‘บิ๊กยานยนต์’ มองไทยแกร่งในอาเซียน มุ่งเป้า ‘ฮับ’ ผลิตอีวีโลก

‘บิ๊กยานยนต์’ มองไทยแกร่งในอาเซียน  มุ่งเป้า ‘ฮับ’ ผลิตอีวีโลก

งาน ASEAN ECONOMIC OUTLOOK 2025 THE RISE OF ASEAN A RENEWING OPPORTUNITY จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” มีประเด็นมากมายเกี่ยวกับอาเซียน และมุมมองจาก “ซีอีโอ” หรือบรรดาแม่ทัพองค์กรธุรกิจชั้นนำฉายฉากทัศน์เศรษฐกิจ ธุรกิจในอนาคต

“ASEAN Automotive for Future” เป็นอีกหนึ่งในหัวข้อเสวนาที่ได้รับความสนใจ เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์โลก รวมถึงอาเซียน กำลังเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี ตอบรับกระแสรักษ์โลก สร้างความยั่งยืน อีกด้าน “ไทย” ถือเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ และมีศักยภาพใหญ่ท็อป 10 ของโลก สร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล

สำหรับทัศนะ “บิ๊กยานยนต์” ต่ออนาคตอุตสาหกรรมรถยนต์ในอาเซียนมีหลากหลาย

1 ปี ไทยเปิด 7 โรงงานผลิตรถยนต์

สุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ฉายภาพว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยยังมีมุมบวกผลักดันการเติบโต โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี รถยนต์ไฮบริด ขณะที่ “ปิกอัพ ” อาจอยู่ในมุมลบ จากตัวแปรผู้บริโภคชาวไทยแบก “หนี้ครัวเรือนสูงเกินกว่า 90%” ทำให้สถาบันการเงินเข้มปล่อยกู้ เพราะกลัวเกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล)

‘บิ๊กยานยนต์’ มองไทยแกร่งในอาเซียน  มุ่งเป้า ‘ฮับ’ ผลิตอีวีโลก สุโรจน์ แสงสนิท 

“ถ้าประเทศไทยไม่เผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาพรวมตลาดรถยนต์ยังไปได้ดี”

อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยคึกคักมาก เพราะใน 1 ปี มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แล้ว 7 โรงงาน ซึ่งไม่เคยเห็นการเปิดมากขนาดนี้ แต่เพื่อต่อจิ๊กซอว์การเป็น “ฐานผลิตแทนประเทศจีนเพื่อส่งออกไปยุโรป” ซึ่งปัจจุบันจีนถือเป็นเบอร์ 1 ของโลก ในการผลิตรถยนต์อีวีป้อนตลาดชาติตะวันตก

“มาตรการกีดกันการค้าของยุโรปกับรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศจีนเพื่อส่งออก ถือเป็นวิกฤติของจีน ซึ่งเป็นโอกาสของไทย แต่ทำอย่างไรจะให้ส้มหล่นในประเทศไทย”

ฉางอานไม่สนสงครามราคา เดินหน้าอาร์แอนด์ดี

โจว ซิง รองประธาน บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่า ตลาดรถยนต์ทั่วโลกยังขยายตัวได้ คาดการณ์มูลค่าเชิงปริมาณที่ 90 ล้านคัน และยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่จะมี 17 ล้านคัน ซึ่ง “จีน” กำลังขี่คลื่นดังกล่าว ส่วนการเติบโตของการครอบครองรถยนต์พลังงานใหม่คาดอยู่ที่ 20%

‘บิ๊กยานยนต์’ มองไทยแกร่งในอาเซียน  มุ่งเป้า ‘ฮับ’ ผลิตอีวีโลก โจว ซิง 

มองตลาดในประเทศไทย ฉางอาน ตั้งเป้ายอดขายรถจำนวน 2 หมื่นคัน และหมากรบในไทยฯ นั้น บริษัทจะเดินหน้าสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมแกร่ง ส่วนตลาดประเทศจีน การซื้อรถยนต์ การกู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์อยู่ในทิศทางชะลอตัว ทำให้บริษัทต้องปรับเป้าหมายยอดขายใหม่

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในไทยมีการแข่งขันราคาสูง แต่ “ฉางอาน” จะไม่ร่วมสงครามราคา แต่มุ่งซัพพลายรถคุณภาพ บริการดี เจาะผู้บริโภคซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของบริษัท

