น้ำมันแพง ตัวเร่ง-ราคา ตัวรั้ง อีวี จับตารัฐหนุนปรับโครงสร้างราคา
ช่วงนี้ดูเหมือนว่าความสนใจรถ ไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือ อีวี จะเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันแพง และเพิ่มต่อเนื่อง และยังคาดการณ์กันว่ามีโอกาสได้เห็นหลัก 100 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล ในปีหน้า แต่อุปสรรคหลักคือ ราคาที่ยังสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามหาทางจัดการกับปัญหานี้
ราคาน้ำมันแพง ส่งผลให้คนหันมาสนใจพลังงานทางเลือกมากขึ้น ซึ่งพลังงานทางเลือกสำหรับรถยนต์นั้นมีอยู่หลายอย่าง แต่สิ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเห็นจะเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ซึ่งก็ยังแยกออกเป็นหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า 100% หรือ อีวี (EV), ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือว่า เซลล์เชื้อเลิง (fuel cell)
แต่สิ่งที่สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์และใช้งานในวงกว้างวันนี้ ก็คงจะเป็น ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด รวมถึงอีวี
ในเมืองไทย ปัจจุบัน รถทั้ง 3 กลุ่ม มีผู้ทำตลาดหลายยี่ห้อ โดยไฮบริด มีรถจากญี่ปุ่นทำตลาดหลายรุ่น ขณะที่ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด มีรถจากทั้งยุโรปและจีน ส่วน อีวี มีทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ยุโรป รวมถึงรถที่ผลิตในประเทศ
โดยรถในกลุ่ม ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจในเทคโนโลยี รับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะ จากการเข้ามาช่วยทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีจุดเด่นคือ แรงบิดสูง และมาได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอรอบเหมือนกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน ขณะที่ราคาก็ไม่ต่างจากรถที่ใช้เครื่องยนต์นัก เพราะภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้งาน ทำให้ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีสรรพสามิตที่ต่ำลง
แต่ขณะเดียวกัน ในกลุ่มของ อีวี ที่แม้วันนี้จะมีรถทำตลาดมากกว่า 10 รุ่น แต่ตลาดยังมีขนาดที่เล็กมาก โดย กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ระบุว่า ยอดจดทะเบียนสะสมตั้้งแต่เริ่มต้นจำหน่ายถึงเดือน มิ.ย. 2564 มีจำนวน 3,112 คันเท่านั้น
อย่างไรก็ตามมีความพยายามที่จะยกระดับตลาด อีวี ในอนาคต ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กำหนดเป้าหมายผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือ ZEV 100% ภายในปี 2578
โดยขั้นตอนก่อนถึง 100% คือ ภายในปี 2573 จะต้องผลิต 50% ของการผลิตรถทุกชนิด และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในปี 2568 1.05 ล้านคัน หรือ 30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ
ซึ่งขั้นแรก 30% ในปี 2568 ถือว่าระยะเวลาเหลืออีกไม่นาน ดังนั้นการจะไปถึงจุดดังกล่าวได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องมีมาตรการสนับสนุนด้วยเช่นกัน
ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่ากระทรวงการคลัง เตรียมอนุมัติมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเริ่มใช้ในต้นปี 2565 โดยในมาตรการนั้น จะทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ
และมุมมองภาคธุรกิจในเรื่องนี้ มีความเห็นจากฝั่ง เอ็มจี มองว่า ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการ
ทั้งนี้่สำหรับ เอ็มจี ปัจจุบัน เป็นผู้นำตลาด อีวี ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% โดยเอ็มจี เริ่มต้นทำตลาด อีวี ด้วยรุ่น แซดเอส อีวี ก่อนจะตามด้วย อีพี ในปัจจุบัน
พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดดการ กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของอีวีคือ ต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้ราคาสูงกว่า รถที่ใช้เครื่องยนต์มาก เช่น แซดเอส อีวี หากเทียบกับ แซดเอส จะพบว่าราคาต่างกันเกือบ 50% ดังนั้นตลาดจึงอยู่ในกลุ่มคนที่สนใจ และมีความพร้อมจริงๆ
ดังนั้นหากต้องการผลักดันให้อีวีขยายตัวได้รวดเร็ว สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การทำให้ช่องว่างราคาไม่ห่างกันมาก โดยเชื่อว่าหากไม่เกิน 10-20% จะอยู่ในระดับที่ผู้บริโภครับได้
แต่ทั้งนี้การที่จะทำให้ช่องว่างราคาลดลงได้ มองว่ารัฐอาจจะต้องสนับสนุนราคาโดยตรง เพราะการใช้เครื่องมืออื่นๆ เห็นว่าจะไม่เห็นความต่างนัก เช่น การลดภาษีสรรพสามิตอีวี เนื่องจากปัจจุบัน อีวี เสียภาษีในอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว
และอีกสิ่งหนึ่งคือ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะจุดชาร์จเพื่อให้การใช้งานอีวีมีความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน นำโดยภาครัฐ และร่วมด้วยภาคเอกชน รวมถึงผู้ทำตลาดอีวี อย่างเช่น เอ็มจี ที่มีเป้าหมายติดตั้งให้ได้รวม 600 แห่งภายในปีนี้
ทั้งหมดถือเป็นความท้าทาย และหากพิจารณาแนวทางของคลังที่ระบุว่าจะทำให้ราคาถูกลงอย่างมีนัย ก็น่าจะสอดคล้องกับมุมมองของเอ็มจี ที่เห็นว่าโครงสร้างราคา คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการผลักดัน อีวี ให้เติบโต และยิ่งมีตัวเร่งอย่างราคานำ้มัน ก็น่าจะทำให้ผู้ท่ี่สนใจ อีวี ได้ลุ้นกันสนุกยิ่งขึ้น