในประตู เรียบเนียนเป็นระนาบเดียวกัน และจะยื่นออกมา เมื่อปลดล็อครถ หรือ การใช้มืสัมผัส ลูบเบาๆ
พูดถึงการเปิด-ปิด ประตู และการควบคุมรถอื่นๆ ครั้งนี้ อี-คลาส มาพร้อมกับระบบ digital key โดยใช้โทรศัพท์มือถือ ไอโฟน เป็นตัวควบคุม การ เปิด-ปิด ประตู หรือ สตาร์ทเครื่อง ก็ไม่ต้องควานหา แค่มีติดดัวไว้เท่านั้น
ซึ่งการไปทดลองขับครั้งนี้ ทีมงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ให้แต่ไอโฟนมา 1 เครื่อง
ออปชั่นนี้ หลายคนน่าจะชอบ เพราะมันดูทันสมัย เข้ากับโลกยุคดิจิทัล แต่สำหรับผม ผมยังชอบแบบกุญแจ แบบ คีย์เลส มากกว่า เพราะมีความรู้สึกโอกาสที่มันจะรวนหรือแฮงก์น่าจะน้อยกว่าโทรศัพท์มือถือ
อี-คลาส ใหม่ ยังมีมีอารมณ์ร่วมกับ อีคิวเอส อีกหลายๆ อย่าง เช่น กระจังหน้าที่เพิ่มชิ้นส่วนสีดำเข้าเชื่อมต่อระหว่างโคมไฟหน้ากับกระจังหน้า
และที่กระจังหน้าคราวนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เพิ่มลูกเล่น ด้วยการติดดาวสามแฉกเข้าไปนับร้อยดวง ตอกย้ำสัญลักษณ์ของแบรนด์มากขึ้น
และเพื่อให้รู้สึกกลมกลืนทั้งคัน ที่ด้านท้ายครั้งนี้ มาแปลกกับการออกแบบดวงไฟให้เป็นรูปดาวสามแฉกเช่นกัน ทำงานทันทีที่เปิดไฟหน้า ดูแปลกตา และมีเอกลักษณ์ดีครับ
และสำหรับมุมมองด้านหน้า ครั้งนี้อี-คลาส มี 2 ตัวเลือกให้กับลูกค้า คือ
- Modernity ที่โลโก้ดาวสามแฉกดวงใหญ่ฝังอยู่กลางกระจังหน้า และแปะแนบไว้บนฝากระโปรงหน้า
- Tradition หรือที่เรียกว่า ดาวลอย ที่ดวงดาวจะติดตั้งแบบลอยตัวบนปลายฝากระโปรงหน้า
โดยส่วนตัว สำหรับ อี-คลาส ผมชักจะชอบแบบ tradition แต่หน้ารูปแบบนี้ที่กระจังหน้าที่เป็นแบบซีขวาง 3 ซี่ ตัดกลางด้วยซี่ตั้ง 1 ซี่ อาจจะดูแปลกตานิดหน่อยกับเรดาร์ที่ติดตั้งอยู่ตรงกลาง ขณะที่แบบ modernity จะติดตั้งซ่อนตัวได้กลมกลืนมากกว่า
โคมไฟท้ายทั้ง 2 ด้าน ซ้ายขวา ถูกจับเชื่อมต่อกันด้วยชิ้นส่วนพลาสติกสีแดง หลายคนอาจจะอยากได้เป็นแถบไฟเชื่อมต่อยาวกันไปเลย ที่กำลังเป็นที่นิยมในรถหลายๆ รุ่น จากหลายภูมิภาคในขณะนี้
แต่ส่วนตัวผมมองว่าแบบนี้ดีแล้ว เพราะบางทีเยอะไปก็ไม่ดี และไม่น่าจะเหมาะกับบุคลิกของ อี-คลาส สักเท่าไร
นอกจากนี้ ด้านท้ายเพิ่มความดุดันกับดิฟฟิวเซอร์ สีดำ และท่อไอเสียแบบคู่ แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการตกแต่งนะครับ เพราะเป็นท่อปลอม ขณะที่ท่อจริงนั้นซ่อนตัวอยู่ด้านใน
ด้านระบบการขับขี่ ตัวช่วยมีมากมาย แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามา และเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจ คือ การแซงรถคันอื่นด้วยตัวเอง (Auomatic lane change) โดยอาศัยข้อมูลจากกล้อง เซ็นเซอร์ เรดาร์ ทำให้ระบบรู้ว่าช่องทางที่จะแซงออกไปนั้นปลอดภัยหรือไม่
โดยระบบก็จะทำงานร่วมกับ ระบบ ควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ที่จะรักษาระยะห่างจากคันหน้า แต่ถ้าคันหน้าช้ากว่าความเร็วที่เราตั้งไว้ เช่น ตั้งไว้ 120 กม./ชม. แต่คันหน้าขับ 80 กม./ชม. ระบบก็จะพยายามหาทางแซงให้
แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่ปลอดภัย ก็จะชะลอความเร็วตามความเร็วของคันหน้าไป แต่เมื่อใดที่พบว่าปลอดภัยแล้ว ก็จะปลี่ยนช่องทางเพิ่มความเร็วให้เองโดยอัตโนมัติ และเมื่อแซงเสร็จแล้วก็จะกลับเข้าช่องทางเดิม
