“รถยนต์อีวีจากจีน หนีกำแพงภาษีตะวันตก จะวกมาไทย?”

“รถยนต์อีวีจากจีน หนีกำแพงภาษีตะวันตก จะวกมาไทย?”

การตอบโต้โดยจีนต่อสหรัฐและยุโรปเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยเริ่มต้นที่จีนประกาศ เพิ่มภาษีนำเข้าของรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ใหญ่เกินกว่า 2.5 ลิตรจากอัตราเดิม 15% เป็น 25% และจะมีมาตรการอื่นๆ ตามมาอีก

การประชุมในระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค.2024 ที่อิตาลี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำเจ็ดประเทศ G7โดยมีสมาชิก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่นและแคนาดา ซึ่งจัดขึ้นประจำทุกๆปีเพื่อจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญของประเทศสมาชิกและปัญหาระหว่างประเทศอื่นๆ เป้าหมายเด่นเรื่องหนึ่งคือกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐเรียกร้องให้กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ร่วมมือออกมาตรการเข้มงวดเรื่องการนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งกล่าวหาว่าปริมาณการผลิตและส่งออกของสินค้าจากจีนมากเกินกว่าปกติ ถึงขั้นล้นตลาด และราคาสินค้าถูกเกินความจริง ซึ่งจะทำลายสภาวะเศรษฐกิจของโลก

โดยสหรัฐเน้นเตือนว่าจีนมีนโยบายรุกถล่มโดยปริมาณและราคา เช่น เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ขับเคลื่อนโดยไฟฟ้า EV, แบตเตอรี่รถEV และแผงโซลาร์เซลล์เป็นต้น

สหรัฐประกาศนำร่องเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าภาษีนำเข้ารถอีวีจะขึ้นสูงถึง 100% และจะไม่ลดภาษีนำเข้าของสินค้าอื่นๆ ที่ปัจจุบันอเมริกาซื้อจากจีนอยู่แล้วมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

สหรัฐยอมรับว่านโยบายนี้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเองให้ปรับตัวในการแข่งขันพัฒนาการผลิตและบริการในประเทศให้ทันก่อนที่จะสายเกินไป และเลี่ยงบทเรียนที่ผ่านมาซึ่งชาวอเมริกันพึ่งพาสินค้าราคาถูกจากจีน จนทำให้อุตสาหกรรมในประเทศหลายอย่างต้องล่มสลายไป

ขณะเดียวกันทางจีนตำหนิว่านโยบายนี้มีเจตนากีดกันจีนและน่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางด้านการเมืองเนื่องจากเป็นฤดูเลือกตั้งในสหรัฐ

การชี้นำโดยสหรัฐครั้งนี้กดดันประชาคมยุโรปโดยอัตโนมัติ เนื่องจากสินค้าที่จีนผลิตเพื่อส่งออกหากเข้าสหรัฐไม่สะดวกก็จะหาที่ตลาดใหม่ เปลี่ยนทิศทางไปยุโรป ซึ่งจะเพิ่มความกดดันให้กับอุตสาหกรรมในยุโรป เช่น สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนีกำลังพิจารณาเรื่องนี้เป็นขั้นวิกฤติ เนื่องจากความสามารถของบริษัทรถยนต์อีวีของจีนนั้นได้พัฒนาเกินกว่าที่ประเมินไว้

ขณะนี้รถอีวีที่ใช้ในยุโรปประมาณ 20% เป็นการนำเข้าจากจีน (จะขยับขึ้นไปเป็น 25% ในปีค.ศ. 2024) ซึ่งรวมทั้งยี่ห้อของจีนเองและที่ผลิตโดยโรงงานในจีนของบริษัท Tesla ของสหรัฐ และบริษัท BMW ของเยอรมนี ที่น่าตกใจคือปีที่แล้วค.ศ. 2023 ยุโรปนำเข้ารถอีวีเป็นมูลค่า 11,500 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 1,600 ล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 2020

สิ่งที่ประชาคมยุโรปเป็นกังวลมากคือผลกระทบกับการจ้างงานภายในยุโรปซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ปัจจุบันจ้างงานถึง 14 ล้านคน และยุโรปส่งออกรถยนต์สู่ตลาดโลกเป็นมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านยูโรต่อปี

คาดว่าประมาณเดือนก.ค. สหภาพยุโรปจะมีการประกาศเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีจากจีนประมาณ 15 ถึง 30% (ปัจจุบัน 10%) แต่จะไม่ขึ้นสูงถึง 100% เช่นสหรัฐ เพราะยุโรปมีความสัมพันธ์ซับซ้อนกับจีนเรื่องเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสหรัฐ

