ดูแลรถ หลังเดินทางไกลปีใหม่ ยืดอายุ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน
ผ่านพ้น ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เรียบร้อยแล้ว กลับเข้าสู่โหมดทำงาน สู้กับโควิด-19 กันต่อไป ซึ่งในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา หลายคนใช้รถมากกว่าปกติ ทั้งใช้แบบทั่วไป และใช้งานหนัก ซึ่งควรจะต้องตรวจสอบดูแลรถกันบ้าง เพื่อยืดอายุ และการใช้รถที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
หลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ หลายคนอาจจะไม่มีเวลาดูแลรถ เพราะต้องเข้าสู่โหมดการทำงานกันทันที ดังนั้นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ก็หาเวลาตรวจสอบกันบ้าง
สำหรับคนที่ใช้งานแบบทั่วไป ก็ไม่ต้องทำอะไรมากนัก แต่ดูความผิดปกติ แต่ถ้าใช้งานหนัก ซึ่งคำว่าใช้งานหนัก หมายถึง ต้องเดินทางด้วยสภาพการจราจรที่ติดขัดนานๆ หรือต้องขับขี้นทางชันนานๆ
หรือทั้งขึ้นทางชันพร้อมกับจราจรติดขัด ก็จะยิ่งเป็นการทำงานหนักมากขึ้น เครื่องยนต์จะมีความร้อนสะสมมากกว่าปกติ
ซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์ รถทำงานหนัก ก็ควรจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่อง ตรวจสอบน้ำในระบบหล่อเย็น รวมถึงตรวจสอบของเหลวอื่นๆ เช่น น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ ตรวจสอบเบรก จานเบรก ว่ายังมีความหนาเพียงพอ ตรวจดูว่ามีรอยสึกที่ผิดปกติ เป็นคลื่นเป็นร่อง หรือว่ามีรอยไหม้หรือไม่ หากมีก็ให้ทำการแก้ไข
ขณะที่ผู้ที่ใช้รถปกติ แม้ว่าจะต้องเดินทางไกลหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตร พวกน้ำมันเครื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน รอเปลี่ยนตามรอบตามระยะก็เพียงพอ
แต่เรื่องของเหลวต่างๆ หรือเบรก ก็ควรต้องตรวจสอบเช่นกัน
แต่จริงๆ แล้ว ก็ไม่ต้องซีเรียสมาก หากว่าไม่พอสิ่งผิดปกติอะไร ซึ่งสิ่งผิดปกติ ก็เกิดจากการสังเกตของเราเอง ที่อยู่กับรถนานๆ ระยะทางไกลๆ ผ่านประสาทสัมผัส ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น
ถ้าหากว่าช่วงการใช้งาน ได้ยินเสียงผิดปกติ มีกลิ่นแปลกๆ หรือมองเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น สัญญาณเตือนต่างๆ ที่หน้าปัด ก็ค่อยๆ ไล่ตรวจสอบไปว่ามันเป็นความผิดปกในส่วนไหน
หากไม่สามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้ อย่างน้อยก็ยังเป็นข้อมูลในการสื่อสารกับช่างที่ศูนย์บริการ หรือ อู่ ที่ไว้ใจได้
นอกจากนั้นก็ยังสังเกตอาการผิดปกติที่รับรู้ได้จากการขับขี่ เช่น น้ำหนักการเบรก ปกติ หรือ ต้องเหยียบมากขึ้น ระยะเบรกไกลกว่าเดิม หรือไม่ เมื่อเบรกแล้วรถมีการทรงตัวปกติ หรือมีอาการวอกแวก แฉลบซ้าย แฉลบขวา หรือ มีน้ำหนักมาดึงพวงมาลัย เป็นต้น
หรือว่าช่วงการขับขี่ รถมีอาการกินซ้าย กินขวา พวงมาลัยสั่น
ส่วนการตรวจสอบอื่นๆ ที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นการใช้งานปกติ หรืองานหนัก ก็คือ สภาพของรถทั้งภายนอกภายใน
เริ่มจากเดินดูรอบๆ รถ ว่ามีร่องรอยเสียหายตรงไหนหรือไม่ เพราะรถเยอะๆ คนเยอะๆ ไปจอดที่ไหนอาจถูกเบียดโดยไม่รู้ตัว หรือ คนเดินผ่านแล้วของแข็งมาขูดมีขีด ไม่ว่าจะเป็นหัวเข็มขัด หรือ สิ่งของที่ติดไม้ติดมือมา
หรือแม้แต่ความเสียหายขณะขับขี่บนท้องถนน ที่อาจมีกรวด หิน กระเด็นมาโดนรถ จนบุบ ถลอก ซึ่งหากทิ้งไว้ อาจะเกิดความเสียหายจากความชื้นที่ผ่านเข้าไปถึงชั้นโลหะได้ จะได้รีบแก้ไขป้องกัน หาสีมาแต้มเสีย
และก็อย่าลืมล้าง ทำความสะอาด กำจัดฝุ่นหรือสิ่งอื่นๆ ที่อาจทำความเสียหายให้กับสี และตัวถังได้
จากนั้นตรวจสอบยางว่ามีร่องรอยความเสียหายหรือไม่ มีวัสดุแปลกปลอมทิ่มตำหรือไม่ ถ้ามีก็จัดการไปปะซ่อม โดยยังไม่ต้องรีบดึงออก เพราะลมจะรั่วออกได้ ให้ขับไปจนถึงร้านปะยางก่อน
แต่ถ้าหากเป็นการทิ่มตำ หรือมีรอยบาด หรือ ยางบวม ในบริเวณแก้มยาง ไม่ควรปะ แต่ควรเปลี่ยน เพราะแก้มยางเป็นส่วนที่อ่อนแอที่สุด แถมยังเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักมากอีกด้วย
และก็ดูด้วยว่ามีวัสดุ เช่น ก้อนหิน ก้อนกรวดติดค้างในร่องดอกยางหรือไม่ ถ้ามีก็ให้แกะออก เพราะหากปล่อยไว้ น้ำหนักที่กดลงเรื่อยๆ จาการใช้งาน ก็จะทำให้ยางเสียหายได้เช่นกัน
การตรวจดูยางพยายามดูให้รอบทั้งเส้น ทั้งด้านนอกและด้านใน ด้วยการขยับรถสักสองสามครั้ง เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งของยาง ให้เราเห็นได้ทั้งเส้น
และก็อย่าลืมตรวจเช็คลมยางด้วย
จากนั้นก็มาดูภายใน กำจัดพวกเศษอาหาร เศษขนมนมเนย ออกไป เพราะหากหลงเหลือจะเกิดการหมักหมมของเชื้อโรค และกลิ่นได้ และหากระหว่างเดินทางมีน้ำหกใส่ ก็อย่าลืมไล่ความชื้นออกให้หมด และหากมีเวลาก็นำรถมาจอดกลางแดด เปิดประตูหรือหน้าต่างทิ้งไว้สักพักๆ ใหญ่ๆ ก็จะช่วยกำจัดเชื้อโรค ความชื้น และกลิ่นอับได้
เป็นเรื่องที่ทำไม่ยาก แค่ให้เวลาสักนิด ก็จะทำให้รถอยู่กับเราไปได้อีกนาน และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยในการขับขี่ครับ