EV จีนเดินเครื่องผลิตปี 2567 BYD - MG - NETA
“บีโอไอ” เผยโรงงานประกอบ EV จีน เดินหน้าก่อสร้างตามแผน มั่นใจหลายแห่งเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในปี 2567 ทั้ง BYD-MG-NETA ชี้รายใหม่ “ฉางอัน” ได้รับส่งเสริมการลงทุนล่าสุด
ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนได้ทยอยเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยทำให้ไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไปได้ดีและคาดว่าจะมีการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการที่บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วส่วนใหญ่กำลังอยู่ในกระบวนการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งสายการผลิตไม่ว่าจะเป็น MG, NETA, ฉางอัน, BYD และ AION
ทั้งนี้ ในปี 2567 จะเป็นปีที่ค่ายรถส่วนใหญ่เริ่มการผลิต ขณะเดียวกันบีโอไอจะเร่งมาตรการและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้ซัพพลายเชนของ EV ในประเทศมีความเข้มแข็ง รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอีวีตลอดทั้งอีโคซิสเต็ม
นอกจากนี้ ในการประชุมบีโอไอเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2566 อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก ของ บริษัทฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด มูลค่าลงทุน 8,862 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปีละ 58,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ปีละ 36,000 คัน
รายงานข่าวจากบีโอไอ ระบุว่า เมื่อเดือน ส.ค.2566 รัฐบาลจีนเห็นชอบให้ฉางอันยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอโดยมีการลงทุนในเฟสแรกมูลค่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี
ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวเพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แอฟริกาใต้ และตลาดอื่นๆ
ในขณะที่ค่ายรถจีนที่จะเริ่มเดินเครื่องประกอบรถได้ในปี 2567 ประกอบด้วย
1. BYD ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาเมื่อปี 2565 กำลังการผลิตปีละ 150,000 คัน มูลค่าลงทุน 17,891 ล้านบาท โรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36
ทั้งนี้ จะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อส่งออกไปในกลุ่มอาเซียนและยุโรป
รวมทั้งได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเมื่อเดือน ม.ค.2566 มูลค่าการลงทุน 3,893 ล้านบาท
2. MG มีฐานผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปในไทยอยู่แล้วที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (ชลบุรี) และมีแผนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทยปี 2567
สำหรับ MG ถือเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มเข้ามาทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยเปิดตัวรุ่นแรก คือ “ZS EV” เป็นรุ่นบุกเบิกก่อนที่จะมีผู้ผลิตรายอื่นเข้ามาทำตลาดในไทย แต่ MG ยังเป็นบริษัทรถที่ทำตลาดในไทยมากที่สุด เช่น MG ZS EV , MG EP , MG ES , MG 4 Electric , MG Maxus 9
3. NETA โดยบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ NETA และบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ทำตลาดในไทยได้ประกาศแผนธุรกิจที่จะเริ่มผลิต EV ในไทยภายในปี 2567 ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างโรงงานประกอบที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน กรุงเทพฯ เมื่อเดือน มี.ค.2566 โดยยร่วมมือกับพันธมิตรในไทย คือ บริษัทบางชัน เยนเนอเรล เอเซมบลี จำกัด
สำหรับโรงงานในไทยมีความสามารถในการผลิตมากกว่าปีละ 250,000 คัน รองรับการเติบโตของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า
ปัจจุบัน NETA มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทำตลาด 3 รุ่น ได้แก่ NETA V, NETA U และ NETA S
ในขณะที่ GAC Aion ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนอีกราย อยู่ระหว่างการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ โดยปัจจุบันได้เริ่มส่งรถมาลองตลาดในไทย คือ รุ่น AION Y Plus
นอกจากนี้ ข้อมูลของบีโอไอรายงานว่าคำขอรับลงทุนจากจีนถือเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อันดับ 1 โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.2566 มีมูลค่าการลงทุน 90,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีมูลค่า 32,537 ล้านบาท
รวมทั้งคำขอรับส่งเสริมการลงทุนของบริษัทจีนมีสัดส่วนถึง 25% ของ FDI ทั้งหมดที่มีมูลค่าการลงทุน 365,198 ล้านบาท