'นาวารา' ... น่าลุย
การปรับเปลี่ยน ไมเนอร์เชนจ์ ของนิสสัน “นาวารา” ครั้งนี้ถือว่าเป็นการไมเนอร์เชนจ์ ที่เห็นน้ำเห็นเนื้อ เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ซึ่งคนที่รอก็บอกว่าค่อยคุ้มค่ากับการคอยมาหลายปี ส่วนสมรรถนะจะเป็นเช่นไร ต้องมาลองดูกัน
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ รูปร่างหน้าตา ที่บึกบึน สปอร์ตขึ้น อุปกรณ์มาตรฐานบางอย่าง และการเพิ่มรุ่นย่อยเข้ามาอย่าง Pro-4X และ Pro-2X
หน้าตาที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบ
ทั้งนี้สำหรับ นาวารา โฉมนี้ นิสสันบอกว่าเป็นก้าวสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Nissan NEXT มาพร้อมเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์ในรุ่นเดียวกันด้วย “นิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี” หรือเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย
อัชวานี กุปตา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ นิสสัน มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าว ว่านาวารา ใหม่ เพิ่มสมรรถนะให้ดีขึ้นยิ่งขึ้นทั้งการเดินทางบนถนนปกติหรือเส้นทางออฟโรด เพิ่มเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้รถปิกอัพ ผลิตที่เมืองไทย และเปิดตัวในไทยเป็นแห่งแรก
การออกแบบ นิสสัน ระบุว่าใช้แนวคิด "Unbreakable" เน้นรูปลักษณ์ภายนอกที่ ดุดัน แต่ก็ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าตลาดปิกอัพที่ต้องการรถที่ดูสวยงาม ฟังก์ชั่นครบ
“เคน ลี” ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบอาวุโส สำหรับรถปิกอัพและเอสยูวีแบบเฟรม บริษัท นิสสัน มอเตอร์กล่าวว่า นาวารา มีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ จากโครงสร้างรถที่ยกสูง กระจังหน้า แบบ ‘Interlock’ และไฟหน้ารูปตัว C ทรงสี่เหลี่ยม
กระจังหน้ารปรับปรุงให้โดดเด่น จดจำได้ง่าย แบบ “Interlock” ที่เป็นเอกลักษณ์การออกแบบรถกระบะของนิสสัน ซึ่งนำมาใช้ใน นิสสัน ไททัน ปิกอัพไซส์ใหญ่ที่จำหน่ายในอเมริกาเป็นครั้งแรก ซึ่งจะให้ความรู้สึกของพละกำลัง
ด้านหน้าดูหนาผสานกับโครงตะแกรงที่เชื่อมต่อกัน ติดตั้งชื่อรุ่น NAVARA บนกระจังหน้าและด้านท้าย และหากสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่าตัวอักษร NAVARA นั้นปรับใหม่ ให้ดูแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ไฟหน้าแบบ LED Projectors Quad-eyed รูปตัว C 4 ดวง ไฟท้ายแอลอีดีแบบชิ้นเดียว เพิ่มรายละเอียดด้วยกรอบโครเมียม
และเพื่อความสะดวกสบายในการในการใช้งาน นิสสันเพิ่มสเต็ปด้านท้ายรถ หรือทำกันชนท้ายแบบ 2 ชั้น รองรับการขึ้นลงได้ง่ายขึ้น รวมถึงบันไดด้านข้างก็เช่นกัน และนิสสันบอกว่าบันไดด้านข้างนี้ยังออกแบบให้มีประสิทธิภาพตามหลักอากาศพลศาสตร์ ลดเสียงลม และเสริมในแง่ของอัตราการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงอีกด้วย
ฝาปิดท้ายกระบะแบบผ่อนแรง ไม่ต้องออกแรงฮึดกันอีกต่อไปใช้แค่ 2 นิ้ว ก็ยกขึ้นได้
ภายในห้องโดยสาร เพิ่มความเงียบด้วยกระจกแบบ Noise-reducing acoustic glass ลดเสียงรบกวนจากภายนอก แผงหน้าจอกลางแสดงข้อมูล และความบันเทิงระบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว เพิ่มความสะดวกให้ผู้ขับขี่ หน้าจอสีแสดงผลสามมิติแบบ TFT ความละเอียดสูง ขนาด 7 นิ้ว เบาะหลังนิสสันบอกว่าปรับเพิ่มความนุ่มสบาย และออกแบบให้เข้ากับสรีระของผู้โดยสาร มีที่พักแขนตรงกลางพร้อมที่วางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง
และสำหรับ PRO-4X มีความแตกต่างออกไป เช่น กระจังหน้าโทนดำ ติดตั้งแร็คหลังล้ออัลลอย 17 นิ้ว พร้อมยางแบบ All Terrain แอคเซนท์ สีส้ม-แดง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากของสีแมกมาจากภูเขาไฟ ตัดกับกระจังหน้าและล้อสีดำเข้ม โลโก้นิสสัน สีส้ม-แดง กับพื้นหลังสีดำ ตกแต่งด้วยโทนสีส้ม – แดง ภายในห้องโดยสาร
