ฮอนด้า มองตลาดจักรยานยนต์ ปัจจัยลบ 'เศรษฐกิจ-หนี้ครัวเรือน-ไฟแนนซ์เข้ม'
ฮอนด้า เผยปี 66 ครองผู้นำตลาดเหนียวแน่น มองภาพรวมตลาดปีนี้หดตัวเล็กน้อย หลังปีที่แล้วโตผิดปกติ บวกปัจจัยลบทั้งเศรษฐกิจโลก หนี้ครัวเรือนสูง แบงก์ชาติคุมเข้มสินเชื่อ
รถจักรยานยนต์ถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญสำหรับการขนส่งของไทย เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่ที่การขนส่งระบบอื่นๆ ยังไม่พร้อมหรือเพียงพอ
โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดรถจักรยานยนต์มียอดขายรวม 1.88 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4% ซึ่งค่อนข้างส่วนทางกับภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดรถยนต์ที่ลดลง 9%
ชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมยังมีความแข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามมองว่าการเติบโตในปีที่ผ่านมามีความปกติบางส่วน รวมกับภาพรวมในปี 2567 ที่เห็นว่ายังไม่มีปัจจัยบวกที่ชัดเจนมากนัก ทำให้ฮอนด้าคาดการณ์ตลาดปีนี้จะติดลบเล็กน้อย อยู่ในระดับ 1.7-1.75 ล้านคัน
ส่วนการเติบโตที่ผิดปกติในปี 2566 ส่วนหนึ่งมาจากภาวะการอั้นมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในส่วนของผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้จ่ายก่อนหน้านั้น ภาคการผลิตที่มีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบ ก่อนที่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปีที่ผ่านมา รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ตลาดเติบโต
ส่วนปีนี้การประเมินตลาดติดลบเล็กน้อย เป็นเพราะยังเห็นปัจจัยลบที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ
- 1. มาตรการควบคุมสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้การปล่อยสินเชื่อยากขึ้น
- 2.ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ และเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งการสู้รบในหลายพื้นที่
- 3.หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามในส่วนของการควบคุมสินเชื่อแม้จะทำให้ตลาดช็อค เพราะปัจจุบันสัดส่วนการซื้อเงินผ่อนของลูกค้าอยู่ที่ 70% ส่วน เงินสด 30% และในช่วงการแข่งขันรุนแรงปีที่ผ่านมาสัดส่วนสูงกว่า 70% แต่เชื่อว่าระยะยาวจะเป็นผลดี ทั้งในส่วนของผู้จำหน่าย ลีสซิ่ง และตลาด
โดยลีสซิ่งกับผู้จำหน่ายจะเข้มงวดในการคัดเลือกลูกค้ามากขึ้น ทำให้ได้ลูกค้าที่มีศักยภาพ และส่งผลให้ปัญหาหนี้เสีย หนี้ครัวเรื่อนค่อยๆ ทยอยลดลง โดยน่าจะเห็นผลชัดเจนช่วงกลางปี และจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ตลาดเริ่มฟื้นตัวกลับมา
ส่วนปัจจัยบวกที่มองว่าจะมีผลต่อตลาดในปีนี้ หลักๆ มาจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเห็นผลชัดเจนในด้านการเติบโตของตลาดในพื้นที่ภูเก็ต ขณะที่พัทยา ก็มีแนวโน้มที่ดี นอกจากนี้มาตรการฟรีวีซ่ากับจีนที่จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก็จะส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกทาง และมีผลต่อเนื่องมายังตลาดรถจักรยานยนต์เช่นกัน
ปัจจัยบวกอีกสิ่งหนึ่งคือ พืชผลการเกษตร ที่เชื่อว่าจะดีในปีนี้ รวมถึงการลุ้นนโยบาย ดิจิทัล วอลเล็ต ที่น่าจะส่งผลบวกเช่นกัน
คิมูระกล่าวว่า ในส่วนของฮอนด้า ปีที่ผ่านมา มียอดขาย 1.47 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 6% และครองความเป็นผู้นำตลาดได้อย่างเหนียวแน่น ส่วนปีนี้ตั้งเป้า 1.3-1.35 ล้านคัน สอดคล้องกับทิศทางของตลาด
สำหรับภาพรวมตลาดปี 2566 รถที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ กลุ่ม เอที หรือ เกียร์อัตโนมัติ ที่มีสัดส่วนการขาย 49% เพิ่มขึ้น 4-5% ตามมาด้วย รถครอบครัว หรือ Family 47% ตลาดค่อนข้างทรงตัว รถสปอร์ต 3% ลดลงจากปีก่อนหน้า
ส่วนรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ อีวี 1% ด้วยยอด 2.18 หมื่นคัน แต่ก็เพิ่มขึ้นมากจากปีก่อนหน้าที่มียอด 9,800 คัน และคาดว่าปีนี้จะเติบโตต่อเนื่อง แต่อัตราเติบโตลดลง โดยจะอยู่ที่ระดับ 3.2-3.35 หมื่นคัน
ในส่วนของฮอนด้าปีที่ผ่านมา ยังครองความเป็นผู้นำในทุกตลาด โดยตลาดรถครอบครัว 8.78 แสนคัน ฮอนด้า มียอด 7.96 แสนคัน แต่ลดลงเล็กน้อย 4% รถสปอร์ต 5.6 หมื่นคัน ฮอนด้ามียอด 2.5 หมื่นคัน ลดลง 1% รถเอที 9.24 แสนคัน ฮอนด้ามียอด 6 แสนคัน เพิ่มขึ้น 24% ขณะที่กลุ่มบิ๊กไบค์ตลาดรวม 1.54 หมื่นคัน ลดลง 9% ฮอนด้ามียอด 7,035 คัน เพิ่มขึ้น 7%
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังคว้ายอดจดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก นำโดย Honda Wave110i รวม 511,659 คัน อันดับที่ 2 คือ Honda Wave125i จำนวน 254,141 คัน อันดับที่ 3 Honda Scoopy จำนวน 218,113 คัน อันดับที่ 4 Honda PCX160 จำนวน 146,212 คัน และอันดับที่ 5 Honda Click Series ที่มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 114,202 คัน
ตัวเลขดังกล่าวยังทำให้ฮอนด้าคว้าอันดับ 1 ในทุกเซกเมนต์อีกด้วย โดย Honda Wave110i ครองความเป็นที่ 1 ในกลุ่มรถครอบครัว ในขณะที่ Honda Scoopy ครองอันดับ 1 ในกลุ่มรถเอ.ที. และในส่วนของกลุ่มรถสปอร์ต Honda CRF300L มียอดจำหน่ายสูงสุดในกลุ่มนี้ที่ 7,840 คัน
ส่วนปีนี้ทิศทางของฮอนด้า จะเน้นการตลาดเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้านสินค้า และกิจกรรมที่จะจัดร่วมกับลูกค้า ร่วมถึงการวางแผนตลาดผลิตรถที่ตลาดต้องการเพิ่มมากขึ้นจากการเก็บข้อมูลโดยตรงจากลูกค้า