นิสสันยกระดับธุรกิจ สนมาตรการรัฐ ลงทุนไฮบริด ส่งรถใหม่ 3-5 รุ่น ดันตลาด
เปิดมุมอง โทชิฮิโระ ฟูจิคิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และ นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน ที่เข้ามาบริหารงานในไทยช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมภารกิจใหญ่ที่รออยู่ คือ การฟื้นตลาดในภาวะที่เศรษฐกิจ และตลาดรถยนต์หดตัวต่อเนื่อง
ตลาดรถยนต์ไทยยังอยู่ในช่วงถดถอยอย่างต่อเนื่อง และยังมีกระแสการไหล่บ่าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ทำให้ตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลกระทบกับทั้งผู้ทำตลาดรายเดิม และไม่เว้นแม้แต่รายใหม่ด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนกับผู้ทำตลาดเดิม 2 รายคือ ซูบารุ และซูซูกิ ที่ตัดสินใจจะยุติการผลิตรถยนต์ไทย แต่จะยังคงเดินหน้าทำตลาดต่อไป
ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็ถูกจับตาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบากนี้
โทชิฮิโระ ฟูจิคิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และ นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเข้ามาดูแลตลาดในไทยช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เริ่มต้นการสนทนากับสื่อมวลชนไทยด้วยการระบุว่า นิสสัน เป็นแบรนด์ที่อยู่ในทไทยมามากกว่า 70 ปี ดังนั้นยืนยันได้ว่าไทยเป็นตลาดสำคัญที่นิสสันจะยืนอยู่ต่อไป และจะต้องฝ่าฟันช่วงเวลาที่ลำบากไปให้ได้
และในสถานการณ์เช่นนี้ นิสสันจะต้องเร่งมิือในหลายๆ เรื่อง โดยวางแนวทางหลักๆ ไว้ 4 แนวทางคือ 1.แบรนด์ 2.ผลิตภัณฑ์ 3. เครือข่าย และ 4 ความพึงพอใจลูกค้า
โดยเรื่องของแบรนด์เชื่อว่าการอยู่ในตลาดมานาน บวกกับนโยบายหลังจากนี้ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี หรือว่าการเพิ่มความพึงพอใจลูกค้าจะทำให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ในด้านผลิตภัณฑ์ แม้ขณะนี้นิสสันมีตัวเลือกไม่หลากหลายนัก แต่จากนี้ไปวางแผนเปิดตัวรถใหม่ 3-5 รุ่น มีทั้งรถประกอบในประเทศและรถยนต์นำเข้า หรือ CBU เริ่มต้นปี 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ใหม่จะมีตัวเลือกที่หลากหลาย รวมถึงเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น อีวี ไฮบริด หรือ ไฮบริด อย่าง อี-เพาเวอร์ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับนิสสัน
ทั้งนี้ในส่วนของ อีวี มุมมองของผู้บริหารนิสสัน เห็นว่าปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรง และมีราคาที่ดึงดูดใจ แต่นิสสันมองว่าท้ายที่สุดการทำตลาดที่ดีไม่ใช่เรื่องของการขาย แต่จะอยู่ที่การดูแลลูกค้า ซึ่งนิสสันเชื่อว่า การอยู่ในตลาดในเมืองไทยมายาวนานจะดูแลตลาดได้ดี
ส่วนการจะเน้นตลาดมากน้อยแค่ไหนต้องดูในภาพรวม ซึ่งแม้ว่าภาครัฐเองจะมีความพยายามที่จะผลักดันให้ได้ 30% ภายในปี 2573 แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ถึงอัตราเร่งของตลาด ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการวิเคราาะห์ ดูการเปลี่ยนแปลงให้ละเอียด
ส่วนเรื่องของพลังงานไฮบริดที่ล่าสุดภาครัฐมีแนวคิดส่งเสริมการลงทุนในประเทศด้วยการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 6% ช่วงปี 2571-2575 และเงื่อนไขอื่นๆ นิสสันก็สนใจในโครงการนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่าตลาดให้ความสนใจ และนิสสันก็มีเทคโนโลยีที่โดดเด่นทางด้านนี้