รถยนต์เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว การขับขี่อัจฉริยะ

หวัง เฮ่าวหย่ง รองประธาน บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทรนด์ตลาดรถยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์พลังงานใหม่ พลังงานสะอาดสีเขียวมากขึ้น รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การขับขี่อัจฉริยะ ใช้บิ๊กดาต้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจ ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศจีน แต่สร้างแรงกระเพื่อมทั่วโลก

‘บิ๊กยานยนต์’ มองไทยแกร่งในอาเซียน  มุ่งเป้า ‘ฮับ’ ผลิตอีวีโลก

หวัง เฮ่าวหย่ง

ทั้งนี้ บริษัทมีการสร้างฐานผลิตในประเทศไทย และยังมั่นใจในศักยภาพตลาด ตลาดใหญ่ แม้สถานการณ์ทั่วโลกมีความยากลำบากทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่บริษัทจะเดินหน้ามอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ขับขี่ยานยนต์ ให้เกิดการยอมรับกับรถยนต์ของบริษัทมากขึ้น

“รถยนต์พลังงานใหม่กำลังติดตลาดและเป็นที่ยอมรับ แต่ด้วยเป็นเรื่องใหม่ จึงมีโจทย์ท้าทายคือระบบชาร์จ สถานีชาร์จทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่ยังมีน้อย เราจึงพยายามนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จมาสู่ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมรถยนต์ และสร้างประสบการณ์ขับขี่ให้ผู้บริโภคดียิ่งขึ้น”

ราคา เป็นตามกลไกตลาด

วิศิษฎ์ พิทยะวิริยากุล ประธานบริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด หรือบีวายดี ให้มุมมองว่า ตลาดรถยนต์อีวีของไทยเพิ่งเริ่มเปลี่ยนผ่านและ “บูม” เมื่อปี 2565 เพราะก่อนหน้านั้นรถยนต์อีวีมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น แต่ปี 2566 ขยายตัวอย่างรวดเร็วและครองสัดส่วนได้ถึง 10%

ทว่า ปี 2567 ตลาดรถยนต์อีวี “ร้อนแรงน้อยลง” แต่ยังเติบโต 11% ซึ่งไม่ได้ขยายตัวแบบ “เท่าทวีคูณ” เหมือนที่ผ่านมา

‘บิ๊กยานยนต์’ มองไทยแกร่งในอาเซียน  มุ่งเป้า ‘ฮับ’ ผลิตอีวีโลก

วิศิษฎ์ พิทยะวิริยากุล

แม้รถยนต์อีวีจะได้รับความนิยมค่อนข้างมาก และรัฐบาลมีนโยบาย 30@30 เพื่อส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์อีวีให้มีสัดส่วน 30% ในปี 2030 หรือ 2573 แต่คาดการณ์รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงอยู่ และมีสัดส่วน 30% ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เมื่อรถยนต์อีวีรุกหนักตลาดไทย และมีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบผ่านทางแคมเปญการตลาดที่แตกต่างกันไป และในส่วนของ  “บีวายดี” เดินกลยุทธ์ดังกล่าวชัดเจน โดยใช้นโยบาย “ราคาเดียว” หรือ One Price มีโปรโมชั่นออกมาให้ผู้บริโภครับรู้ และได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดี เทคโนโลยีตอบโจทย์ ด้วย “ราคาย่อมเยา”

“กลยุทธ์ราคา ไม่อยากให้มองเป็นสงครามราคา แต่เป็นกลไกราคาที่บริษัทปรับกลยุทธ์ หรือจัดโปรโมชั่นให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าดี เทคโนโลยีสูง ราคาย่อมเยา และการประกาศราคา เราเปิดเผยให้ลูกค้ารู้ เห็นชัดเจน เพื่อได้รับประโยชน์”

‘บิ๊กยานยนต์’ มองไทยแกร่งในอาเซียน  มุ่งเป้า ‘ฮับ’ ผลิตอีวีโลก

นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินงานของบีวายดี ยังจะเน้นทางเลือกที่หลากหลายและเหมาะสมกับลูกค้า โดยมีเป้าหมายหลักคือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีระบบนิเวศที่เพียบพร้อม เช่น ตัวรถ ระบบการชาร์จ เป็นต้น