จุดเริ่มต้นส่งเสริม EV อย่าซ้ำรอย อีโคคาร์
ขณะที่ไทยกำลังผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มมีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวจากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่ หากการคัดค้านนี้ทำให้การผลักดันนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าช้าออกไป 2-3 ปี เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับอีโคคาร์ ย่อมทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไม่น้อย
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในอาเซียน โดยที่ผ่านมามีการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย” ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมาที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ทำให้เป็นฐานการผลิตหลักของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชีย และทำให้รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน ควบคู่กับการเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอันดับ 1 ต่อเนื่องมาตลอด ยกเว้นในปี 2562 ที่ถูกประเทศจีนแซง
โปรดักส์แชมเปี้ยนของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยคือ รถปิกอัพ และต่อมาสามารถสร้างรถโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ขึ้นมาคือ รถยนต์ประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ ที่รัฐบาลประกาศส่งเสริมการลงทุนในปี 2550 โดยกำหนดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร เพื่อให้เป็นรถยนต์ที่ช่วยลดการใช้น้ำมันและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งผลักดันบนผลศึกษาในขณะนั้นว่าถึงจะมีโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ขยายเพิ่มมากขึ้น แต่จะไม่ทำให้จำนวนรถยนต์ลดลง
การผลักดันอีโคคาร์ในช่วงแรกไม่ได้ราบรื่น เมื่อถูกบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยคัดค้านการส่งเสริมการลงทุนรถอีโคคาร์ โดยต้องการให้รัฐบาลไทยขณะนั้นผลักดันรถยนต์ประเภทไฮบริด ซึ่งลดใช้น้ำมันและลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เช่นกัน และทำให้โครงการโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ของประเทศไทยถูกยื้ออยู่นานจากค่ายรถดังกล่าวและบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของประเทศไทยที่ผลิตป้อนให้กับค่ายรถ
แต่ท้ายที่สุด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจึงประกาศนโยบายนี้ออกมาได้แม้จะล่าช้าไปหลายปี
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่หมุดหมายใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อทิศทางของโลกเดินไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดการเร่งตัวขึ้นจากทั้งความรับผิดชอบต่ำสังคมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ที่มีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยกำหนดนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษ (ZEV) เพื่อผลิตยานยนต์ประเภทนี้อย่างน้อย 30% ของกำลังการผลิตรถยนต์รวมภายในปี 2030 และนโยบายนี้ถูกกำหนดไว้ในแผนพลังงานชาติ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13
ในขณะที่ประเทศกำลังผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มปรากฏการแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวจากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่
ถ้าการคัดค้านดังกล่าวทำให้การผลักดันนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าช้าออกไป 2-3 ปี เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับอีโคคาร์ ย่อมทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการก้าวให้ทันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีไทยจำนวนมาก จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ดีเพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้ได้