14 ค่ายรถ EV นำเข้า 1.8 แสนคัน หวั่นผลิตชดเชยทำสต๊อกล้น แนะเร่งส่งออก

14 ค่ายรถ EV นำเข้า 1.8 แสนคัน หวั่นผลิตชดเชยทำสต๊อกล้น แนะเร่งส่งออก

“สรรพสามิต” เผย 14 ค่ายรถอีวี ต้องผลิตรถชดเชยนำเข้าปี 65-68 รวม 1.8 แสนคัน ตามมาตรการอีวี 3.0 “บีวายดี” นำโด่ง 7.7 หมื่นคัน “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย” ชี้ ต้องหาตลาดรองรับ หวั่นตลาดไทย “โอเวอร์ซัพพลาย” เหตุหนี้ครัวเรือนสูง สินเชื่อตีกลับสูง “ส.อ.ท.” เผย 5 เดือน ผลิต 5,000 คัน

รัฐบาลประกาศมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV3.0) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ส่งผลกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเต็มที่ และทำให้ยอดจดทะเบียนรถใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 2565-2566 โดยมาตรการดังกล่าวจะอุดหนุนเงินซื้อ EV ครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ ลดราคา 70,000-150,000 บาทต่อคัน เป็นการอุดหนุนผ่านค่ายรถ 

ทั้งนี้ ค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการต้องทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิต โดยมีเงื่อนไขสำคัญกำหนดให้ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอัตราส่วน 1:1 ทำให้การนำเข้ารถ 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 1 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายรถจีนที่เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้ประมาณการยอดผลิตชดเชย/ผลิตในประเทศตามมาตรการสนับสนุน EV3.0 มีค่ายรถเข้าร่วมทั้งหมด 14 บริษัท แบ่งเป็นการนำเข้าปี 2565-2566 รวม 84,195 คัน , นำเข้าปี 2567 รวม 66,448 คัน และนำเข้าปี 2568 รวม 34,386 คัน รวมมีการนำเข้าทั้งหมด 185,029 คัน

สำหรับประมาณการนำเข้าในปี 2565-2568 ใน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 

1.บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (BYD) 77,274 คัน

2. บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด 40,837 คัน

3.บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด 27,186 คัน

4.บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 24,225 คัน

5.บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด (แบรนด์วู่หลิง และ Volt) 8,493 คัน

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าปี 2565-2566 ที่ครบกำหนดค่ายรถต้องเริ่มผลิตชดเชยในปี 2567 ประกอบด้วย 

1.บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (BYD) 38,637 คัน 

2.บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด 16,337 คัน 

3.บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด 16,191 คัน

4.บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 9,645 คัน

5.บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด (แบรนด์วู่หลิง และ Volt) 1,597 คัน

ผลิตไม่ครบต้องจ่ายค่าปรับ 2 เท่า

รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า ตามมาตรการ EV 3.0 กรมสรรพสามิตจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการไปแล้ว 40,000 คัน และยังมีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับการชดเชยอีก 35,000 คัน ซึ่งกรมสรรพสามิตเตรียมเสนอของบประมาณ 7,000 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้

สำหรับในปี 2567 ที่ค่ายรถ EV จะเริ่มเดินสายการผลิตชดเชยในอัตรา 1 ต่อ 1 และในปี 2568 อัตรา 1 ต่อ 1.5 คาดว่าจะมีการผลิตรถ EV ในประเทศถึง 100,000 คัน ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะต้องวางแผนการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าในประเทศทั้งหมด ภายในปี 2568 หากทำไม่ได้ตามสัญญาจะมีโทษปรับเรียกคืนเงินอุดหนุนทั้งหมด และต้องจ่ายเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินคืนภาษี

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ค่ายรถอีวีที่เซ็นสัญญาจะเริ่มเปิดโรงงานเพื่อผลิตชดเชย ซึ่งคาดว่าจะมียอดการผลิตรถอีวีในประเทศปีนี้ 8-9 หมื่นคัน และจะเริ่มเป็นปีแรกที่ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศได้ และเป็นการสะท้อนการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของไทยเช่นเดียวกับที่เคยผลิตรถยนต์สันดาป

ห่วงกำลังซื้อยังไม่ฟื้น “ดีมานด์ทรุด”

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า หากค่ายรถจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ EV3.0 ระดับ 1.8 แสนคัน ในปี 2568 ต้องยอมรับว่าปัจจุบันกำลังซื้อยังก็ไม่ดี ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องหาตลาดส่งออกมารองรับ เพราะด้วยขนาดของตลาดที่รองรับจะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนกว่าคัน จึงคิดว่าดีมานด์อาจจะไม่พอ 

รวมทั้งหากรวมค่ายรถยนต์อีวีทั้ง 7 ราย และรวมคาร์ปาซิตี้ทั้งหมดก็จะอยู่ที่ระดับ 4.9 แสนคัน แต่ถ้าต้องผลิตเต็มกำลังก็จะเกิน 60% ของดีมานด์ตลาดในประเทศไทยแล้ว คงต้องหาตลาดส่งออกช่วย

14 ค่ายรถ EV นำเข้า 1.8 แสนคัน หวั่นผลิตชดเชยทำสต๊อกล้น แนะเร่งส่งออก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เอง หากจะต้องเร่งผลิตตามเป้านโยบายผลิตคืนในสัดส่วน 1:1 ถึงแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะยังไม่ได้เอื้ออำนวยสักเท่าไร แต่ก็จะยังคงสัดส่วนให้ได้ก่อน หรืออาจะไม่ใช่กับทุกค่าย โดยบางค่ายอาจจะใช้วิธีการนำเข้ามาก่อน และเมื่อต้องขึ้นไลน์ผลิตก็จะต้องเคลียร์สต๊อกของเดิมออกไปก่อน และหาวิธีทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

หวั่น “โอเวอร์ซัพพลาย” แนะหาตลาดส่งออก

“หากผู้ผลิตต้องผลิตให้ได้ตามเป้า แต่สถานการณ์เศรษฐกิจหากไม่ดีขึ้น จะเกิดโอเวอร์ซัพพลายจากสต๊อกที่มีอยู่แล้วหรือไม่ และเมื่อรวมสต๊อกเดิมกับที่ต้องผลิตใหม่ตามที่ตกลงก็จะยิ่งทำให้สต๊อกสูงกว่าที่ปกติ” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า ยอมรับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นซัพพลายที่มาในช่วงจังหวะไม่ดี และสถาบันทางการเงินก็ค่อนข้างจะรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ด้วย แต่ไม่ใช่ว่าตลาดจะไม่มีดีมานด์ แต่อยู่ที่ข้อจำกัดของการปล่อยสินเชื่อมากกว่า ดังนั้น ในเรื่องของการต้องผลิตชดเชยยังไม่มีใครมีคำตอบแม้แต่ในวงคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ก็ตาม ซึ่งคงต้องหารือในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เนื่องจากเพิ่งจะมีต้นเหตุของปัญหาให้ได้เห็น

รับซัพพลายอีวีอยู่ในระดับไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าตอนนี้ซัพพลายไม่น่าจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมในการที่จะมาเริ่มผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งไปผูกกับเศรษฐกิจมหภาคของประเทศด้วยว่าในเมื่อ consumption เปลี่ยน ทั้งเรื่องของ GDP เรื่องของอัตราหนี้เสีย และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขนาดนี้ จะทำอย่างไรกับการปล่อยสินเชื่อ เพราะทุกที่จะต้องรัดกุมเพราะความกังวลในเรื่องของหนี้เสีย แต่จะทำอย่างไรให้ขับเคลื่อนไปทั้งองคาพยพซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย

