ปีนเนิน-ไต่หิน-ดำฝุ่น ไม่ยาก 'โตโยต้า ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต'
ที่ TMCA บอกว่า ออสเตรเลียเหมาะเป็นสถานที่ทดสอบรถ เพราะความหลากหลายทางภูมิประเทศ อากาศ ที่ 80% ของทั่วโลกหาได้ที่นี่ ก็น่าจะจริง รวมถึงความเหมาะสมกับการทดสอบรถในกลุ่มปิกอัพ หรือว่า เอสยูวี ก็น่าจะจริงเช่นกัน และคราวนี้ะราจะมาลองกันกับ "โตโยต้า ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต"
สิ่งที่ที่โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ออสเตรเลีย (TMCA)บอกว่าที่ออสเตรเลียเหมาะสม เพราะเกาะที่มีเอกลักษณ์และความหลากหลายทางชีวภาพแห่งนี้ที่พื้นที่ใหญ่กว่าไทย 15 เท่า แต่มีประชากรราว 26 ล้านคน นั้น 60% ของถนนหนทาง ไม่ใช่ทางดำ เป็นทางหิน ่ทางลูกรัง ฯลฯ ซึ่งเป็นเส้นที่ผู้คนก็ใช้กันตามปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ไม่ค่อยมีชุมชน เป็นพื้นที่ปศุสัตว์ที่แต่ละฟาร์มก็มีพื้นที่สุดลูกหูลูกตา รวมถึงพื้นที่ผมไปลองขับ Toyota Hilux GR Sport ครั้งนี้
คราวที่แล้วผมพูดถึงการขับในเส้นทางเรียบ ระหว่าง พอร์ต ออกัสต้า ไปย่านฟลินเดอร์ส เรนจ์ส รัฐเซาท์ ออสเตรเลีย ก่อนที่จะขับต่อไปยัง อาดิเลด
ซึ่งย่านฟลินเดอร์ เรนจ์ส และเอาท์แบ็ค เป็นพื้นที่ที่ได้ลองขับออฟโรด ทั้งการขับขี่ความเร็วต่ำ กับระบบขับเคลื่อน L4 และการขับขี่ความเร็วสูงกับ H4
สำหรับ ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต นอกจากการปรับความกว้างแทรคแล้ว โดยรวมก็ปรับให้รองรับการขับขี่นอกถนนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่างปีกนกที่ออกแบบใหม่ เพลาล้อหลังเสริมแรงเอาไว้รับการขับขี่บนพื้นที่ทุรกันดาร ช็อคแอบซอร์เบอร์แบบ โมโนทูบ ที่เพิ่มแรงหนืด เพื่อไม่ให้ตัวถังกระเด้งกระดอน สปริงก็เพิ่มค่าความเข็ง
ขณะที่รายละเอียดท้านเทคนิคอื่นๆ เกี่ยวกับการขับขี่ และความปลอดภัย เช่น ดิสค์เบรก 4 ล้อ แบบระบายความร้อน รองรับสมรรถนะเครื่องยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยชุดคาลิปเปอร์เบรกเหน้าแบบสี่พอร์ท คาลิปเปอร์หลัง 1 พอร์ท และเพิ่มอารมณ์สปอร์ตด้วยสีแดงโดดเด่น
ส่วนระบบความปลอดภัยที่ให้มา เช่น กล้องมองรอบคัน ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง ระบบช่วยเตือนขณะถอย สัญญาณเตือนกะระยะด้านท้าย และมุมกันชนหน้า-หลัง ระบบควบคุมและปรับลดความเร็วอัตโนมัติ (Dynamic Radar Cruise Control) ระบบความปลอดภัยก่อนการชน ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมหน่วงกลับอัตโนมัติ ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี
เบรก เอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก ระบบเสริมแรงเบรก ระบบควบคุมการทรงตัว ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ระบบควบคุมการส่ายของส่วนพ่วงท้าย ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน ระบบป้องกันการออกตัวฉุกเฉิน ระบบควบคุมเฟืองท้าย (Auto Limited Slip Differential) ระบบควบคุมและปรับลดความเร็วอัตโนมัติ
โครงสร้างนิรภัย GOA คานเหล็กนิรภัยด้านข้าง ถุงลมคู่หน้า ถุงลมป้องกันหัวเข่าด้านผู้ขับขี่ ถุงลมด้านข้าง และม่านถุงลม เป็นต้น
กลับมาที่เรื่องของการขับในรูปแบบออฟโรดที่ ออสเตรเลียครั้งนี้
โหมด L4 เลือกใช้เส้นทางปีนขึ้นเนินเขา ซึ่งหลายช่วงมีความชัน และหลายช่วงเป็นภูเขาหิน ที่มีก้อนหินใหญ่ๆ คมๆ ระเกะระกะเต็มไปหมด กับเส้นทางที่เรียกว่า river bed ซึ่งเป็นธารน้ำที่ปกติไม่ค่อยม่ีน้ำ นานๆ จะมีสักครั้งหากฝนตกหนักๆ เพราะพื้นที่ย่านนี้เป็นแบบกึ่งทะเลทรายค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ก็น่าจะมีน้ำใต้ดินเพราะเราเห็นการทำปศุสัตว์ และมีกังหันอยู่กลางทุ่งเป็นระยะๆ
ซึ่งการลองขับในเส้นทางลำธารนี้ ก็มีที่มาที่ไปนะครับ ทีมงานท้องถิ่นบอกว่าโดยปกติคนที่นี่ชอบใช้เส้นทางแบบนี้ เพราะมันจะมีความเรียบมากกว่าส่วนอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ถนน) ทำให้การเดินทางสะดวก แต่ก็มีความท้าทายจากการที่พื้นร่องน้ำเป็นก้อนหิน แต่ไม่คม มีความโค้งมน ลื่นๆ กับเส้นทางช่วงที่ต้องไต่ขึ้นไต่ลงฝั่ง ที่ท้าทายกำลังเครื่องยนต์และโครงสร้างตัวรถ
และด้วยการใช้งานในรูปแบบนี้เป็นการใช้งานปกติของคนที่นั่ง ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต เวอร์ชั่น ออสเตรเลีย ที่ผลิตจากโรงงานบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา จึงมีความแตกต่างบางส่วนกับเวอร์ชั่นที่จำหน่ายในประเทศไทยบางส่วน เช่น
- แผ่นกันกระแทกอลูมิเนียมใต้ห้องเครื่อง
- บันไดข้างที่เป็นเหล็กหนากลมๆ 2 อันคู่ วางตำแหน่งเฉียงขึ้น ซึ่งจะเหยียบยากกว่าบันไดเวอร์ชั่นประเทศไทยที่เป็นแบบแบนๆ
เพราะที่ออสเตรเลียเขาเน้นให้บันไดเป็นตัวป้องกันการกระแทกตัวถังมากกว่าแบบที่เน้นเอาไว้เหยียบที่นอกจากจะป้องกันตัวถังได้ไม่ดีเท่าแล้ว เผลอๆ มันยังป้องกันตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำไป
ครับ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะที่นั่นเขาใช้รถกันในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่บ้านเราน้อยคนที่จะเอารถไปลุย ถ้าจะลุยจริงก็ค่อยปรับแต่งกันอีกที
