ปอร์เช่ พร้อมขาย 'มาคันน์ อีวี' ปี 66

ปอร์เช่ พร้อมขาย 'มาคันน์ อีวี' ปี 66

เตรียมส่ง โปรโตไทป์ "มาคันน์ อีวี" ออกทดสอบบนถนนจริง หลังซุ่มพัฒนา ผ่านรถต้นแบบ ดิจิทัล เสมือนจริง 4 ปี

หลังจากประสบความสำเร็จกับการเปิดตัวรถพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี รุ่นแรกไปแล้ว สำหรับปอร์เช่ กับ “ไทคานน์” ที่ปัจจุบันมีให้ตลาดเลือกถึง 4 รุ่นย่อย ทั้งขับเคลื่อน 4 ล้อ และตัวล่าสุดคือ ขับเคลื่อนล้อหลัง

ล่าสุดที่สตุ๊ทการ์ท ปอร์เช่ ขยับตัวอีกครั้ง กับการพัฒนา เอสยูวี อีวี นั่นคือ มาคันน์ ที่นำออกทดสอบการขับขี่บนท้องถนน หลังจากผ่านการทดสอบเบื้องต้นใน proving grounds ของศูนย์วิจัยและพัฒนา Porsche Development Centre สำนักงานใหญ่ Weissach

ทั้งนี้คอมแพคท์ เอสยูวี "มาคันน์ อีวี" คันนี้ หรือ ที่ปอร์เช่เรียกว่าในขณะนี้ว่า "ออล-อีเลคทริค มาคันน์" ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา มีกำหนดการเปิดตัวในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปี 2566

และที่ผ่านมา รถโปรโตไทป์ ได้ผ่านการทดสอบ เป็นระยะทางมากกว่า 3 ล้านกิโลเมตรทั่วโลก ในสภาวการณ์ที่แตกต่างกัน

ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า รถที่กำลังจะออกไปทดสอบบนถนนจริงครั้งแรก ทำไมถึงผ่านการทดสอบมาแล้วกว่า 3 ล้านกิโลเมตร

คำตอบก็คือ เรื่องของเทคโนโลยีล้วนๆ เพราะเป็นการทดสอบด้วยดิจิทัล ซึ่งปอร์เช่บอกว่าไม่เพียงแต่ช่วยให้ประหยัดเวลาและงบประมาณเท่านั้น แต่ยังประหยัดทรัพยากรต่างๆ อีกด้วย ส่งผลดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทดแทนการใช้รถยนต์จริง

และข้อมูลที่ได้ ก็นำมาสู่การพัฒนา โปรโตไทป์ ที่เตรียมนำออกไปทดสอบบนถนนจริง คันนี้

162090009217

โดยทีมงานวิศวกรใช้รถต้นแบบดิจิทัลเสมือนจริง ออกแบบโดยระบบคอมพิวเตอร์จำลองคุณสมบัติเหมือนจริง ระบบการทำงาน และขุมพลังขับเคลื่อนของรถด้วยความแม่นยำสูง

โดยรถยนต์ต้นแบบดิจิทัลเสมือนจริงกว่า 20 คัน สร้างขึ้นสำหรับการทดสอบและพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ระบบอากาศพลศาสตร์ ระบบการจัดการพลังงาน ระบบเสียงอะคูสติก

“เรารวบรวมข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ จากหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และใช้ประโยชน์ในการสร้างรถยนต์เสมือนจริงที่สมบูรณ์แบบด้วยรายละเอียดสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้” แอนเดรียส ฮูเปอร์ ผู้จัดการส่วนงาน ดิจิทัล โปรโตไทป์ส กล่าว

รถต้นแบบเสมือนจริง เริ่มงานกับ บรรดาวิศวกรด้านอากาศพลศาสตร์ เป็นกลุ่มแรก เพื่อทดสอบกระแสอากาศที่ไหลผ่านตัวรถ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

โทมัส วีแกนด์ ผู้อำนวยการส่วนงานพัฒนาระบบอากาศพลศาสตร์ กล่าวว่า แรงต้านทางอากาศพลศาสตร์ที่ต่ำ คือหัวใจสำคัญของการเพิ่มพิสัยระยะเดินทางสูงสุดให้แก่ อีวี ดังนั้น ออล-อีเลคทริค มาคันน์ ที่ได้รับการปรับแต่งกระแสอากาศเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมหาศาล

ทั้งนี้วิศวกรใช้แบบจำลองตัวรถในการปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนรับอากาศระบายความร้อน ซึ่งการคำนวณนอกจากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งอุปกรณ์แล้ว ก็ยังมีผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงอีกด้วย

162090009319

แน่นอน อุณหภูมิก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก สำหรับ อีวี เพราะ ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ถูกส่งต่อไปยังมอเตอร์ล้วน ต้องการระบบระบายความร้อนและการควบคุมอุณหภูมิที่แยกจากกันอย่างอิสระ

ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ต่างจากรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อเครื่อยนต์ทำงาน ความร้อนจะอยู่ระหว่าง 90-120 องศาเซลเซียส

แต่สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้า ระบบส่งกำลังแบบอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ ต้องการอุณหภูมิระว่าง 20 และ 70 องศาเซลเซียส

ปอร์เช่ระบุอีกว่า รถต้นแบบเสมือนจริง ยังช่วยให้พัฒนาในเรื่องอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ขั้นตอนการพัฒนาหน้าจอแสดงผลและแนวคิดด้านระบบปฏิบัติการแบบใหม่ ที่จะใช้สำหรับ  มาคันน์ รุ่นต่อไป การใช้เครื่องมือที่เรียกว่า seat box จำลองสภาพแวดล้อมของผู้ขับขี่ ทำให้ใข้าถึงหน้าจอแสดงผล การทำงานของระบบปฏิบัติการ และผลกระทบต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงในขณะเดินทางผ่านมุมมองของผู้ขับขี่

162090009297

สำหรับข้อมูลทางเทคนิค เบื้องต้น ปอร์เช่่ ระบุว่า ออล-อีเลคทริค มาคันน์ จะไม่ต่างไปจาก ไทคาน ที่มาพร้อมเทคโนโลยีไฟฟ้าแรงเคลื่อนสูง 800-โวลต์

อย่างไรก็ตาม กำหนดการเปิดตัวในปี 2566 นั้น มาคันน์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ พลังงาน ไฟฟ้าทั้งหมด แต่ยังคงมีรุ่นที่ติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในให้เลือก

“ในทวีปยุโรป ความต้องการรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในภูมิภาคอื่นของโลกทิศทางการเปลี่ยนแปลงนั้นแตกต่างไป จึงเป็นเหตุผลที่เรายังคงวางจำหน่ายปอร์เช่ มาคันน์  ที่ได้รับการติดตั้งเครื่องยนต์แบบดั้งเดิมในรุ่นต่อไปเช่นกัน” นั่นคือเหตุผลที่อธิบายโดย ไมเคิล สไตเนอร์