นอกจากนี้ เวลาที่ค่ายรถที่ต้องผลิตลักษณะ OEM จะต้องมีการวางแผนในการผลิต อาทิ เรื่องของการแข่งขันของแต่ละโรงงาน ซึ่งมีโรงงานหลากหลายแห่ง การเลือกผลิตแต่ละที่จะอิงกับต้นทุนการผลิตของโรงงานนั้นๆ ด้วย เท่ากับว่าการลดกำลังการผลิต ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้น จะสูญเสียในเรื่องของต้นทุนการผลิตต่อคัน เวลาเทียบกับโรงงานอื่นก็อาจจะเสียความได้เปรียบในตรงนั้นไป ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตเกี่ยวกับฟิวเจอร์โมเดลว่าหากไม่สามารถผลิตได้เต็มคาปาซิตี้ที่แพลนไว้ โอกาสที่จะผลิตรุ่นอื่นๆ ต่อก็คงจะยากมากขึ้นด้วย

“ถือเป็นจุดที่ต้องมองในอนาคตด้วยว่า การที่จะทำให้ตลาดทั้งหมดเดินหน้าไปได้จะทำอย่างไร เพราะหากผลิตได้ก็ต้องมีตลาดทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกก็จะสามารถแพลนแผนการผลิตต่อไปได้” นายกฤษฎา กล่าว

ส.อ.ท.เผย 5 เดือนผลิต EV 5 พันคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนพ.ค. มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 8,166 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 14.50% และในช่วง 5 เดือน มียานยนต์ BEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 43,921 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.64%

ขณะที่อีวีป้ายแดงประเภท HEV มีจดทะเบียนใหม่ในเดือนพ.ค. จำนวน 10,789 คัน เพิ่มขึ้น 34.64% และสะสม 5 เดือนมีทั้งสิ้น 59,317 คัน เพิ่มขึ้น 53.48% ส่วนอีวีป้ายแดงประเภท PHEV มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 704 คัน ลดลง 31.32% และยอดสะสมช่วง 5 เดือนมีจำนวน 4,053 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.01%

ทั้งนี้ หากดูจากตัวเลข 5 เดือนแรกของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 5,000 คัน ดังนั้น ส.อ.ท.จะยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากผู้ผลิตที่ลงนามรับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐแบรนด์จีนราว 7 ราย ว่าจะมีความพร้อมในการผลิตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร

ย้ำไทยพร้อมเป็นผู้ผลิต-ส่งออกรถอีวี

“สิ่งสำคัญที่จะทำให้เป้ากำลังผลิตคือ แบตเตอรี่ ซัพพลายเชนต่างๆ ซึ่งในช่วงนี้อาจจะต้องมีการนำเข้า เนื่องจากที่เห็นชัดเชนมีเพียงการตั้งโรงงานของ BYD ที่ตั้งโรงงานผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จะต้องดูผู้ผลิตรายอื่นด้วยว่าจะมีความพร้อมหรือไม่อย่างไร หากพร้อมทั้งซัพพลายเชน และตลาดรองรับก็จะสามารถผลิตได้ถึงตามเป้าหมายของสรรพสามิตได้”

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ยอดรถอีวีที่จดทะเบียนสะสมกว่า 175,316 ถือว่ามีการเติบโต 168% และขณะนี้เริ่มทยอยผลิตในประเทศไทยมากขึ้น ปีนี้ผลิตแล้วกว่า 5 พันคัน และจะเริ่มเพิ่มขึ้นในดือนอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น ประเทศไทยจะยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเพื่อส่งออก รวมทั้งเป็นฐานการผลิตรถอีวีเพื่อส่งออก และจะเติบโตมากกว่าในอดีต ซึ่งปีที่แล้วส่งออกรถยนต์สันดาปภายในกว่า 1.1 ล้านคัน ปีนี้อาจจะส่งออกรถอีวีในไทยด้วย

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์