ส่วนรายละเอียดการลงทุนยังไม่สามารถระบุได้ขณะนี้ แต่อย่างน้อยก็จะเกินเกณฑ์ขั้นต่ำของรัฐ
ทั้งนี้สำหรับเงื่อนไขของรัฐกำหนดเงินลงทุนใหม่ 2 ระดับ คือ 3,000 ล้านบาท และ 5,000 ล้านบาท โดยจะแตกต่างกันที่ข้อกำหนดจำนวนชิ้นส่วนาสำคัญที่จะต้องใช้ภายในประเทศ
ฟูจิคิ กล่าวว่าในด้านเครือข่ายการจำหน่ายปัจจุบันมี 141 สาขา ซึ่งแม้จะลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 161 สาขา แม้จะลดลงไป แต่ยืนยันว่าดีลเลอร์หลักๆ ยังดำเนินธุรกิจและมีความเชื่อมั่นกับนิสสัน โดยเฉพาะหลังจากการประชุมร่วมกันล่าสุดที่ได้แจงทิศทางธุรกิจ รวมถึงการนำตัวแทนทั้งหมดไปดูงานในญี่ปุ่น รวมถึงได้เยี่ยมชมและหารือกับตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่น เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ รวมถึงการทดลองขับ
ขณะที่เฉลิมวัฒน์ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานคณะที่ปรึกษาผู้จำหน่าย ระบุว่าการเดินทางไปญี่ปุ่นทำให้ได้เห็นว่านิสสันยังมีอะไรดีๆ มากมาย และการได้หารือกับตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นก็ได้ข้อมูลหลายอย่างที่จะนำมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะความภาคภูมิใจที่มีต่อแบรนด์ ขณะที่การหารือกับนิสสัน มอเตอร์ประเทศไทยที่เผยแผนธุรกิจให้เห็นก็สร้างความมั่นใจให้ผู้จำหน่ายมากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่เห็นคือ ปัญหาบางอย่างไม่ได้เกิดจากสินค้าแต่อยู่ที่การจัดการ
ส่วนสถานการณ์ของตัวแทนจำหน่ายแม้จะอยู่ในช่วงที่ยอดขายลดลงตามตลาดรวมรถยนต์ และบางรายอาจอยู่ในภาวะขาดทุน แต่ยืนยันว่าการขาดทุนหลักๆ มาจากการใช้จ่ายด้านบุคลากรที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการลดคน แต่ต้องการเก็บบุคลากรที่มีศักยภาพเอาไว้เพื่อรอการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม ส่วนการดำเนินธุรกิจก็อยู่ในช่วงการประคองตัวโดยเฉพาะด้านการบริการหลังการขาย
“เรายังมีความก้าวหน้าในการหารือกับบริษัทแม่ เช่น การหาแนวทางทาง ลีน (lean) หรือการทำงานกันแบบใกล้ชิดมากขึ้นต่างจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าอนาคตมีอะไรบ้าง”
ฟูจิคิ กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวแทนจำหน่ายจะเป็นการยกระดับแบรนด์และเพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้า และนอกจากนี้นิสสันก็ยังเตรียมแผนอื่นๆ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจยิ่งขึ้นไปอีก เช่น การดูแลลูกค้าตลอดวงจร จากแต่เดิมส่วนใหญ่ของธุรกิจรถนต์ที่มักจะแยกกัน เช่น ช่วงการซื้อที่มีพนักงานขายดูแล จากนั้นเมื่อนำรถเข้ารับบริการก็จะมีพนักงานด้านบริการดูแล ซึ่งอาจะแตกต่างกันตามรอบการเข้าใช้บริการ
แต่นิสสันกำลังวางแผนให้ลูกค้า 1 คน ได้รับการดูแลต่อเนื่องตั้งแต่การซื้อขายรถ การเข้ารับบริการ และอื่นๆ ตลอดอายุของรถ ซึ่งคาดจะเริ่มต้นดำเนินงานได้เร็วๆ นี้
ส่วนเป้าหมายด้านธุรกิจของนิสสัน จะกำหนดไว้แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กำหนดสูงแต่กำหนดในสิ่งที่เป็นไปได้ ก่อนที่จะต่อยอดความสำเร็จขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น การขาย ปัจจุบันนิสสันมีส่วนแบ่งตลาด 2.2% ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มให้ได้ 3% หลังจากนี้