Ford Ranger Wildtrak V6 3.0 Turbo สุขุม นุ่มลึก แรง นุ่ม นิ่ง เงียบ
ฟอร์ด เสริมตลาดรถปิกอัพ ส่งเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 30 ลิตร V6 ให้กับเรนเจอร์ ไวล์ดแทรค (Ranger Wildtrak) ซึ่งสมรรถนะของเครื่องยนต์ตัวนี้น่าสนใจทีเดียว
ตลาดปิกอัพเป็นตลาดสำคัญในบ้านเรา แม้ช่วงนี้จะซวนเซจากภาวะเศรษฐกิจ และความเข้มงวดของสถาบันการเงิน แต่ก็ยังเป็นตลาดใหญ่ และตลาดที่มีการแข่งขันที่ดุเดือด
ฟอร์ด ปัจจุบันครองตลาดอันดับ 3 แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดจะยังห่างจาก 2 ผู้นำตลาด แต่ก็ถือว่ามีตลาดที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง มีจุดขายหลัก คือ การมีจุดเด่นและเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งเรื่องของการดีไซน์ และสมรรถนะ และผู้ใช้รถจำนวนไม่น้อยมองฟอร์ดเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะในกลุ่มรถ 4 ประตู หรือ ดับเบิลแค็บ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ
โดยฟอร์ดมีรถในตลาดนี้ให้เลือกที่หลากหลาย ทั้งตระกูลเรนเจอร์ ตัวเริ่มต้นไปจนถึงตลาดบนอย่างแร็พเตอร์ตัวเก่ง
อารมณ์ของเครื่องยนต์ 3.0 วี6 ดูนุ่มนวล เปรียบเป็นคนก็เหมือนคนใจเย็น สุขุม แต่มีดีในตัว พร้อมนำออกมาใช้ทันที
การตอบสนองของเครื่องยนต์ไม่ได้ออกมาในแบบกระชากกระชัั้น จี๊ดจ๊าด เหมือนกับ 2.0 เทอร์โบคู่ ของฟอร์ดเอง ที่หลายคนก็ชื่นชอบอารมณ์แบบนั้น แต่สำหรับ วี6 เมื่อกดน้ำหนักลงบนคันเร่งที่มีน้ำหนักพอควร เหมือนจะยััั้งๆ เราไว้ในตัว เครื่องยนต์ไม่ได้กระชากขึ้นมาทันทีทันใด แต่จะไหลขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไหลไม่หยุดไปจนถึงความเร็วสูงและสูงมากได้ต่อเนื่อง
ด้วยอารมณ์ผู้ดีๆ แบบนี้อาจะทำให้รู้สึกว่าความเร็วขึ้นช้า แต่จริงๆ แล้วไม่ช้าหรอกครับ จากการที่ผมลองขับที่ความเร็วระดับ 40-50 กม./ชม. ตามรถคันอื่นในเส้นทางชนบท เมื่อมีจังหวะมีพื้นที่เพียงพอ ก็กดคันเร่งเพื่อแซง เผลอแวบเดียว มันขึ้นไปที่ 130 โดยที่เราไม่ได้รู้สึกถึงแรงกระชากของมันมากนัก
ช่วงล่างจัดการกับการเดินทางได้ดี ถนนสายหลักอย่างมอเตอร์เวย์ นิ่งสบาย สู้กับความเร็ว และแรงปะทะของลมได้ดี การคุมรถแค่ประคองๆ หลวมๆ การปรับเปลี่ยนความเร็วก็กดคันเร่งแบบนุ่มนวล
ทำให้ทั้งหมดนี้มันดูสบายๆ และเป็นปิกอัพที่เหมาะกับการเดิน่ทางไกลๆ หรือเดินทางท่องเที่ยวมาก โดยเฉพาะเมื่อรวมกับพื้นที่ห้องโดยสารที่กว้างขวาง ทัศนวิสัยที่โล่งทุกด้าน และประโยชน์ใช้สอยของกระบะท้าย
การขับขี่ในทางโค้ง ทางเขา ช่วงล่างของฟอร์ดก็ยังเป็นจุดเด่น จัดการกับเส้นทางเหล่านี้ได้ดี ขับได้สนุก แม้บางคนจะบอกว่ามันออกจะนุ่มๆ ไปหน่อย ก็อาจจะใช่ เพราะไม่ได้เป็นรถที่จับกลุ่มการบรรทุก แต่รองรับการใช้งานทั่วไปมากกว่า แต่ในแง่การขับขี่ ยังจัดการกับทางโค้ง หรือการต้องเปลี่ยนช่องทางไปมาตลอดเวลาบนมอเตอร์เวย์ได้น่าพอใจครับ
วี6 เพิ่มโหมดการขับขี่ 4A หรือ All Wheel Drive มาให้ ร่วมกับ 2H, 4H และ 4L ซึ่ง 4Aฟ์ จะทำงานอัตโนมัติว่าช่วงไหนจะส่งกำลังไปที่แต่ละล้ออย่างไร ถ้าไม่อยากเลือกเอง ก็เปิดทิ้งไว้ได้ ขับไปไหนก็ได้ การขับบนทางเรียบด้วยความเร็วสูงก็ทำได้เช่นกัน โดยไม่รู้สึกแตกต่างจากการเลือก 2H มากนัก จะมีบ้างบางช่วงที่รู้สึกถึงพวงมาลัยที่หน่วงๆ เท่านั้น
