‘อีอีซี’ ฐานผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ส่งออกไปตลาดในภูมิภาค
ปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของตลาดจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “มอเตอร์ไซค์อีวี” ในไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า สถิติจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่รวม 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2566) อยู่ที่ 15,935 คัน เพิ่มขึ้น 128.23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 มียอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์อีวีสะสม อยู่ที่ 32,309 คัน เพิ่มขึ้น 136.74%
กรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด กล่าวว่า รถมอเตอร์ไซค์ไม่เพียงแต่เป็นยานพาหะประจำบ้านสำหรับคนไทย แต่ยังเป็นพาหนะที่สร้างอาชีพและเป็นแหล่งรายได้ของหลายคนอีกด้วย จึงทำให้ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ในไทยเกือบแตะ 2 ล้านคันในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้แม้ว่าสัดส่วนยอดขายของมอเตอร์ไซค์อีวียังมีน้อยกว่า 1% แต่อัตราการเติบโตในปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าตลาดมอเตอร์ไซค์อีวียังมีศักยภาพขยายตัวอีกมาก
นอกจากนี้ มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) 30@30 ในปี 2573 ซึ่งทำให้พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งอีโคซิสเต็ม โดยผู้บริโภคเข้าใจและให้ความสนใจเกี่ยวเทคโนโลยีขับเคลื่อนแบบใหม่มากขึ้น
รวมทั้งล่าสุดบริษัทได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท Sharkgulf Technology (China) ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ Blueshark จากเซี่ยไฮ้ ที่มียอดขาย 5 แสนคันทั่วโลกในปี 2565 โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ ซัมมิท 60% และ Sharkgulf 40% ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจทั้งด้านการผลิต การประกอบแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า การติดตั้งสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมถึงการขายเพื่อผลักดันนวัตกรรมสมัยใหม่ให้ประเทศและเตรียมพร้อมเพิ่มศักยภาพการผลิตชิ้นส่วนในไทย โดยจะสร้างแรงงานและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มา
“ในเบื้องต้นจะศึกษาตลาด วางแผนกลยุทธ์และการกำหนดจุดยืนการตลาด และทดสอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าในไทยก่อน โดยกลางปี 2567 จะเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและนำเข้ารถจากจีนมาขายในช่วงแรก"
ส่วนระยะต่อไปจะเตรียมขึ้นไลน์ประกอบโรงงานที่ จ.พระนครอยุธยา ซึ่งซัมมิทมีประสบการณ์ผลิต OEM ให้แบรนด์มอเตอร์ไซค์อีวีไทย 3 ราย โดยจะใช้ซัพพลายเชนการผลิตในประเทศให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของมอเตอร์ไซค์อีวี โดยเฉพาะการอุดหนุนราคารวมถึงภาษีนำเข้ารถทั้งคันซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 40% เพื่อให้แข่งขันกับรถน้ำมันได้ ซึ่งในตอนนี้มอเตอร์ไซค์อีวียังมีกำแพงด้านราคาอยู่
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.หารือกับบริษัท สโมโก้ โฮลดิ้ง จำกัด ภายใต้แบรนด์ "SMOGO” ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ชั้นนำจากจีน
ทั้งนี้ โครงการลงทุนนี้เริ่มต้นโดย บริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัลในจีน ได้ตัดสินใจร่วมมือกับ บริษัท GI New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมาไทย ภายใต้ชื่อ “SMOGO”
ในเบื้องต้นบริษัทจะเลือกฐานการผลิต และลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบมอเตอร์ไซค์อีวี การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์อีวี (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน (Leasing) ควบคู่ไปด้วย
ซึ่งจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจำหน่ายไปประเทศอื่น โดยคาดว่าทาง SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ได้ 150,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเกิดการลงทุนโครงการฯ เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ในกรอบวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2566-2571)
พร้อมกันนี้ สกพอ.และ SMOGO ร่วมกันหารือแนวทางสนับสนุนการลงทุน อาทิ ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอใบอนุมัติอนุญาต
รวมถึงการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะการฝึกอบรมและการศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงความต้องการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ปัจจุบันมอเตอร์ไซค์อีวีกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดยการลงทุนในครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีวีในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ยั่งยืน
อาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการใช้รถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้ากำลังเติบโตขึ้นทั้งรถยนต์นั่งและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ในธุรกิจเดลิเวอรี่ที่หันมาใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาและพร้อมใช้งานมากยิ่งขึ้น อาทิ โซลูชั่นการใช้งานในรูปแบบบริการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) รวมถึงการพัฒนาโมเดลรถซึ่งตอบโจทย์ผู้ขับขี่มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ มีประสบการณ์การใช้อีวีที่ดี จึงทำให้มองว่าแนวโน้มการใช้งานอีวีจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ใน 4 ปี (2567-2570) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อคัน