รู้กฎ กติกา มารยาท ดีกว่าคนหลายๆ คน อีกครับ
ภายในห้องโดยสาร แนวคิดเปลี่ยนแปลงไปจากโฉมเดิมชัดเจนเช่นกัน มีความร่วมสมัยกับยุคดิจิทัลมากขึ้น และมีอารมณ์ร่วมกับเรือธงฝั่ง อีวี อย่าง อีคิวเอส ชัดเจน กับจอขนาดใหญ่ด้านหน้า ดูข้อมูล หรือ ระบบความบันเทิงได้ชัดเจนมีชื่อว่า “ซูเปอร์ สกรีน”
จะต่างจาก อีคิวเอส ที่เรียกวา “ไฮเปอร์ สกรีน” คือ จอของอีวีคันเก่งนั้นเชื่อมต่อกัน 3 จอ ตั้งแต่ฝั่งคนขับผ่านจอกลางไปถึงจอฝั่งผู้โดยสาร โดยอี-คลาส จะเชื่อมต่อ 2 จอ คือจอกลางกับผู้โดยสาร แต่จอแสดงข้อมูลสำหรับผู้ขับขี่นั้นแยกออกมาเป็นเอกเทศ
และที่พิเศษอีกอย่างคือ จอฝั่งผู้โดยสาร จะป็นโลกส่วนตัวของฝั่งผู้โดยสาร ที่หากเป็นหน้าจอทั่วไป หรือ หน้าจอโฮม ก็จะเห็นได้ปกติ ผู้ขับก็มองเห็นได้เช่นกัน
แต่เมื่อเปิดดูอะไรที่จะมีผลต่อสมาธิผู้ขับขี่ เช่น ดูหนัง ระบบภายในจะจัดการให้ผู้ขับขี่มองเห็นมันเป็นเพียงแค่จอดำมืดเท่านั้น มีเพียงผู้โดยสารเท่่านั้นที่จะเห็นมันได้ เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่
และเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ขับ อี-คลาส จึงมีหูฟังบลูทูธ มาให้สำหรับผู้โดยสารอีกด้วย
อี-คลาส ยังมีลูกเล่นเพิ่มเติมกับระบบปรับอากาศ นั่นคือ การปรับทิศทางลม ซึ่งปัจจุบันรถหลายรุ่นใช้ระบบดิจิทัลในการปรับ หรือ digital vent โดยเข้าไปกดปรับที่หน้าจอ ซึ่งก็ถือเป็นความล้ำสมัย
แต่พูดตรงๆ การควบคุมแบบนี้ ผมว่ามันก็ไม่ค่อยสะดวกสักเท่าไร เพราะบางทีเราก็ต้องการความรวดเร็ว ด้วยการเอื้อมนิ้วไปเขี่ยมันเท่านั้นเอง แต่ก็อย่างว่า จะไม่มีก็ดูจะไม่ล้ำสมัย ไม่เข้ายุคสมัย
ดังนั้นจึงต้องชมวิศวกรของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ออกแบบให้สามารถปรับได้ทั้ง 2 รูปแบบ จะปรับผ่านจอกลางก็ได้ หรือ จะเอามือปรับเองโดยตรงก็ได้ ตามสะดวกโดยมีต้องกลัวว่ามันจะพัง เพราะไปขืนกับเฟือง หรือ มอเตอร์ ระบบปรับการรับคำสั่งได้แบบทันท่วงที
และยังมีฟังก์ชั่น routine ให้เลือกใช้ เป็นการกำหนดรายละเอียดล่วงหน้าสำหรับการใช้งานรถ เช่น ระดับของเครื่องปรับอากาศ รายการบันเทิง หรือ ไฟสร้างบรรยากาศ
และแน่อน อี-คลาส ใหม่ ก็มาพร้อม MBUX เวอร์ชั่นล่าสุด เครื่องเสียงเบอร์เมสเตอร์ ที่ให้ระบบเสียงลึกและหนา
และยังมีกล้องที่ติดไว้บนคอนโซลหน้า หันหน้าเข้าห้องโดยสาร เพื่อรองรับแอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น ไลน์ หรือ ซูม ทำให้สามารถเปลี่ยนห้องโดยสารเป็นห้องประชุมออนไลน์ได้ แต่ถ้าอยากเห็นภาพผู้ร่วมประชุมหรือผู้สนทนาด้วย จะต้องจอดรถเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย แต่ถ้ารถเคลื่อนที่ ระบบจะตัดภาพ เหลือเพียงแต่เสียงเท่านั้น
หรือจะใช้กล้องนี้ถ่ายเซลฟี่ให้ก็ได้
ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆ เป็นการไปร่วมงานพร้อมกับสื่อจากประเทศต่างๆ ส่วนรายละเอียดของออปชั่น รวมถึงรุ่นที่จะทำตลาดในไทยที่เริ่มต้นเปิดตัว กับ E350e หรือ ปลั๊ก-อิน ไฮบริดอาจจะมีออปชั่นที่แตกต่างกันออกไป
ออปชั่น จะมีอะไรบ้าง รอการเปิดตัวอย่างเป็นทางการต้นปี 2567 ครับ