‘สงครามราคาอีวี’ป่วนตลาดรถมือสอง ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผู้บาดเจ็บ!

‘สงครามราคาอีวี’ป่วนตลาดรถมือสอง  ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผู้บาดเจ็บ!

รายการ “Deep Talk” พูดคุยถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะผลกระทบจากการเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ อีวี กับ “สุวิทย์ ชอบประดู่” รองนายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว และผู้บริหารเต็นท์รถมือสอง “บ้านคุณเอ็กซ์” 

สุวิทย์ ฉายภาพว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จากเดิมเป็นเวทีของเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่การเข้ามามีบทบาทของอีวีอย่างรวดเร็ว โดยปี 2566 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนราว 10% ของตลาดรถยนต์โดยรวม ในอนาคต มีโอกาสที่จะขึ้นไปที่ 30%  ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ ปี  2030 หรือ ปี 2573

"การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมมีผู้บาดเจ็บ ซึ่งไม่ใช่แค่คนเดียว แต่เกิดกับหลายฝ่ายในห่วงโซ่ ตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์ ดีลเลอร์ ไฟแนนซ์ ผู้บริโภค และธุรกิจรถยนต์มือสอง เหตุผลหลักๆ เป็นเพราะสงครามราคาของอีวีที่ลดราคาอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง"  

ผลกระทบต่อตลาดรถมือสองนั้น คือ ราคาที่ปั่นป่วนและลดลงอย่างรวดเร็ว จากปกติรถใหม่เมื่ออยู่ในการครอบครองของเจ้าของรถ จะมีราคาลดลงเฉลี่ย 5-10% ต่อปี แต่การที่รถอีวีลดราคารุนแรง เช่น ล่าสุดลดสูงสุด 1.6 แสนบาท เท่ากับว่าราคาลดลงไป 30%

“โดยปกติรถญี่ปุ่นจะเปลี่ยนรุ่นใหม่ทุก 4-5 ปี หรือรถยุโรป 4-6 ปี เมื่อจะเปลี่ยนรุ่นก็จะลดราคารุ่นเก่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่อีวีปัจจุบันเปิดตัวมาไม่กี่เดือนก็ลดราคา บางรุ่นลูกค้าใหม่ได้ราคาที่ถูกกว่าคนที่จองไปก่อนหน้านี้แล้วยังไม่ได้รับรถด้วยซ้ำไป”

การขยับตัวที่รวดเร็วยังเป็นผลมาจากการที่มีผู้เกี่ยวข้องน้อยกว่า เช่น รถญี่ปุ่น มีชิ้นส่วนราว 2 หมื่นชิ้น ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์จำนวนมาก ขณะที่ อีวี มีประมาณ 2,000 ชิ้น เท่านั้น 

สุวิทย์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงราคาที่ปรับลดลง จริงๆ แล้วถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภคที่จะได้ใช้สินค้าที่ราคาถูกลง แต่ในด้านตลาด ทำให้เกิดการช็อกทันที เพราะการที่อีวีลดราคาลงมารุนแรง ผู้บริโภคเกิดความคาดหวังทั้งต่ออีวี และ ICE ว่าจะปรับราคาตามลงมา ทำให้ชะลอการซื้อรถออกไป นั่นเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ตลาดรถยนต์ติดลบรุนแรงในช่วงเวลานี้  

และในแง่ภาพรวมตลาด ทำให้มูลค่ารถยนต์หายมหาศาล หมายถึงเงินในมือผู้บริโภคที่หายไปด้วยเช่นกัน

“ตลาดรถยนต์ประเทศไทย เฉลี่ยปีละ 7 แสน-1 ล้านคัน ปัจจุบันมีประชากรรถประมาณ 40 ล้านคัน ที่ใช้งานจริงน่าจะราว 20 ล้านคัน แต่ละคันมูลค่าจะลดลงไป 20-30%”

และสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนมือ หรือ เปลี่ยนรถคันใหม่ เพราะลูกค้าที่ต้องการเทิร์นอิน ทำใจไม่ได้ เช่น รถบางคันที่ลูกค้าผ่อนไปแล้วยังค้างไฟแนนซ์อยู่ 4 แสนบาท เมื่อนำรถไปเทิร์น ตีราคาได้ 5 แสนบาท เท่ากับผู้บริโภคมีเงิน 1 แสนบาท สำหรับการดาวน์รถคันใหม่

แต่เมื่อราคารถป้ายแดงลดลง รถคันเดิมถูกตีราคา 3.5 แสนบาท นอกจากเจ้าของรถจะไม่มีเงินไปดาวน์แล้ว ยังต้องหาเงินอีก 5 หมื่นบาท ไปคืนไฟแนนซ์ ทำให้ตัดสินใจชะลอการซื้อขายออกไปก่อน 