สำหรับการขับขี่ในเส้นทางแบบนี้ สบายๆ ครับ เป็นการขับแบบสบายๆ ที่สบายๆ จริงๆ เพราะกำลังเครื่องยนต์โดยเฉพาะแรงบิด 550 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,800 รอบ/นาที มันเหลือๆ อยู่แล้วครับ แตะคันเร่งเบาๆ รอเบเครื่องสัก 1,200-1,300 ก็ไต่ขึ้นเนิน ขึ้นร่องดินร่องหิน หรือ หรือปีนก้อนหินได้สบายๆ ส่วนยางออล เทอร์เรน Bridgestone Dueler AT ขนาด 265/65 R17 ก็รองรับเส้นทางนี้ได้ง่าย (เวอร์ชั่นไทยใช้ BFGoodrich)
และโครงสร้างของรถก็รองรับการขับขี่ในเส้นทางแบบนี้ได้ดี ความสูงใต้ท้องรถที่เพิ่มจาก 217 มม. เป็น 254 มม. ทำให้แผ่นรองกันกระแทกและบันไดข้างไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน
อีกส่วนหนึ่งของการขับออฟโรดที่ผมชื่นชอบคือ การขับออฟโรดความเร็วสูงกับ H4 บนถนนจริงที่ชาวออสซี่ หรือ จิงโจ้ นกอีมู และแกะ ใช้ร่วมกัน เป็นทางลูกรังทางหินลอย มีหลุมมีร่อง มีเนินบ้าง
ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไปถามทีมพัฒนาเขาจะต้องมั่นใจกับเส้นทางแบบนี้ เพราะที่มาที่ไปของ จีอาร์ สปอร์ต คือ แรงบันดาลใจจากดาการ์ แรลลี่
ความสูงใต้ท้องรถที่เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายใต้ท้องรถ และเพิ่มความสามารถในการปีนไต่ ชดเชยด้วยแทรคหรือความกว้างช่วงล้อที่เพิ่มขึ้น 14 ซม. ที่ด้านหน้า และ 15.5 ซม. ที่ล้อหลัง ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการให้ตัวหรือโยนตัวของตัวถัง และทำให้รถมีความมั่นคงมากขึ้น เส้นทางนี้ผมใช้ความเร็วสูงสุดที่ 130 กม./ชม. ซึ่งยังคุมรถได้ไม่ยาก ทางลื่นๆ แบบนี้ การคุมพวงมาลัย ก็ทำแบบปกติทั่วไป
แต่ถ้าความเร็วสูงกว่านี้ ก็ยังไปได้ แต่ผมว่ามันจะไม่รู้สึกสบายและสนุกในการขับขี่เท่ากับความเร็วระดับ 120-130 ครับ
จังหวะการเข้าโค้ง แน่นอนต้องผ่อนคันเร่งลงบ้างให้ความเร็วลดลงเล็กน้อยตามความเหมาะสมกับสภาพของโค้ง เป็นการผ่อนคันเร่งไม่ได้ถอนคันเร่งนะครับ
หน้ารถจิกดีครับ แม่นยำ ทำให้รู้ได้เลยว่าโค้งหน้าเราไปแบบนี้ได้แน่ แต่บางโค้งที่แคบลง มีอาการท้ายสไลด์ออกให้รู้สึกได้ แต่ไม่ต้องกังวล แค่แก้พวงมาลัยเล็กน้อยเท่านั้นเอง ซึ่งพวงมาลัยเแบบไฮดรอลิคที่มีระยะฟรีเล็กน้อยให้ความรู้สึกดีกับถนนแบบนี้มากกว่าทางเรียบ ส่วนจังหวะลงหลุมลงร่อง หรือ เนิน บนเถนนเส้นนี้ รูดได้เลยครับ ไม่มีปัญหา
ส่วนเครื่องยนต์ยิ่งไม่มีปัญหาเข้าไปใหญ่ กับกำลัง 224 แรงม้า ที่พร้อมจะพารถห้อหนีฝุ่นของเอาท์แบคได้สบายๆ
ต้องยอมรับว่า การพัฒนา จีอาร์ สปอร์ต เพื่อการขับขี่เส้นทางแบบนี้ทำได้ดี ทำออกมาได้ดี และจะตอบสนองผู้ที่มีไลฟ์สไตล์แบบไปไหนไปกันครับ