ส่งเสริมอุตสาหกรรม “อีวี” ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะต้องให้น้ำหนักเมื่อสร้างตลาดและผลิต "อีวี" ในประเทศได้แล้ว คือการผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวีไปพร้อมกัน ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.2565 จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้รถอีวีในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลยอมที่จะออกมาตรการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อให้ราคารถอีวีใกล้เคียงกับรถเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งรถยนต์และรถกระบะที่มีราคาแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับการอุดหนุนคันละไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ที่มีราคาแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับเงินอุดหนุนไม่เกินคันละ 80,000 บาท โดยรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนผ่านค่ายรถ
รวมทั้งภาครัฐยังยอมที่จะลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์และลดภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมแล้วมีทั้งการจ่ายเงินอุดหนุนและการลดภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศใช้ในการสร้างตลาดยานยนต์อีวีในช่วงแรก โดยเฉพาะประเทศที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวมาก และปัจจุบันยังคงจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลจ่ายอุดหนุนจะลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกที่รัฐบาลจีนส่งเสริม
ประเทศไทยถึงเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีจำนวนการผลิตบางปีอยู่ในระดับท็อปเทนของโลก และประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นดีทรอยด์ออฟเอเชีย ซึ่งการที่รัฐบาลผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปทั้งองคาพยพ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็งในหลายกลุ่ม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะมีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศรองรับความต้องการ
อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจึงมีความเข้มแข็ง ซึ่งประกอบด้วยโรงงานประกอบที่เป็นบริษัทต่างชาติ และผู้ผลิตชิ้นส่วนในระดับเทียร์ 2 และเทียร์ 3 โดยในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีไทยที่สามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับจากค่ายรถยนต์ แต่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีชิ้นส่วนลดเหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น ในขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปอยู่ที่ 30,000 ชิ้น ซึ่งทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายต้องหายไปเมื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวีเต็มตัว
สิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะต้องให้น้ำหนักเมื่อสร้างตลาดและผลิตอีวีในประเทศได้แล้ว คือ การผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวีไปพร้อมกัน รวมถึงการผลักดันให้ผู้ผลิตบางกลุ่มก้าวเข้าสู่การผลิตชิ้นส่วนให้อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น อากาศยาน การแพทย์ โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเริ่มมองเห็นอนาคตใน 2 ปี ข้างหน้า ที่การผลิตอีวีในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันอ่างเข้มแข็งเพื่อให้การก้าวสู่ฐานการผลิตอีวีสำคัญของภูมิภาคไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
งานสัมมนา “Fast Track to the Net Zero” วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 – 17.30 น. ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนภายในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/netzero3 เพื่อรับลิงก์ชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-338-3000 กด 1