เมอร์เซเดส-เบนซ์ GLC 220 d 4MATIC Coupe คันเดียวจบ
เมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลซี เอสยูวี ไซส์กลางๆ มีขนาดที่กำลังน่าใช้งาน และในเวอร์ชั่น ตัวถังคูเป้ ให้อารมณ์สปอร์ตมากขึ้น และการได้ลองใช้งานยาวๆ อยู่กับรถวันหนึ่งนานๆ กับ GLC 220 d 4MATIC Coupe ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น ว่าน่าใช้ไม่น่าใช้อย่างไร
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศอย่างชัดเจนที่เยอรมนีเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เต็มรูปแบบภายในทศวรรษนี้
และก่อนหน้านั้น คือ ปีนี้ ในทุกเซ็กมเนต์จะต้องมี อีวี เป็นทางเลือก ขณะที่ภายในปี 2568 รถรุ่นใหม่ ย้ำว่ารุ่นใหม่ ทุกรุ่นที่จะผลิตออกมาจะเป็นอีวี เท่านั้น
เมื่อบริษัทแม่ประกาศทิศทางชัดเจน บริษัทลูก รวมถึงเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ก็ขานรับ และพร้อมจะเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพียงแต่ระยะเวลาและรายละเอียดบางอย่างอาจต่างกันบ้างตามความเหมาะสม
ซึ่งล่าสุดคือการเปิดสายประกอบเบตเตอรีสำหรับปลั๊ก-อินไฮบริด-อีวี และปีนี้จะได้เห็นการเปิดตัว และประกอบอีวี รุ่นแรกในไทย คือ “อีคิวเอส” (EQS) ซึ่งเป็นรถที่น่าสนใจทีเดียว จากการได้ลองขับก่อนหน้านี้
เหลือก็แต่รอดูว่า ราคาจะอยู่ที่เท่าไร
และเพื่อทำให้สมบูรณ์แบบก็จะต้องทำให้เกิดความพร้อมของ อีวี อีโค ซิสเทม ซึ่งช่วงนี้ค่ายรถตราดาวมีแผนงานหลายอย่าง รวมถึงการเตรียมร่วมมือครั้งใหญ่กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
และก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ชักชวนผมและเพื่อนกลุ่มเล็กๆ เดินทางไปดูโครงการพลังงานสะอาดของ กฟผ.ที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ และที่สำคัญเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร อุบลราชธานี
เดินทางกันด้วยรถยนต์สามสี่คัน และเกือบทั้งหหมดเกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้า นั่นคือ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไม่ว่าจะเป็น อี-คลาส หรือว่า จีแอลอี
มีแต่คันของผมแหวกแนวหน่อย ไม่ได้เป็นปลั๊ก-อิน อยู่คันเดียว แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยนต์ดีเซล ที่ได้ชื่อว่าประหยัดน่าพอใจ เช่นกัน นั่นคือ GLC 220 d 4MATIC Coupe AMG Dynamic
และการอยู่กับรถนานๆ. ก็ทำให้รับรู้ความรู้สึกอีกอย่างได้ว่า มันเป็นรถที่น่าใช้ครับครับ ระยะทางรวมเกือบ 2,000 กม. ในเส้นทางที่หลากหลาย ทำให้ได้รู้จักกับตัวตนของรถมากขึ้น
อย่างแรกคือเป็นรถที่ขับไม่เหนื่อย แม้ว่าจะต้องทำเวลากันพอควรกับเส้นทางที่ไกลไม่น้อย เช่น ออกจากโขงเจียมเกือบๆ 9 โมง ลัดเลาะไปทางรอง ทางชนบทย่านศรีสะเกษ ทำภารกิจที่ศรีขรภูมิ สุรินทร์ พักใหญ่ๆ
ก่อนตัดเข้าถนนหลักสาย 24 แถวๆ อำเภอปราสาท บึ่งกลับมางานที่กรุงเทพฯ ได้ทันเวลา 17.00 น. โดยไม่ลืมแวะทานมื้อกลางวันกลางทาง และฝ่าฟันจราจรบนนถนนมิตรภาพ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปากช่อง ทับกวาง สระบุรี ไล่มาวังน้อย
เป็นการใช้ความเร็วกันยาวๆ เกือบตลอดเส้นทางทุกช่วงที่มีโอกาส
ทั้งหมดก็ต้องยกความดีความชอบให้กับสมรรถนะของเครื่องยนต์โดยเฉพาะแรงบิดที่ช่วยให้เรียกกำลังได้เร็ว จึงไม่เสียเวลารอจังหวะในช่วงที่เร่งแซง หรือการเปลี่ยนช่องทางไปมาที่ต้องเปลี่ยนความเร็วตลอดเวลา
ขณะที่ช่วงล่าง ยางสปอร์ต ขนาด 235/55 R19 ด้านหน้า และ 255/55 R 19 ที่ด้านหลัง และระบบ 4MTIC ทำงานได้ดี จัดการกับทางโค้ง หรือจังหวะเปลี่ยนเลนกะทันหันได้ดี รถโยกเปลี่ยนเลนได้เร็วและมั่นคง ไม่มีอาการเสียการทรงตัวให้จับได้ จังหวะการโยนตัวก็มีน้อย ส่งผลให้การควบคุมพวงมาลัยทำได้ง่ายๆ
และด้วยความเป็นรถเอสยูวี มีความสูงมากขึ้น ทำให้มองเห็นสิ่่งรอบข้างได้โปร่งโล่งมากกว่า มองได้ไกล ช่วยให้เห็นสิ่วแวดล้อมและประเมินสถานการณ์ได้ดี
