สรรพสามิต เตรียมเปิดช่องลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตามข้อเสนอค่ายรถ แจงพร้อมหารือ หาแนวทางดีต่อทุกฝ่าย ขณะ “นิสสัน” ประเมินตลาดรถยนต์ปีนี้ติดลบ 30-35% หวังเห็นการฟื้นฟูตลาด ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้ามาใช้ หวั่นผันผวนส่งผลกระทบในอนาคต
สถานการณ์อุตสาหรรมยานยนต์ ที่หดตัวแรง จากผลกระทบของโควิด-19 โดยยอดขาย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.2563) อยู่ที่ 230,173 คัน ลดลงถึง 34.17% หรือตกต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ยื่นข้อเสนอขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล จากผลกระทบโควิด เพื่อผลักดันยอดขาย ใน 3 แนวทางคือ การนำรถเก่าแลกรถใหม่ ขอให้รัฐบาลส่งเสริมเป็นมูลค่า 1 แสนบาทต่อคัน การเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และยูโรป 6 จากเดิมจะบังคับใช้ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ และการขอให้รัฐลดภาษีสรรพสามิตรรถยนต์ทุกประเภท 50% ไปจนถึงสิ้นปี 2563
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จะหารือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ ถึงข้อเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลง 50 % จากอัตราปัจจุบัน ทั้งนี้ ในความเห็นของตนเองนั้น ณ วันนี้ ถ้าราคาขายรถยนต์ไม่ลดลง คนก็คงไม่ซื้อ และเมื่อคนไม่ซื้อรถยนต์ รายได้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ก็คงไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตใหม่และจอดไว้เฉยๆก็ย่อมมีความเสื่อมไป ดังนั้นในหลักการหากจะให้ได้ประโยชน์ทุกฝ่ายคือ ผู้ซื้อรถยนต์ก็ได้ของที่ถูกลง บริษัทผู้ผลิตก็สามารถขายรถยนต์ได้ ทำให้มีเงินหมุนเวียน ส่วนภาครัฐก็ยังสามารถได้รับเม็ดเงินภาษี แม้จะลดลงบ้างก็ตาม
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอในการหั่นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลงมานั้น จำเป็นต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียก่อน และในท้ายที่สุด จะต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันรายได้จากภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิต อยู่ที่ราวแสนล้านบาท
สำหรับการจ่ายภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั้น กรณีรถยนต์ที่ยังอยู่ในโรงงานผลิต หรืออยู่ในเขตปลอดอากรในประเทศ จะยังไม่มีภาระภาษี จนกว่ารถยนต์นั้นจะนำออกจากโรงงงาน หรือเขตปลอดอากรแล้ว เช่น รถยนต์ที่อยู่ตามโชว์รูมรถยนต์ ถือว่า มีภาระภาษีไปแล้ว ซึ่งหากจะให้รัฐคืนภาษีที่เอกชนชำระไปแล้วนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรมสรรพสามิตแต่เป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง
ส่วนข้อเสนอในเรื่องการให้เงินอุดหนุนผู้นำรถเก่าอายุ 20 ปีขึ้นไป มาแลกซื้อรถใหม่โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้ 1 แสนบาทนั้น และเรื่องของการเลื่อนการใช้มาตรฐานยูโร 5 ออกไปนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม
นายราเมช นาราสิมัน ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์อย่างรุนแรง โดยคาดว่าภาพรวมตลาดปีนี้จะมียอดขายประมาณ 6-6.1 แสนคัน ลดลงประมาณ 30-35% จากปีที่แล้ว ซึ่งมียอดขาย 1.06 ล้านคัน
ส่วนการที่หลายฝ่ายมีแนวคิดในการช่วยเหลือฟื้นฟูตลาดรถยนต์นั้น จะเป็นมาตรการใดก็ได้ทั้งสิ้น เพราะเข้าใจว่าทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งสิ้น ดังนั้นภาครัฐจะรู้ว่าจะต้องจัดการอะไรก่อน-หลังในการแก้ไขสถานการณ์ ดังนั้นสำหรับรถยนต์ จะมีมาตรการอะไรก็ได้ทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการเห็นคือ การฟื้นฟูที่อยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์จริง และเป็นฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ต้องการเห็นแนวทางการดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้เงินล่วงหน้า เพราะจะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความลำบาก เช่น ช่วงที่มีความต้องการซื้อมาก ก็ต้องเร่งผลิต แต่พอหมดแรงจูงใจตลาดก็จะตกลงอย่างรุนแรง ส่งผลต่อทั้งตลาด และภาคการผลิต ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี
นายราเมซกล่าวว่า แม้ว่าตลาดจะหดตัวอย่างรุนแรง แต่ธุรกิจก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อรอการฟื้นฟูของตลาดที่กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง และในส่วนของนิสสัน ก็ยังยืนยันในแผนธุรกิจต่างๆ รวมถึงความสำคัญของฐานธุรกิจในไทย ในมุมมองของบริษัทแม่ ประเทศญี่ปุ่น ในนโยบาย นิสสัน โกลบอล ก็ยังคงเห็นไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต หรือ ฮับ ต่อไป โดยแนวทางการคงแผนธุรกิจของนิสสัน มีทั้งการเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การลงทุนต่างๆ ที่เดิมกำหนดไว้คิดเป็นมูลค่าร่วมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ก่อนหน้านี้ ซึ่งช่วยว่าจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ทั้งนี้นิสสันประกาศแผนเพิ่มการลงทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลา 3 ปี ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การยกระดับสายการผลิต รองรับทั้งตลาดในประเทศ และขยายการส่งออก
ในส่วนของการผลิต ปัจจุบัน มีโรงงานผลิตในไทย 2 แห่ง และช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดในวงกว้าง นิสสันประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว อย่างไรก็ตามล่าสุดโรงงานที่ 1 กลับมาเปิดสายการผลิตเกือบ 100% ขณะที่โรงงานที่ 2 จะสรุปแผนการกลับมาผลิตอีกครั้งในปลายสัปดาห์นี้ โดยนอกจากจะดูความพร้อมของตลาดแล้ว ยังต้องดูความพร้อมของผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ด้วย
ในด้านผลิตภัณฑ์ นิสสันจะเสริมตลาดอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสม ซึ่งล่าสุดคือการเปิดตัว นิสสัน คิกส์ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี “อี-เพาเวอร์” เป็นครั้งแรกของนิสสัน และเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด
อย่างไรก็ตาม นิสสัน เข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นคงไม่สามารถตั้งเป้าหมายการขายที่ชัดเจน หรือ คาดหวังว่าจะผลักดันยอดขายให้เติบโต แต่สิ่งที่มั่นใจคือ การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของนิสสันให้มากขึ้น
“ก่อนหน้านี้ เราร่วมมือกับบริษัทวิจัย ศึกษาผู้บริโภคเกี่ยวกับรถพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ซึ่งมีผู้ตอบคำถาม 40-45% ที่ตอบว่า ถ้าจะซื้อรถคันใหม่จะซื้ออีวี แต่ว่าล่าสุดเรามีผลสำรวจผู้บริโภค 2,000 คน ซึ่ง 9 ใน 10 บอกว่า สนใจใน อี-เพาเวอร์”