ลอง ฉางอัน Deepal S07-Deepal L07 คล่องตัว อัตราเร่งดี ช่วงล่างออกนุ่มๆ
ลองขับ Deepal S07 และ Deepal L07 รถ EV 2 โมเดลแรกของ ฉางอัน (Changan) ในประเทศไทย เป็นการลองสั้นๆ ในพื้นที่ปิด แต่ก็ให้จับอารมณ์ของรถได้ว่าเป็นอย่างไร
ฉางอัน (Changan) สร้างกระแสก่อนเปิดตัวในไทยได้ร้อนแรงทีเดียว ผู้คนพูดถึงกันมาก
โดยฉางอัน เข้ามาทำธุรกิจในไทยด้วยแผนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตที่ระยอง ลงทุนเฟสแรก 8,860 ล้านบาท มีกำหนดเดินเครื่องต้นปี 2568
ขณะที่ตัวรถ ฉางอัน ส่งดีพอล (Deepal) เข้ามาบุกเบิกตลาด 2 รุ่น คือ
- Deepal L07 Standard Range รถยนต์นั่งแบบฟาสต์แบ็ค ราคา 1,329,000 บาท
- Deepal S07 Standard Range รถเอสยูวี ราคา 1,399,000 บาท
ทั้ง 2 รุ่น ใช้แบตเตอรี ความจุ 66.8 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เท่ากัน มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อหล้งตัวเดียวกัน ให้กำลังสูงสุด 258 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ส่วนระยะทางการใช้งานสูงสุดต่างกันเล็กน้อย
- S07 ระยะทางขับขี่สูงสุด 485 กม. (NEDC) อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 6.7 วินาที
- L07 ระยะทางขับขี่สูงสุด 540 กม. (NEDC) อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 5.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 170 กม./ชม.
ฉางอัน จัดรถมาให้ลองสัมผัสเบื้องต้น ที่อิมแพ็ค สปีด พาร์ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นสนามโกคาร์ท และพื้นที่ลานจอดรถริมทะเลสาบ ทำเป็นสเตชั่นทดสอบอีกบางส่วน ก่อนที่การทดสอบขับขี่จริงจังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้
ในอิมแพ็ค สปีด พาร์ค แม้จะเล็กๆ แต่ก็การลองเรื่องของการควบคุมรถ ความคล่องตัว ช่วงล่าง รวมถึงอัตราเร่ง
ขณะที่พื้นที่ลานจอดรถ ทำเป็นสนามทดสอบอัตราเร่ง การขับสลาลอม การทดสอบการดูดซับแรงสั่นสะเทือนของช่วงล่าง ด้วยการขับผ่านสิ่งกีดขวาง รวมถึงลองเทคโนโลยีอย่าง อแดปทีฟ ครูส คอนโทรล
ในสนามอิมแพ็ค สปีด พาร์ค ซึ่งได้ลองทั้ง 2 รุ่น จัดเด่นที่จับความรู้สึกได้ก็คือ ความคล่องตัวของทั้ง 2 รุ่น จากจุดเด่นของมอเตอร์ไฟฟ้าที่เรียกกำลังมาได้เร็ว ทำให้การขับที่ต้องเปลี่ยนความเร็วบ่อยๆ เดี่ยวช้า เดี๋ยวเบรก เดี่ยวเร่ง รถตอบสนองได้ดี
ขณะที่ระบบช่วงล่าง ซึ่งด้านหน้าใช้แมคเฟอร์สัน สตรัท ด้านหลังอิสระ มัลติลิงค์ ก็ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี การควบคุมรถให้อยู่ในเส้นทางที่เต็มไปด้วยโค้งทำได้น่าพอใจ รวมถึงโค้งยูเทิร์น ก็มีความแม่นยำ