สภาพยุโรปกำลังทำการสืบสวนว่ารัฐบาลจีนได้ให้ความสนับสนุนเป็นพิเศษโดยการให้เงินอุดหนุนบริษัทรถยนต์อีวีในจีนเพื่อให้มีต้นทุนต่ำเกินความจริงและเข้ามาทำลายวงจรธุรกิจของยุโรปหรือไม่ โดยเฉพาะยี่ห้อ BYD, Geely และ SAIC ซึ่งเป็นสามยักษ์ใหญ่อีวีของจีน ซึ่งเสนอขายสินค้าในราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ ต่างจากรถยนต์ในยุโรปเกือบหนึ่งเท่า และหากผลของการสืบสวนสรุปว่ารัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนบริษัทเหล่านี้จริงอาจเห็นการขึ้นกำแพงภาษีถึง 50% โดยสหภาพยุโรป

สังเกตการปรับตัวของบริษัทรถอีวี BYD ของจีนที่รีบตั้งโรงงานผลิตในประเทศฮังการีซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป เพื่อผลิตสินค้าในยุโรปป้อนตลาดยุโรปและเลี่ยงกำแพงภาษี ซึ่งจะเป็นประเด็นใหม่สำหรับสินค้าเหล่านี้เมื่อส่งออกไปสหรัฐว่าเป็นสินค้าผลิตในยุโรปแต่เจ้าของเป็นบริษัทจากจีนนั้นจะมีผลอย่างไร (Tesla มีโรงงานผลิตใหญ่มากในเยอรมนีและกำลังเร่งขยาย)

ขณะเดียวกันมีโรงงานผลิตรถยนต์อีวีจากจีนกำลังก่อสร้างอย่างเร่งด่วนในเม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศที่มีข้อตกลงพิเศษกับสหรัฐอเมริกาและแคนาดายกเว้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน ซึ่งเรื่องนี้มีข่าวว่ารัฐบาลอเมริกันก็จะปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อรับมือกับเรื่องนี้

การตอบโต้โดยจีนต่อสหรัฐและยุโรปเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยเริ่มต้นที่จีนประกาศ เพิ่มภาษีนำเข้าของรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ใหญ่เกินกว่า 2.5 ลิตรจากอัตราเดิม 15% เป็น 25% และจะมีมาตรการอื่นๆ ตามมาอีก

การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มตะวันตกกับจีนข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ แต่สามารถใช้เป็นสิ่งที่นำมาวิเคราะห์ได้ว่าผู้บริโภคจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อสินค้าราคาแพงขึ้นเพราะภาษีนำเข้าซึ่งเป็นนโยบายของผู้บริหารประเทศของตน โดยเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ จ้างงานในประเทศและบำรุงบริษัทเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน ให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้า

สินค้าหลายประเภทจากจีนที่กำลังหาตลาดใหม่อยู่เสมอนั้นกำลังกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในประเทศใกล้เคียงจีน รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งละเอียดอ่อนทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ปัญหาเศรษฐกิจโดยภาพรวมในจีนทำให้กำลังการซื้อภายในจีนระยะนี้ลดลงมาก ขณะที่ความสามารถในการผลิตสินค้าสำคัญ (รวมทั้งรถยนต์อีวี) เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากประสิทธิภาพของการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการสนับสนุนของรัฐบาล

เมื่อสินค้าออกมามากแต่ถูกปิดกั้นโดยตลาดในตะวันตกก็จะเบี่ยงเบนมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีผลกระทบเชื่อมโยงไปหลายอย่าง

ส่วนแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ในไทย เช่น การลงทุนของโรงงานจากจีน (ปัจจุบัน BYD กําลังสร้างฐานผลิตในไทย บราซิล อินโดนีเซีย ฮังการี และอุซเบกิสถาน) เพื่อการบริโภคในไทยนั้นคงไม่มีปัญหา แต่หากหวังว่าจะผลิตสินค้าโดยบริษัทจีนในไทยเพื่อส่งไปตลาดในยุโรปหรือสหรัฐฯก็คงจะเจออุปสรรคอย่างแน่นอน ฝากอนาคตไว้กับความคิดสร้างสรรค์หาตลาดที่มีเอกลักษณ์พิเศษ ซึ่งคงไม่เกินกว่าความสามารถของนักการตลาดไทย นำโดย‘เซลล์แมนหมายเลขหนึ่ง’ครับ