และยิ่งตลาดอีวีหดตัว ซึ่งขณะนี้พบว่าบางรุ่นบางยี่ห้อมีสต็อก 2,000-3,000 คัน จะยิ่งเห็นการลดราคาลงไปอีก สิ่งเหล่านี้นอกจากส่งผลกระทบกับตลาดแล้วยังส่งผลต่อธนาคารหรือไฟแนนซ์ที่ต้องระวังและเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะมูลค่าสินเชื่อหายไปเช่นกัน เช่น เดิมเคยมียอดจัดไฟแนนซ์ 8 แสนบาท ปัจจุบันรถรุ่นเดียวกันเหลือ 5  แสนบาท เป็นต้น  

‘สงครามราคาอีวี’ป่วนตลาดรถมือสอง  ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผู้บาดเจ็บ!

ในอนาคตจะน่ากลัวยิ่งขึ้นหลังจากนี้ คือในปีนี้และปีหน้า เพราะมีแนวโน้มที่ซัพพลายจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จากอีวีรุ่นใหม่ หรือยี่ห้อใหม่ที่จะทยอยเข้าสู่ตลาด มีบางส่วนที่จะเริ่มต้นการผลิตในไทย ตามเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวีระยะเร่งด่วน หรือ อีวี 3.0 

ซึ่งปีที่ผ่านมา อีวี มียอดขายในไทย 7 หมื่นคัน หากผลิตใช้คืนก็จะเท่ากับว่ามีรถเข้าสู่ตลาดอีกมาก ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมรถยนต์รายเดิมในตลาด และมีผลต่อภาพรวมประเทศด้วย

เพราะรถจีนเพิ่งเริ่มต้นผลิต รัฐยังเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่ ขณะที่รายเดิมที่ผลิตลดลง หรือ บางรายตัดสินใจยกเลิกการผลิต เช่น ซูบารุ และซูซูกิ จะทำให้ภาษีที่รัฐเคยเก็บได้หายไป ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ 

ในมุมผู้บริโภคที่ไม่ได้มีกำลังซื้อสูงนัก ที่ชะลอการตัดสินใจซื้อรถก็จะหลุดจากวงจรนี้ได้ยาก เพราะไม่สามารถซื้อคันใหม่ได้ หรือแม้แต่จะเปลี่ยนไปใช้อีวีตามกระแสก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะรถที่ถือครองอยู่ไม่ได้ราคา 

สุวิทย์ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจมือสองซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามราคา และได้รับผลกระทบจากการที่มีรถยึดเข้าสู่ตลาดมาก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาร่วงลงไปค่อนข้างแรง แม้แต่รถยอดนิยม เช่น โตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด ที่รถใหม่ราคาประมาณ 1.8 ล้านบาท ลดลงเหลือ 6-7 แสนบาท แต่ปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นแล้วมาอยู่ที่ระดับ 9 แสนบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดเริ่มปรับตัวได้ และสต็อกของตลาดมือสองเริ่มลดลง 

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากตลาดรวมที่ไฟแนนซ์เข้มงวด เพราะลูกค้ารถยนต์มือสอง 80-90% ซื้อรถในรูปแบบเงินผ่อน

และการที่รถอีวีเล่นเกมราคา ส่งผลให้ราคารถใหม่ถูกดึงเข้าสู่เวทีนี้ด้วย ทำให้สถาบันการเงินเกิดความกังวลในเสถียรภาพราคาของรถมือสองด้วยเช่นกัน ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อยากขึ้นตามไปด้วย 

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เช่น บริหารสต็อกให้รวดเร็วขึ้น จากเดิม 3 เดือน ก็เหลือ 1 เดือน หรือบางคันเข้ามาไม่กี่วัน ยังไม่ได้ทำสีหรือปรับแต่งอย่างอื่นก็อาจปล่อยออกไปเมื่อมีโอกาส ขณะเดียวกันต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เช่น การรับประกันเหมือนรถใหม่ป้ายแดง หรือ มีใบรับรองว่าเป็นรถที่ไม่ผ่านอุบัติเหตุหนัก 

เมื่อมองในภาพรวม จะเห็นว่าสงครามราคาเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในวงการ แต่ถ้าสงครามสงบเมื่อไร ทุกอย่างจะดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นเรื่องดีในอนาคต “เพียงแต่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ถึงวันนั้นหรือเปล่าเท่านั้นเอง” สุวิทย์กล่าว