ท้าทายแรงกดดัน (จบ)
การเรียนรู้จากทุกโอกาสและทุกปัญหาจะช่วยให้เราแกร่งขึ้น
เกริ่นไว้ในตอนที่แล้วถึงการจัดการความกดดันในที่ทำงาน 2 ข้อใหญ่ๆ นั่นคือข้อแรกต้องเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรับรู้อารมณ์ของตัวเองได้เสียก่อน เพื่อที่จะได้มองเห็นภาพกว้างและหาช่องว่างให้ตัวเองได้ทบทวนสิ่งที่ทำมาทั้งหมด
ส่วนข้อสองต้องมองปัญหาให้เป็นความท้าทายเสมอ ซึ่งต้องใช้ทัศนคติเชิงบวกเพื่อมองหาโอกาส เพราะในโลกนี้ความสำเร็จของแต่ละคนไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ เช่นเดียวกับความล้มเหลวก็ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญเช่นกัน แต่เป็นผลลัพธ์ของความมุ่งมั่นตั้งใจของแต่ละคนว่ามีมากเพียงพอหรือไม่
ต่อกันในข้อที่สามต้องมีวิธีรับมือกับปัญหาอย่างเป็นระบบและฝึกให้เป็นนิสัย ซึ่งต้องอาศัยการคิด เชิงตรรกะเพื่อมองปัญหาให้ออกและแยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และต้องไม่ลังเลที่จะขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากผู้อื่น
เพราะแต่ละคนมีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกัน จุดอ่อนของเราอาจปิดด้วยจุดแข็งของเพื่อนร่วมงานการเปิดรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นจึงเป็นการผสานจุดแข็งของทั้งทีม ซึ่งเราก็ต้องรู้จักที่จะช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน การช่วยเขาและเปิดให้เขาช่วยเราจึงเป็นการเสริมกันและกันได้อย่างลงตัว
นอกจากนั้นการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบจะช่วยให้เรามองปัญหาและทางแก้ไขได้ง่ายกว่าคนอื่น ทำให้เรามีสุขภาพใจที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องมีวินัยในการดูแลตัวเองให้กินอิ่มและนอนหลับอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้มีสุขภาพกายดีขึ้นตามไปด้วย
ข้อสี่ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ แต่การลงมือทำเมื่อมีความพร้อมที่สุดต่างหากที่จะทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้ และเมื่อลงมือทำไปแล้วก็ต้องยอมรับในผลที่จะตามมาไม่ว่าดีหรือร้าย รวมถึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้เพื่อทำงานต่อไปให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
นั่นหมายความว่าเราต้องยอมรับความไม่สมบูรณ์ของตัวเราเอง แม้ว่าในอดีตเราอาจเก่งที่สุดหรือเป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุด แต่สถานการณ์ความไม่แน่นอนทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเราก็ต้องยอมรับในจุดนั้น โดยไม่ท้อถอยแต่ก้าวเดินต่อไปเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับตัวเอง
สิ่งที่คนรุ่นใหม่กังวล คือการ Burnout หรือการหมดไฟในการทำงานอันเนื่องมาจากรับแรงกดดันมากเกินไปหรือทนกับปัญหาและอุปสรรคต่อไปไม่ได้แล้ว ซึ่งนั่นคือการที่เราไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอและต้องการให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดซึ่งเป็นไปไม่ได้
การปล่อยวางจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราไม่สามารถแก้ไขอดีตหรือสิ่งที่ผ่านมาแล้วได้แต่เราสามารถกำหนดอนาคตได้ด้วยการใช้ช่วงเวลาปัจจุบันให้ดีที่สุด การเฝ้าคิดถึงความสำเร็จในอดีตจึงไม่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้
ข้อห้า ต้องทำตัวเป็นเหมือนคนที่มีน้ำไม่เต็มแก้วและพร้อมเติมน้ำใหม่อยู่เสมอ นั่นคือต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และห้ามคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดจนเรียนรู้ทุกอย่างเกินพอแล้ว เพราะเมื่อใดก็ตามที่คิดแบบนั้นนั่นคือการปิดประตูสู่การเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ที่อาจสร้างความสำเร็จให้เราในอนาคต
แม้จะต้องเจอความผิดหวังหรือความล้มเหลว ก็ต้องเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคต การเรียนรู้จากความผิดพลาดจึงเป็นการสร้างภูมิความรู้ใหม่ ๆ เป็นรากฐานให้เราเติบโตต่อไปได้ เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว หรือชีวิตที่มุ่งแสวงหาความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ล้วนต้องมีมุมมองแบบเดียวกัน นั่นคือการเรียนรู้จากทุกโอกาสและทุกปัญหาเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่จะช่วยให้เราแกร่งขึ้นต่อไป