ในภาพรวม L07 จะทำได้ดีกว่าเล็กน้อย กับรถที่เป็นแบบซีดาน เตี้ยกว่า ความสูงใต้ท้องรถต่ำกว่า คือ 150 มม. ส่วน S07 อยู่ที่ 165 มม. รถมีความแม่นยำกว่า และอาการท้ายสไลด์ออกมีน้อย ขณะที่ S07 จะมีอาการนี้มากกว่า รวมถึงการโยนของตัวถังมีให้รู้สึกได้บ้าง
นั่นคืออาการที่จับได้ แต่ว่าในภาพรวมมันไม่มีผลให้เกิดความผิดพลาดในการควบคุมรถ เป็นธรรมดากับการใช้ความเร็วค่อนข้างสูง กับโค้งแคบๆ ที่ท้ายรถจะออกเล็กน้อย ให้พอได้แก้อาการ หรือบางช่วงก็แทบจะไม่ต้องแก้อะไร สักครู่เดียวเมื่อหน้ารถตั้งลำได้ ท้ายรถก็กลับมาอยู่ในตำแหน่งของมัน
และสิ่งที่ช่วยได้ออย่างอย่างคือหน้ารถที่ยังแม่นกับเส้นทาง คือ หน้าไม่ออก ออกแต่ท้ายเท่านั้นเอง ซึ่งผมเชื่อว่าอารมณ์ แบบนี้หลายคนน่าจะชอบ เผลอๆ จะแอบเหยียบคันเร่งเพิ่มในโค้งให้รถขับเคลื่อนล้อหลังมีอาการท้ายออกมากขึ้นไปอีก แต่ว่าขอเป็นในสนามนะครับ บนถนนจริงไม่ควรทำ
ผมลองขับโดยเลือกใช้ทุกโหมดทั้ง eco, normal, sport และ การตั้งค่าเอง ซึ่งมีจุดเด่นคือ สามารถเลือกตั้งค่าการชาร์จคืนพลังงานได้แบบละเอียดตั้งแต่ 0-100% ซึ่งลองตั้งไว้ที่ 100 ก็ทำให้การขับโดยรวมแทบไม่ต้องใช้เบรก ใช้แค่คันเร่งเท่านั้น
ส่วนการลองอัตราเร่ง ออกตัวแบบเหยียบให้สุด รถพุ่งได้รวดเร็ว แต่ไม่ถึงกับกระชากรุนแรงนัก แม้จะใช้โหมด sport ซึ่งโดยส่วนตัวผมว่าดีพอ ไม่ต้องกระชากกระชั้นมากนัก เพราะไม่จำเป็น และอาจจะอันตรายได้ด้วยซ้ำในการใช้งานจริง แต่มันก็ออกตัวได้รวดเร็ว เร้าใจเพียงพอ
เข้าใจว่าเป็นการเซ็ทมา เพราะจังหวะกดคันเร่งแบบเต็มที่แบบนี้ ไม่มีจังหวะล้อปั่นฟรี หรือ อาการท้ายปัด
ส่วนการขับสลาลอม ทั้ง 2 รุ่น L07 เข้าชิดกรวยได้มากกว่า และมีอาการท้ายออกเล็กน้อย ขณะที่ S07 ก็ออกบ้างเช่นกัน แต่มากกว่าเล็กน้อย แต่ก็เช่นเดิมครับ มันไม่ออกไปไหนไกล สามารถขับซิกแซกๆ ไปมาโดยอยู่ในการควบคุม ดังนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า ช่วงล่างเอาอยู่ ทำได้น่าพอใจ
ทั้งนี้การเซ็ทช่วงล่าง ดีพอล ยังให้ความสำคัญกับความนุ่มนวลเช่นกัน ไม่ได้ออกไปทางสปอร์ตเต็มที่ ดูได้จากการลองในเส้นทางที่มีสิ่งกีดขวางบนถนน และการลองอัตราเร่ง ที่พื้นที่ลาดจอดรถบางช่องไม่เสมอกัน ทำให้รถมีอาการโยนขึ้นของตัวถังให้รู้สึกได้
แต่โดยรวมก็ถือว่า ทำได้ทำได้ดี ขับง่าย คุมไม่ยาก ส่วนการลองขับบนถนนจริง และรายละเอียดอื่นๆ ทั้งการทำงานของระบบต่างๆ ออปชั่น เอาไว้มีโอกาสอยู่กับรถนานๆ กว่านี้ จะเอามาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