ส่วนเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย เช่น ระบบเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชน (Intelligent Forward Collision Warning - IFCW) ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัจฉริยะ (Intelligent Emergency Braking – IEB) ระบบเตือนคนขับที่ไม่พร้อมขับรถ (Intelligent Driver Alertness) ซึ่งจะแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่หยุดพัก เมื่อตรวจพบ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขับขี่ หรือการหักเลี้ยว ที่จะทำงานร่วมกับ ระบบเทคโนโลยีเตือนเมื่อรถออกนอกเส้นทาง (Lane Departure Warning) ที่จะเตือนผู้ขับขี่หากรถเคลื่อนออกนอกเลนโดยไม่มีสัญญาณไฟเลี้ยวกำกับ ขณะที่ควบคุมรถเมื่อออกนอกช่องทาง (Intelligent Lane Intervention) จะนำรถยนต์กลับไปที่กึ่งกลางของเลน ระบบเตือนจุดอับสายตา (Blind Spot Warning)
กล้องมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor – IAVM) ที่ทำงานควบคู่กับ เทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection – MOD) ซึ่งจะใช้กล้อง 4 ตัวเพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่มองเห็นภาพวัตถุโดยรอบ
นาวารายังมีจอมอนิเตอร์ระบบ Off-Road Meter ที่ช่วยให้เห็นอุปสรรครอบคันขณะขับขี่ในโหมดการขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4LO ระบบตรวจจับวัตถุด้านหลังขณะถอย (Rear Cross Traffic Alert – RCTA)
ด้านความบันเทิง มาพร้อมกับระบบอินโฟเทนเมนท์ ของ NissanConnect เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับรถ ติดตั้งพอร์ต USB Type C ตรงคอนโซลกลาง
ที่ปัดน้ำฝนแบบตรวจจับปริมาณน้ำฝนเพื่อปรับความเร็วในการปัด ระบบล็อคประตูอัตโนมัติเมื่อความเร็วเกิน 25 กม./ชม. กระจกด้านข้างที่พับอัตโนมัติเมื่อล็อครถ เป็นต้น
แต่ทั้งนี้บางรุ่นออปชั่นพวกนี้ต่างกันนะครับ รุ่นล่างๆ บางรุ่นไม่มี แต่วันนี้ผมพูดถึงตัวที่ลองขับกัน ก็คือ Pro-4X ราคา 1,149 ล้านบาท และ ดับเบิลแค็บ วีแอล ราคา 1,129 ล้านบาท
การลองขับครั้งนี้เป็นการลองสั้นๆ แต่จำลองพื้นที่ว่างๆ ย่านเจริญนครเป็นสถานีทดสอบสมรรถนะ ซึ่งก็ทำให้รับรู้ถึงอารมณ์และสมรรถนถของรถแบบได้น้ำได้เนื้อเช่นกัน
ทั้ง 2 รุ่น ใช้เครื่องยนต์กับเกียร์เหมือนกัน คือ ดีเซล 2.3 ลิตร ทวินเทอร์โบ ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องใหม่ของนาวารา แต่เคยใช้ใน เทอร์รา มาแล้ว ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด ขับเคลื่อน 4 ล้อ
สนามออกแบบเพื่อดูความสามารถในการใช้งานออฟโรด เริ่มจากเนินเอียง ทั้งเอียงธรรมดา และเอียงพร้อมโค้ง ซึ่งมีบางจังหวะที่บางล้อลอยอยู่กลางอากาศ แต่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็พาให้ผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้
สถานีต่อมาเป็นการขึ้นเนินเพร้อมเลี้ยวและลงพร้อมเลี้ยวไปอีกทาง เพื่อดูถึงประโยชน์ของออปชั่นที่เพิ่มเข้ามาคือ กล้องด้านหน้า พร้อมเส้นบอกทิศทางของล้อหน้า ซึ่งเส้นทางแบบนี้เมื่อหน้ารถไต่ขึ้นเนิน เราไม่สามารถมองเห็นเส้นทางด้วยสายตาได้ ในการขับขี่ทั่วไป
วิธีการคือตั้งมีคนลงไปยืนบอกไลน์ให้ แต่เมื่อมีอุปกรณ์ตัวนี้ ผู้ขับก็สามารถดูได้จากมอนิเตอร์ได้เลย เช่นเดียวสถานีปีนเนินเอียงก่อนหน้านี้ก็สามารถดูทิศทางของล้อได้เช่นกัน เพราะมีไม่น้อยเมื่อต้องขับรถในพื้นที่เอียง มักจะมีอาการหลงพวงมาลัย ทำให้โอกาสที่รถจะลื่นไถลหรือเสียหลัก เช่น หากเป็นเนินเอียงที่ด้านขวาของรถอยู่บนเนิน ผู้ขับหลายคนกลัวรถจะไหลตกด้านซ้าย ก็จะพยายามหมุนพวงมาลัยไปทางขวา ซึ่งนั่นยิ่งแย่เข้าใหญ่ เพราะที่จริงแล้วต้องพยายามรักษาล้อให้ตรงไปด้านหน้า
กล้องนี้จะทำงานอัตโนมัติ เมื่อเลือกระบบขับเคลื่อน 4 Lo และขับขี่ที่ความเร็วไม่เกิน 10 กม./ชม.
สถานีที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 4 Lo อีกคือการปีนขึ้นเนินชันประมาณ 40 องศา ซึ่งนอกจากจะดูการตอบสนองของเครื่องยนต์แล้ว กล้องหน้าก็มีบทบาทสำคัญอีกครั้ง เพราะสถานีเมื่อหัวปักขึ้นเนิน ผู้ขับจะไม่เห็นอะไรเลย นอกจากท้องฟ้า และก้อนเมฆ อีกทั้งการที่เส้นทางแคบๆ จำเป็นจะต้องแม่นกับทิศทางล้อ ถ้าไม่อยากร่วงหล่นลงมา
เช่นเดียวกับเมื่อจะลงจากเนินที่ชัน เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อรถเริ่มปักหัวลง จะเป็นช่วงเวลาที่มองไม่เห็นเส้นทาง ดังนั้นระบบกล้องก็ช่วยได้ โดยไม่ต้องมีใครไปยืนบอกทิศทาง
แต่เป้าหมายหลักของสถานีเนินชันนี้ก็คือ ดูการทำงานเของเครื่องยนต์ เกียร์ และระบบขับเคลื่อน ซึ่งการทำงานน่าพอใจ แต่คันเร่งนุ่มๆ รักษารอบให้อยู่ประมาณ 1,500-1,700 รอบ/นาที รถก็ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปแบบนุ่มๆ สบายๆ ทำให้ผู้ขับสบายใจ เพราะไม่มีอาการว่ารถจะปีนไม่ไหว หรือว่าล้อหนึ่งล้อใดลื่น หรือออกแรงหมุนไม่เท่ากัน น่าสนใจมากครับ สำหรับกรใช้งานแบบออฟโรด
ทั้งนี้สำหรับการทำงาน เมื่ออยู่ในโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อ จะมีระบบป้องกันการลื่นไถล (Active Brake Limited Slip Differential System) โดยส่งกำลังและการเบรกล้อระหว่างเพลาหน้าและเพลาหลัง รวมถึงระหว่างล้อซ้ายขวา
นอกจากนี้ก็สถานีที่ทดสอบความสามารถในการใช้งานที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งบ่อมีความลึก 60 ซม. ก็ผ่านไปได้ไม่ยาก
อีกบ่อหนึ่งมีน้ำไม่ลึกมาก แต่ทางลงทางขึ้นมีความชันพอประมาณ บ่อนี้ลงและขึ้นด้วยความเร็วพอควรแบบน้ำแตกกระจาย ไม่ใช่ค่อยๆ หยอดลง เพื่อจะดูว่ามุมประชิดและมุมจากของรถเป็นอย่างไร เหมาะกับการใช้งานออฟโรดแค่ไหน ผลที่ได้คือ ไม่มีกันชนหน้า หรือกันชนหลังไปขุดไปขูดดินแต่อย่างใด ซึ่งประเมินด้วยสายตา และประสบการณ์ในการขับขี่เส้นทางแบบนี้ ผมว่ามุมของปากบ่อก้นบ่อก็พอควร ดังนั้น นาวารา ตัวนี้ น่าจะลุยออฟโรดได้สนุกทีเดียว
ส่วนการดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่ปรับมาใหม่ ก็ทำงานได้ดี ตะลุยผ่านทางที่เป็นก้อนหิน ก็ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี อาการกระแทกกระทั้นที่เคยเจอในตัวเดิม ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนเรื่องความเงียบในห้องโดยสาร เทคโนโลยีช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ หรือความบันเทิง ความสามารถในการขับขี่บนท้องถนน หรืออัตราสิ้นเปลือง รอให้มีรถออกมาลองกัน คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2564
แต่เบื้องต้นจากการจับอารมณ์ต่างๆ ในสนามจำลองนี้ ถือได้ว่านาวาร่าพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะความละเอียดของการทำงานต่างๆ ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ หรือว่าระบบช่วงล่างครับ