เปิดกลยุทธ์มาสด้า ลุยมือสอง ศูนย์ซ่อมสี-ตัวถัง ส่วน EV เอาไว้ก่อน
ปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มียอดขาย 3.56 หมื่นคัน ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า แต่ปีนี้ซึ่งมาสด้ามองว่า ตลาดรถยนต์ไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเมื่อบวกกับกลยุทธ์ต่างๆ จะทำให้ยอดขายเติบโต
การที่มาสด้ามองว่าตลาดรถยนต์โดยรวมจะเติบโต แม้จะยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่ชัดเจนก็ตาม รวมถึงยังมีปัจจัยลบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความตึงเครียดในยุโรป ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทที่ผันผวน ความหวาดหวั่นต่อการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาของระบบขนส่ง โลจิสติกส์ทั่วโลก และการขาดแคลนชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน
แต่การที่ประชาชนได้รับวัคซีน การที่รัฐเป้าหมายการปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น
ส่วนเป้าหมายการขยายตัวของมาสด้าไมได้เป็นผลมาจากภาพรวมตลาดรถยนนต์มองว่าจะเติบโตเท่านั้น แต่จะต้องมาจากแนวทางการดำเนินการของบริษัทด้วย
ธีร์ เพิ่มพงษ์พันธ์ รองประธานอาวุโส ระบุว่า การไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว มาสด้าได้ปรับกลยุทธ์การเติบโตแบบยั่งยืน
โดยสิ่งที่มาสด้าจะทำนั้นมีตหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเตรียมบุกตลาดรถมือสองอย่างจริงจัง ด้วยการเปิดตัวธุรกิจใหม่ MAZDA CPO (Certified Pre-Owned) เพื่อนำเสนอรถยนต์ใช้แล้วคุณภาพดีให้กับลูกค้า เป็นช่องทางให้ลูกค้านำรถเก่ามาเทรด-อิน กระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ หรือซื้อเพิ่มเติม ภายใต้กลยุทธ์ Trade Cycle Management
"ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุดจากการตรวจสอบอุปกรณ์และชิ้นส่วนกว่า 100 รายการ ผ่านมาตรฐานและการรับรองจากมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย"
ทั้งนี้ MAZDA CPO ยังจะช่วยยกระดับมูลค่ารถมาสด้ามือสองในตลาด ซึ่งจะทำให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่จะซื้อรถใหม่ป้ายแดงอีกด้วย รวมถึงยังเป็นการช่วยให้ตัวแทนจำหน่ายมีช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
ปัจจุบัน MAZDA CPO เปิดดำเนินการแล้ว 9 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 18 แห่งในปีนี้ 38 แห่ง ภายในปี 2568
ในด้านเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย ปีนี้มีแผนยกระดับ เพื่อรองรับปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จากปัจจุบันมี 139 แห่ง
รวมถึงการปรับฟังก์ชันต่างๆ ให้รองรับการบริการแบบครบวงจร เช่น
การขยายศูนย์ซ่อมตัวถังและสี จากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 54 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 58 แห่ง ซึ่งเป้าหมายหลักยของมาสด้า คือ ต้องการให้ตัวแทนจำหน่ายทุกราย เปิดบริการนี้ แต่แต่ละรายที่มีหลายสาขาไม่จำเป็นต้องเปิดครบทุกสาขา
นอกจากนี้ ช่องการให้บริการตรวจเช็กตามระยะแบบเร่งด่วน ภายใน 60 นาที หรือ Mazda Fast Track ที่เปิดบริการก่อนหน้านี้และได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 34 แห่ง โดยเน้นในศูนย์บริการที่มีประชากรรถยนต์มาสด้าหนาแน่น
และ Mazda Fast Service หรือ Mazda Satellite Service ซึ่งป็นการให้บริการตรวจเช็กตามระยะแบบเร่งด่วนภายใน 30 นาที ก็จะเปิดให้ครบ 3 แห่ง
ธีร์กล่าวว่า ในด้านการตลาด แนวทางหนึ่งที่มาสด้าจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นคือ การตลาดยุคดิจิทัล Use of Digital Platform เพราะเป็นแพลตฟอรฺมที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและกว้าง
โดยเป้าหมายของมาสด้าคือ การทำตลาดแบบ Fan-Based Marketing แบบ One-to-One Communication หรือการให้บริการแบบ 1:1 ซึ่งจะเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้มาก รวมถึงยังสามารถนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากลูกค้ากลับมาใข้เป็นฐานข้อมูลเพื่อพัฒนากลยุทธ์ด้านต่างให้รเกิดประโยชน์สูงสุด
ทางด้านผลิตภัณฑ์แน่นอน จะสร้างความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางเลือกและความพึงพอใจให้กับลูกค้า
ส่วนสิ่งที่หลายคนสนใจในช่วงเวลานี้ คือ การนำพลังงานใหม่ๆ เข้ามาใช้ อย่างเช่นพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี มาสด้ายืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแผนพัฒนาเทคโนโลยีระยะยาว หรือ Sustainable Zoom-Zoom ที่บริษัทแม่ประากศเมื่อปี 2550 และอัปเดตอีกครั้งในปี 2560 เป็น “Sustainable Zoom-Zoom 2030”
เป้าหมายหลักคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ภายใต้กลยุทธ์ Building Block Strategy ด้วยการใช้แนวทาง Multi-solution เพื่อให้นำเสนอรูปแบบพลังงานที่ถูกต้องในสถานการณ์เวลา ตลาด รวมถึงสถานการณ์ด้านพลังงานของแต่ละภูมิภาคที่เหมาะสม
ดังนั้นแนวทาง Building Block Strategy ที่จะทำให้มาสด้าบรรลุวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ การสร้างรากฐานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ตามลำดับเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เกิดการพัฒนารถยนต์ที่ตอบสนองการใช้งานในกรอบเวลาที่เหมาะสม
ซึ่งที่ผ่านมา มาสด้าผ่านการการพัฒนามา 2 เฟส คือ เฟสแรกพัฒนาเทคโนโลยีบนพื้นฐานของรถทั้งคัน ด้วยเทคโนโลยีสกายแอคทีฟ และ เฟส 2 คือการพัฒนาเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังเจเนอเรชั่นใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์ม Skyactiv Scalable Architecture
และในอนาคต เฟส 3 กำลังพัฒนา Skyactiv EV Scalable Architecture
ส่วนความเหมาะสมกับตลาดในเวลานี้ เห็นว่า เครื่องยนต์สันดาปภายในที่พัฒนาขึ้นใหม่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดเชื้อเพลิง จะยังคงเป็นแนวทางที่ลูกค้านิยม และในอนาคตจะก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไป คือ รถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด แต่ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดได้ขณะนี้
แต่ยืนยันว่า xEV จะมาแน่นอน เมื่อถึงเวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสม