รถใหม่กับ ‘ค่าใช้จ่าย’ เลือกแบบไหนคุ้มค่า? เปรียบเทียบรถน้ำมัน – EV – ไฮบริด

รถใหม่กับ ‘ค่าใช้จ่าย’ เลือกแบบไหนคุ้มค่า? เปรียบเทียบรถน้ำมัน – EV – ไฮบริด

ไขข้อข้องใจเลือกซื้อรถใหม่แบบไหนคุ่มค่ากว่าถ้าจะใช้งานเป็นระยะเวลา 10 ปีเปรียบเทียบรถใช้น้ำมัน รถไฮบริด และรถไฟฟ้า SCB EIC ระบุต้นทุนระยะยาวรถไฟฟ้าคุ้มค่าเพราะค่าดูแลรักษาบวกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นเงิน 3.6 แสนบาท แต่มีปัญหาเรื่องราคารถมือ2 EV ตกรวดเร็ว

KEY

POINTS

  • การตัดสินใจซื้อรถใหม่มีหลายปัจจัยที่ผู้บริโภคพิจารณาโดยการพิจารณาค่าใช้จ่ายและค่าเชื้อเพลิงถือเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจ
  • SCB EIC วิจัยพบว่าหากซื้อรถใหม่ใช้งานไป 10 ปีรถ BEV มีความคุ้มค่ามากที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 3.86 แสนบาท ส่วนรถICE 4.56 แสนบาท และไฮบริด 4.26 แสนบาท
  • อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเรื่องค่าเสื่อมมูลค่ารถ ICE ค่าเสื่อมลดช้าสุด ขณะที่รถ BEV มูลค่าลดลงมากที่สุดเมื่อใช้งานไปครบ 1 ปี 
  • ส่วนค่าเบี้ยประกันนั้นในส่วนของ BEV ยังมีความผันผวน อาจปรับขึ้นหรือลงได้ตามภาวะตลาดของผู้ใช้รถ BEV ในอนาคต 

เป็นคำถามลำดับต้นๆที่อยู่ในใจของคนที่จะซื้อรถคันใหม่ว่าซื้อรถประเภทไหนมาใช้งานแล้วคุ้มค่ากว่ากัน โดยนอกจากการพิจารณาในแง่ของค่าใช้จ่ายในเรื่องราคาเชื้อเพลิงที่ต้องจ่ายยังต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายอื่นๆทั้งเรื่องของค่าซ่อมบำรุงและค่าประกันภัยรถยนต์

ข้อมูลที่น่าสนใจจากศูนย์วิจัยฯธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) เปิดเผยในรายงานเรื่อง “ไขข้อสงสัย…จะซื้อรถใหม่ คันไหนยิ่งขับ ยิ่งคุ้ม?” โดยทำข้อมูลเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการมีรถหนึ่งคันและใช้งานไป 10 ปีระหว่างรถเครื่องยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ที่ใช้น้ำมัน รถยนต์เครื่องยนต์ไฮบริด (Hybrid) และรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 

โดยข้อมูลระบุรถยนต์ไฟฟ้า (BEV)  เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่าในระยะยาวได้ดีที่สุด แม้ว่าเบี้ยประกันจะแพงกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ๆ ราว 50% ตลอดอายุการใช้งาน โดยข้อมูลน่าสนใจจาก SCB EIC ระบุว่าหากผู้บริโภคซื้อรถใหม่ ณ ปี 2024 และมีการใช้งานไปอีก 10 ปีต้นทุนรวมของการถือครองรถยนต์ประเภทต่างๆ ได้แก่

อันดับ 1 คือ รถเครื่องยนต์สันดาป (ICE)  ค่าใช้จ่ายจะสูงที่สุดหรือราว 4.6 แสนบาท

อันดับ 2 คือ รถยนต์ไฮบริด (Hybrid)  มีรายจ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 4.2 แสนบาท

และอันดับ 3 รถไฟฟ้า (BEV) ตอบโจทย์ความประหยัดในระยะยาวได้ดีที่สุด โดยช่วง 3 ปีแรกจะมีต้นทุนการใช้งานที่สูง แต่ตลอดอายุการใช้งานจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเพียง 3.86 แสนบาทตลอดอายุการใช้งาน

รถใหม่กับ ‘ค่าใช้จ่าย’ เลือกแบบไหนคุ้มค่า? เปรียบเทียบรถน้ำมัน – EV – ไฮบริด

เปิดเงื่อนไขการคำนวณ

โดยเงื่อนไขในการคำนวณของ SCBEIC ได้แก่ อายุการใช้งานรถ 10 ปี (เริ่มต้น ณ ปี 2024 )

  • ระยะเวลาการขับขี่ 1 หมื่นกิโลเมตรต่อปี
  • มูลค่ารถยนต์ใหม่ 7 แสนบาท
  • เบี้ยประกันภัยแบ่งเป็น