ผมไปลองขับขี่บนเส้นทางนอกถนนที่เป็นทางกรวดทางดิน แล้วลองใช้ 4A บางช่วงไม่ต่างจาก 2H มากนัก การเปลี่ยนเส้นทางแบบรวดเร็ว ท้ายรถปัดออกไปบ้างให้พอได้อารมณ์สนุก แต่หน้ารถยังอยู่ในทิศทางที่เราต้องการเดินทางไป แต่เมื่อเลือกใช้ 4H รถจะมีความนิ่งมากกว่า ผมเข้าใจว่าจังหวะที่ไม่ได้โหดร้ายมากนักแบบนี้ ระบบ 4A คงมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าแทรกแซงมากนัก
ส่วนการขับเส้นทางนอกถนนอย่างจริงจัง ทางมีทั้งลื่นๆ มีน้ำจากฝนที่ตกมาคืนก่อน และทางหลุมทางร่อง ใส่ 4H แล้วรูดได้เลยครับ รถคุมง่าย จิกเส้นทางได้แม่นยำ และช่วงล่างก็จัดการกับทางแบบนี้โดยไม่เด้ง ไม่โดดได้ดี ขณะที่กำลังเครื่องยนต์ก็เหลือๆ
และการขับในเส้นทางแบบนี้ทำให้รู้สึกชอบอารมณ์ น้ำหนัก และความแม่นยำของพวงมาลัยเพิ่มขึ้นมาอีกครับ
ส่วนอัตราสิ้นเปลืองการขี่ในกรุงเทพได้ประมาณ 8.5 กม./ลิตร ส่วนการขับออกต่างจังหวัดทั้งเส้นมอเตอร์เวย์ และเส้นทางรอง ขับแบบใช้งานจริง ความเร็วพอควร ปรับเปลี่ยนความเร็วบ่อยครั้งได้ประมาณ 12.3 กม./ลิตร ก็ไม่เลวนะครับ
สำหรับรายละเอียดหลักๆ ของ Ranger Double Cab Wildtrak 3.0L V6 Turbo 4WD 10AT คันนี้ มาพร้อมกับล้ออัลลอย และยางขนาด 255/55 R20 ที่ออกแบบมาสำหรับ วี6 โดยเฉพาะ ดิสก์เบรกหน้าและหลัง ช็อค แอบซอร์เบอร์ แบบโมโนทูบ พื้นปูกระบะท้าย พร้อมช่องต่อไฟ 12 โวลต์ และ 230 โวลต์
ฝาท้ายเป็นแบบผ่อนแรง บันไดเหยียบข้างกระบะท้าย บันไดข้างขนาดใหญ่ช่วยในการขึ้นลงของรถที่มีความสูงพอควร และไฟส่องสว่างภายนอกแบบแบ่งโซนหรือ zone lighting
ภายในห้องโดยสารเบาะออกแบบสำหรับ Wildtrak โดยคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง จอสีแบบสัมผัสขนาด 12 นิ้ว ระบบสั่งงานด้วยเสียง รองรับการเชื่อมต่อแอ๊ปเปิ้ล คาร์เพลย์ และ แอนดรอยด์ ออโต้ แบบไร้สาย ใช้งานได้สะดวก พร้อมเครื่องเสียงและลำโพง 6 ตำแหน่ง
ระบบ FordPass Connect หน้าจอแสดงข้อมูลขับขี่แบบดิจิทัล ขนาด 8 นิ้ว เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบออโต้เบรกโฮลด์
ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย ช่องเชื่อมต่อยูเอสบีทั้งด้านหน้าและด้านหลังและที่กระจกมองหลังซึ่งตัดแสงอัตโนมัติ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแยกอิสระซ้าย-ขวา และ ช่องปรับอากาศสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง และมีช่องต่อไฟฟ้า 230 โวลต์
ด้านระบบความปลอดภัย เช่น ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ระบบช่วยการออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน ระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ (ROM) ถุงลม 7 ตำแหน่ง คือ คู่หน้า ด้านข้าง ม่านถุงลม และถุงลมป้องกันหัวเข่าผู้ขับขี่ กล้องมองภาพ 360 องศา
มีโหมดการขับขี่ให้เลือกได้ทั้ง อีโค เพื่อความประหยัด นอร์มอล โหมดลากจูง โหมดทางลื่น ทางทราย ทางหลุมทางร่อง (Ruts) และทางโคลน ซึ่งหากเลือกแต่ละโหมดระบบก็จะจัดการระบบขับเคลื่อนที่เหมาะสมให้อัตโนมัติ แต่บางโหมดระบบจะทำงานละเอียดมากขึ้น เหมือนกับเป็น fine tune เช่น โหมดลากจูง ที่จะควบคุมพวกแรงบิด หรือ การส่งกำลังไปยังล้อต่างๆ ที่แม่นยำยิ่งขึ้น
แต่การลองขับนอกถนนครั้งนี้ ผมเลือกระบบขับเคลื่อนเองคือ 4H ก็ลุยได้สบายๆ เหมือนกันครับ