แต่กระนั้นก็ยังไม่วายที่จะต้องแก้ไขสถานการณ์อยู่ครั้งสองครั้งตลอดการเดินทางไปกลับครับ จากรถที่อยู่ๆ ก็แซงรถคันหน้ามาเลนขวาแบบไม่สนใจว่ารถคันหลังกำลังเข้ามาใกล้ ส่งสัญญาณแตรเตือนไปก็เท่านั้น
การเบรกหนักไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด สิ่งที่ทำคือกดเบรกเล็กน้อย ก่อนโยกรถไปทางซ้าย และโยกกลับขวาเข้าเลนเดิมทันที โดยมีช่องว่างระหว่างรถเลนซ้าย กับคันที่ออกมาเลนขวาแบบไม่ดูตาม้าตาเรือไม่มากนัก
ลักษณะแบบนี้คือเปลี่ยนเลนไปแล้วเปลี่ยนกลับทันที บอกได้ว่าถ้าช่วงล่างไม่ดี พวงมาลับไม่แม่นยำ หรือว่าตัวถังโยกเยก คนขับเหนื่อยแน่นนอนครับ
แต่จีแอลซีคันนี้ ทำได้ดี
ไซส์รถกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป เพิ่มความคล่องตัว นั่งสบาย รูปทรงสปอร์ต ผสมพรีเมียม เครื่องยนต์ตอบสนองได้ดี ช่วงล่าง พวงมาลัย เบรก ทำหน้าที่ได้น่าพอใจ กับความสูงที่มากกว่ารถเก๋ง ช่วยให้ไม่อึดอัดในสภาพจราจรที่หนาแน่นหนาตา ทำให้ GLC คันนี้ เป็นรถที่เหมาะกับการเดินทางไกล อยู่กับรถนานๆ
ได้ทั้งความสบาย และสปอร์ต ในการเดินทาง
หรือจะใช้งานกับครอบครัวย่อมๆ ก็ได้ หรือใช้งานสั้นๆ ในเมือง ในชีวิตประจำวันก็ได้
เรียกว่าคันเดียว จบ ครบทุกความต้องการครับ
ทีนี้มาพูดถึง เขื่อนสิรินธรกันหน่อย
เมื่อเดินทางถึงเขื่อน รถตระกูลปลั๊ก-อิน ก็ไปเสียบชาร์จไฟไม่ให้เสียเที่ยว สวน GLC 220 d ของผม ก็จอดไว้ข้างๆ จากนั้นพวกเราก็ลงแพที่ กฟผ. เช่าจากชาวบ้านที่ทำมาหากินให้บริการนักท่องเที่ยวในเขื่อนซึ่งในภาวะปกติมีราวๆ 120 แพ เพื่อไปดูแผงโซโลร์เซลล์ของจริงที่ติดตั้งบนทุ่นลอย
ซึ่งการเลือกที่นี่ยังมีเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งคือความเข้มของแสงอาทิตย์ในเขื่อนสิรินธรสูง ไม่ได้วัดจากความแสบผิว แต่มาจากเครื่องมือวัด
โดยขณะนี้เริ่มต้นผลิตจ่ายไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำนี้เข้าระบบเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนต.ค. 2564 และทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนสิรินธรเป็นระบบไฮบริด คือการผลิตร่วมกันระหว่างพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์
ข้อดีอย่างหนึ่งของการติดตั้งรูปแบบนี้ คือ นำทำให้ความร้อนของแผงโซลาร์เซลล์จะน้อยกว่าการติดตั้งบนบก 10-15% ขณะทีมันก็ตอบแทนคุณของน้ำด้วยการทำให้การระเหยลดลง 4.6 แสนลูกบาศก์เมตร/ปี
และที่มากไปกว่าการเพิ่มการผลิตไฟแล้ว ก็คือ การช่วยลดมลพิษอย่างก๊าซเรือนกระจกที่ กฟผ. ระบุว่าลดลงได้ 4.7 หมื่นตันต่อปี และที่สำคัญคือ จะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศมากขึ้น
ในอนาคต กฟผ. มีแผนที่จะขยายโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไปยังเขื่อนอื่นๆ เช่น แผนการสร้างที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์
ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อาจะมีอยู่บ้างเป็นธรรมดา เช่น การสะท้อนแสงหรือความร้อน แต่ด้วความที่บริเวณนั้นเป็นที่โล่งจึงไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน
แม้แต่นกที่บินอยู่บนฟ้า ก็ศึกษาแล้วว่าไม่มีผล มันยังบินเหนือทุ่งแผงโซลาร์เซลล์ได้ตามปกติ
เช่นเดียวกับปลา และนิเวศใต้น้ำ จากการออกแบบให้มีช่องห่าง ทำให้แสงดยังคงส่องลงไปในน้ำได้ และปลาก็ยังคงชุกชุมเช่นเดิม เห็นได้จากยอของชาวบ้านที่กระจายอยู่เต็มไปหมดในเขื่อน
ทั้งนี้แม้เมื่อได้ไปเห็น จะรู้สึกถึงความอลังการของทุ่งโซลาร์เซลล์ กลางน้ำ แต่ถ้าเทียบพื้นที่จริงๆ แล้ว มันไม่ถึง 1% ของเขื่อนครับ
ช่วงนี้ ทางกฟผ. เตรียมจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ไปเที่ยวชม รวมถึงสร้างอะไรอีกหลายอย่างริมเขื่อนไว้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินกระจก จุดชมวิว จุดชมพระอาทิตย์ตก
เรียกว่ามาถิ่นอุบลฯ แล้วได้ครบ เช้ามืดไปชมแสงแรกของประเทศที่ผาแต้ม พอแดดร่มลมตกก็พระชมดวงอาทิตย์ตกที่เขื่อนสิรินธร