 1)รถสันดาป และไฮบริด 1.77 หมื่นบาทเท่ากันทุกปีตลอดอายุการใช้งาน

2)รถEV ค่าประกัน 3.1 หมื่นบาทต่อปี

  • ราคาพลังงาน

     1)แก๊สโซฮฮอล์91 38.08 บาทต่อลิตร (ปรับขึ้นปีละ1%)

     2)ค่าชาร์จรถไฟฟ้า 6 บาท/kWh

มูลค่าคงเหลือจากค่าเสื่อมรถสันดาปดีสุด

อย่างไรก็ตามมูลค่าคงเหลือของรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง BEV และ Hybrid มีแนวโน้มลดลงมากถึงเกือบ 50% จากราคาขาย เมื่อใช้งานไปเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น มูลค่าซากของรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อใช้งานไปเพียง 1 ปี จะเสื่อมค่าลงมากถึง 50%

ขณะที่รถสันดาปสามารถรักษามูลค่าในปีแรกไว้ได้ถึง 67% ของราคารถใหม่ โดยปัจจัยที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเสื่อมค่าลงมากนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาขายที่ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลของภาคธุรกิจต่ออุปสงค์ของ EV ในตลาดรถยนต์มือ 2

ค่าใช้จ่ายผันแปรจากการใช้งานรถยนต์นั่ง      

ค่าใช้จ่ายผันแปรจากการใช้งานรถ BEV ต่ำกว่ารถสันดาป และ Hybrid ค่อนข้างมาก แต่ต้องจับตาต้นทุนแฝงจากปัญหาความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จสาธารณะ การใช้งานรถ BEV ก่อให้เกิดรายจ่ายจากการชาร์จไฟฟ้าเพียง 62 บาท/วัน ต่ำกว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของรถสันดาปกว่าเท่าตัว เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายการเช็กระยะซึ่งก็ถูกกว่ารถประเภทอื่น ๆ ถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาต้นทุนแฝงอื่น ๆ เช่น ค่าเสียโอกาสจากการรอชาร์จไฟเนื่องจากสถานีชาร์จสาธารณะมีไม่เพียงพอ รวมถึงค่าเดินทางและระยะเวลาซ่อมที่ยาวนาน เพราะอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศมีจำกัด รวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุงและอู่ซ่อมรายย่อยก็มีน้อยและกระจายตัวไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

แนวโน้มเบี้ยประกันรถสันดาป Hybrid และ BEV

ส่วนเบี้ยประกันรถ BEV แพงกว่ารถสันดาป และ Hybrid กว่าเท่าตัว เนื่องจากราคาขายที่ถูกปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงระบบนิเวศน์ EV ในประเทศไทยยังพัฒนาได้ไม่เท่าทันกับความต้องการของตลาด ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เบี้ยประกันรถ BEV ผันผวนและยังอยู่ในระดับสูง คือ การคำนวณทุนประกันทำได้ยาก เพราะ

  1. เหล่าผู้ผลิตมีการปรับลดราคาขายลงอย่างต่อเนื่อง
  2. ราคาอะไหล่ต่อชิ้นค่อนข้างแพง
  3. อู่ซ่อมรายย่อยมีน้อย
  4. บริษัทรับทำประกันภัย EV ก็มีจำกัดด้วยเหตุนี้ SCB EIC ประเมินว่า เบี้ยประกันรถ EV จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้จะทยอยปรับลดลงบ้างตามทิศทางการพัฒนาระบบนิเวศน์ EV ของไทยที่กำลังมีความพร้อมยิ่งขึ้น ทั้งจากการลงทุนขยายอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศ รวมถึงการเร่งพัฒนาธุรกิจอู่ซ่อมและฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์

โดยสรุป SCB EIC มองว่า รถ BEV เป็นตัวเลือกการขับขี่ที่ตอบโจทย์ความประหยัดในระยะยาวได้ดีที่สุด แม้ว่าการใช้งานช่วง 2 – 3 ปีแรกจะมีต้นทุนการถือครองที่สูงกว่ารถประเภทอื่น ๆ เนื่องจากภาระเบี้ยประกันและค่าเสื่อมที่อยู่ในระดับสูง การเปรียบเทียบความคุ้มค่าของการถือครองรถยนต์นั่งตลอดอายุการใช้งาน 10 ปี ชี้ว่าภาระรายจ่ายของรถสันดาปนั้นสูงที่สุด

ขณะที่รถไฮบริดจะมีต้นทุนการใช้งานต่ำมากในระยะสั้น จากนั้นจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามภาระค่าเชื้อเพลิง สำหรับรถ BEV ถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่าในระยะยาว เพราะค่าใช้จ่ายการชาร์จไฟฟ้าและค่าซ่อมบำรุงที่อยู่ในระดับต่ำสามารถชดเชยภาระเบี้ยประกันที่โดยรวมยังแพงกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ๆ